3 Min

จำกันได้ไหม Ice Bucket Challenge ที่ไวรัลเมื่อเกือบสิบปีก่อน วันนี้สร้างอิมแพ็คให้การวิจัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้จริงๆ

3 Min
789 Views
25 Jun 2023

ยังจำ ‘Ice Bucket Challenge’ กันได้ไหม? เรากำลังหมายถึงกิจกรรมสุดไวรัลที่บรรดาคนดังอย่าง จัสติน บีเบอร์, บิล เกตส์ และ โชเซ มูรินโญ เทถังใส่น้ำเย็นจัดหรือน้ำใส่น้ำแข็งราดตัวเอง ก่อนจะเสนอชื่อคนดังคนอื่นๆ ที่อยากขอท้าให้มาทำแชลเลนจ์นี้ด้วยกัน จนเกิดเป็นภาพของบรรดาเซเลบฯ พากันออกมาเทถังราดน้ำเย็นจัดใส่ตัวเองกันว่อนโซเชียลมีเดีย ถ้าใครยังจำกิจกรรมนี้ได้ รู้ไหมว่าตอนนี้ Ice Bucket Challenge มีอายุเกือบจะสิบปีแล้วนะ

จุดเริ่มต้นของ Ice Bucket Challenge เกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2014 โดย ‘พีท เฟรตส์’ (Pete Frates) อดีตนักกีฬาเบสบอลวัย 29 ปี ที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ซึ่งเขาก็ได้เริ่มต้นแคมเปญนี้ด้วยจุดประสงค์ที่อยากให้สังคมหันมาตระหนักถึงโรคนี้กันมากขึ้น และระดมเงินบริจาคสำหรับการวิจัยและช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้

ปรากฏว่า Ice Bucket Challenge ครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 17 ล้านคน ซึ่งในระยะเวลาสั้นๆ แค่ 6 สัปดาห์ แคมเปญนี้ก็สามารถระดมเงินได้กว่า 115 ล้านดอลลาร์ ทีเดียว ทว่าหลังจากผ่านไปเกือบสิบปี คำถามคือ แล้ว Ice Bucket Challenge ที่ทำกันทั่วบ้านทั่วเมืองในตอนนั้นมันส่งผลอย่างไรให้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงบ้างล่ะ

เป็นเรื่องน่ายินดีว่า Ice Bucket Challenge ได้สร้างผลเชิงบวกให้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจริงๆ โดย นีล ธาเกอร์ (Neil Thakur) แห่งองค์กรเพื่อผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (The ALS Association) ก็ได้ออกมายืนยันว่า “Ice Bucket Challenge เป็นอะไรที่น่าทึ่งมากๆ เราไม่เคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อนเลยกับการบริจาคเพื่อโรคใดๆ ซึ่งพอคุณมีเงินลงทุนมากขึ้น โอกาสต่างๆ ก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นด้วย นี่แหละคือสิ่งที่เราได้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในปัจจุบัน”

The ALS Association ได้ออกมาเปิดเผยว่า Ice Bucket Challenge เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การต่อสู้กับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วมากๆ อย่างเงินบริจาคที่ได้มาก็ส่งผลให้มีการค้นพบยีนใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงวิธีการรักษารูปแบบใหม่ หรืออย่างปีก่อน องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็ได้อนุมัติวิธีการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบใหม่อีกสองวิธี ซึ่งวิธีการรักษาทั้งสองวิธีนี้ก็เป็นผลลัพธ์โดยตรงจากเงินบริจาคของ Ice Bucket Challenge นั่นเอง ถึงขั้นที่ว่า นักวิจัยในสหรัฐฯ เองก็มองว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจกลายเป็น ‘โรคที่สามารถรักษาได้’ ในอนาคตอันใกล้นี้

อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงคือ โรคนี้เพิ่งจะมีการค้นพบเมื่อ 150 ปีก่อนเท่านั้น ซึ่งนับจากการค้นพบครั้งนั้น นักวิจัยต้องใช้เวลาอีกกว่า 126 ปีถึงจะมีการคิดค้น ‘Riluzole’ ยาที่ช่วยบรรเทาอาการเสื่อมของเซลล์ประสาทได้สำเร็จ เพียงแต่การทำงานของ Riluzole ก็ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จมากพอ เพราะสามารถช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วยได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น กระทั่งในปี 2011 หรืออีก 16 ปีให้หลัง ถึงจะมีการพัฒนายาอีกชนิดขึ้นมาได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี การมาถึงของ Ice Bucket Challenge ได้เปลี่ยนทุกอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะผลลัพธ์ของกิจกรรมนี้ได้ส่งผลให้จำนวนของคลินิกเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า เช่นเดียวกับที่ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) ก็ได้เพิ่มเงินทุนให้กับการวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้จาก 49 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015 เป็น 220 ล้านดอลลาร์ ในปี 2024 ซึ่งก็อย่างที่ได้กล่าวไปว่า การหลั่งไหลเข้ามาของเงินทุนมหาศาลนี้ได้ส่งผลให้การวิจัยเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว

“แม้ว่างานวิจัยเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะคืบหน้าไปมาก แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้คือ หาคำตอบว่า วิธีการรักษาต่างๆ จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร รวมถึงการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้จริงๆ” ธาเกอร์ อธิบาย

แต่ถึงแม้ว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะยังไม่สามารถรักษาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หากก็เป็นเรื่องน่าดีใจที่ได้เห็นว่าแคมเปญอย่าง Ice Bucket Challenge ในวันนั้น สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาลในวันนี้

อ้างอิง

  • National Geographic. A decade later: How the ALS Ice Bucket Challenge made a lasting impact. http://bitly.ws/JegP