3 Min

“การสร้างโอกาส” คือหนทางการฟื้นตัวของ SME Restart ธุรกิจให้กลับมาด้วยแนวคิด “ไคเซน”

3 Min
427 Views
07 Oct 2021

หลังจากโควิด-19 ระบาด ธุรกิจแทบทุกส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะกับ SME ที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่หลังจากเราเรียนรู้การอยู่ร่วมกับโควิด-19 มาร่วมปี และเริ่มปรับตัวเพื่อกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไป สิ่งที่สำคัญหลังจากนี้ก็คงจะเป็นการวางแผนเพื่อธุรกิจในอนาคตว่าควรทำยังไงต่อไป

ในงานเสวนา “6 เรื่องต้องรู้ Restart ธุรกิจให้ Strong สำหรับ SME” โดย SME Thailand ร่วมกับ โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ ได้ชวนผู้ประกอบการมาร่วมหาแนวทางในการ Restart ธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงและพร้อมสำหรับอนาคต โดยการสร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมกับมีธุรกิจตัวอย่าง ‘ลัลณ์ลิน’ ที่พลิกวิกฤติทางธุรกิจให้ฟื้นกลับเป็นโอกาสได้อีกครั้ง

3 ขั้นตอนวางแผนธุรกิจเพื่ออนาคต

ในงานเสวนา อ.วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการตลาดเล่าว่าสิ่งสำคัญของ SME ในเวลานี้คือการ ‘สร้างโอกาสทางธุรกิจ’ เพื่อหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจของเรายังมีเงินทุนหมุนเวียน มีลูกค้า และระบบการจัดการที่ดี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นให้คิดไว้เสมอว่าอุปสรรคคือโอกาสที่เปิดให้เราได้ปรับตัว และเราต้องคว้าโอกาสไว้ เพราะหากไม่คว้าไว้ คู่แข่งอาจคว้าโอกาสไปก่อน ดังนั้นสำหรับทุกธุรกิจเมื่อเจอโควิด-19 สิ่งที่ต้องทำคือการ ‘ปรับตัว’ โดยเฉพาะการปรับเข้าหาเทคโนโลยีซึ่งหยิบเข้ามาใช้ในส่วนต่างๆ ตั้งแต่ระดับการสื่อสาร การผลิต ไปจนถึงการบริหาร

หลักการปรับตัวเมื่อธุรกิจต้องเจอกับอุปสรรคที่อ. วีรพล แนะนำนั้นแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ

  1. Resolve & Resilience การแก้ไขปัญหาและความยืดหยุ่น เช่นการปรับตัวอย่างรวดเร็วในการรับมือกับโควิด-19 ในช่วงแรก การป้องกัน การควบคุมการระบาดในธุรกิจเบื้องต้น
  2. Return การวางแผนกลับสู่ธุรกิจ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ SME ส่วนใหญ่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในตอนนี้ ว่าเราจะปรับตัวอย่างไรให้ทำงานได้ปกติเหมือนเดิม โดยที่ธุรกิจและลูกค้ายังคงปลอดภัย
  3. Reimagination การคิดใหม่เพื่ออนาคต เนื่องจากอนาคตอาจมีอุปสรรคใดๆ เกิดขึ้นมาอีก เราควรเตรียมการเพื่อรับมือให้ธุรกิจยังดำเนินได้แม้จะมีอุปสรรค

ปรับตัวด้วยหลัก ‘ไคเซน’

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าธุรกิจของเราต้องปรับที่ตรงไหนบ้าง คุณวรเศรษฐ์ สายไหม เจ้าหน้าที่จากโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ได้แนะนำหลักการทำงานที่เข้ามาช่วยธุรกิจปรับตัวจากประเทศญี่ปุ่น คือหลักการ ‘ไคเซน’ หลัก 3 ข้อที่ให้เราสังเกตธุรกิจตัวเองว่ามีอะไรที่ต้องเปลี่ยนบ้าง

  1. Muda ว่างเปล่า – ให้ทุกธุรกิจสังเกตว่ามีอะไรในกระบวนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เป็นการเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุต้องรีบกำจัดออกไป
  2. Muri เกินกำลัง – สำหรับการทำงานของพนักงานหากมีการทำมากเกินไป อาจเป็นผลเสียในระยะยาว อาจมีการบาดเจ็บ มีการหยุด หรือต้องเปลี่ยนพนักงานบ่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีกับธุรกิจ ไม่ควรทำอะไรที่เกินกำลังมากไป หรือหากเป็นเครื่องจักรก็ไม่ควรให้ทำงานเกินกำลังเพราะอาจก่อความเสื่อมในเร็ววันอย่างไม่คุ้มค่าได้
  3. Mura ความไม่สม่ำเสมอ – การทำงานที่ไม่คงที่ ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง หรือคุณภาพที่เป็นมาตรฐาน จะส่งผลเสียต่อธุรกิจอย่างแน่นอน ดังนั้นให้สังเกตเรื่องการผลิตว่ามีส่วนไหนที่ไม่สม่ำเสมอบ้างและควรแก้ไขให้ต่อเนื่องเพื่อง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ

‘ลัลณ์ลิล’ ธุรกิจตัวอย่างที่ฟื้นวิกฤตให้เป็นโอกาส จากการปรับตัว

ในช่วงก่อนหน้านี้ธุรกิจเห็ดของ ‘ลัลณ์ลิน ไบโอเทค’ เคยเจอกับอุปสรรคขนาดใหญ่เมื่อประเทศจีนเข้ามาตีตลาดเกษตรในประเทศไทย คุณอภิศักด์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการลัลณ์ลิน ไบโอเทค เล่าว่าก่อนหน้านี้เคยขายเห็ดเป็นสินค้าหลักมีการปรับมาพึ่งพาเทคโนโลยีและใช้โรงเรือนในการเพาะเห็ดเพื่อลดการพึ่งพาดินฟ้าอากาศ แต่เมื่อจีนนายทุนใหญ่เข้ามากลับทำให้ธุรกิจเซไปเนื่องจากต้นทุนและการผลิตที่แตกต่างกัน

แต่สิ่งที่ลัลณ์ลิลทำคือปรับวิธีคิด ใช้โอกาสนี้ปรับตัวทำให้ ‘คู่แข่ง’ กลายเป็น ‘คู่ค้า’ เขาปรับจากการขายเห็ดมาขายหัวเชื้อเห็ด แม่พันธุ์และอุปกรณ์ให้เกษตรกรอื่นๆ ไปทำต่อ และใช้ประสบการณ์ที่มีการคัดเลือกที่มีมาตรฐาน ทำให้ธุรกิจที่เคยเซกลับมาเติบโตได้อีกครั้งและทำให้คู่แข่งน้อยลง นอกจากนี้ลัลณ์ลินยังมีการใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยทำการตลาดให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งค้าส่งและค้าปลีก

แต่การขยายตัวของธุรกิจที่รวดเร็วก็เป็นปัญหา เมื่อลัลณ์ลินเริ่ม ‘ขายไม่ทัน’ และมีการจัดการที่ไม่เป็นระบบซึ่งจุดนี้เองที่โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการใช้หลักการไคเซน เข้ามาปรับตาม 3 หลักการ จัดการให้เป็นระบบ ลดการทำงานเกินกำลังของพนักงานด้วยเทคโนโลยีทุ่นแรง

สิ่งสำคัญที่โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ได้เข้ามาช่วยปรับคือการจัดการต้นทุนและสต็อกของ เนื่องจากก่อนหน้านี้ลัลณ์ลินมีการซื้อของปีละครั้งและมีจำนวนมากทำให้มีปัญหาเรื่องการจัดการกับสต็อก จึงต้องปรับด้วยการสั่งของโดยตำนึกว่าธุรกิจมีการขายเท่าไร ซื้อเท่าไร และควรเก็บเท่าไร

นอกจากนี้ลัลณ์ลินยังมีการปรับแพ็คเกจจิ้ง เนื่องจากการปรับมาขายในออนไลน์มากขึ้นและเจอกับค่าขนส่งที่มีราคาแพงเนื่องจากคิดตามน้ำหนัก จึงปรับจากขวดแก้วเป็นขวดพลาสติกที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ ต้นทุนถูกลงและต่อยอดพัฒนา ‘เชื้อน้ำ’ สำหรับเห็ดซึ่งเป็นแบบเหลวสามารถฉีดเข้าไปในขวดพลาสติกได้เลย เป็นการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง

เราจะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญในการฟื้นกลับมาของธุรกิจคือการมองทุกเวลาให้เป็น ‘โอกาส’ และปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ แนวคิดสุดคลาสสิกนี้ยังคงช่วยให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวและรอดพ้นไปได้เสมอ

สำหรับเหล่า SME คนไหนที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติม ยังเหลือเสวนาธุรกิจออนไลน์อีก 4 หัวข้อที่น่าสนใจ สามารถลงทะเบียนได้ที่ : https://forms.gle/qpTpWfBDAWSNLBex6 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร : 08-4555-0802