4 Min

‘แค่หายใจ’ ทำไมถึง ‘ยาก’ สำหรับบางคน? รู้จักภาวะหายใจเกิน (hyperventilation) ที่ทำให้คนรู้สึกเหมือนขาดอากาศ

4 Min
902 Views
17 May 2022

สิ่งหนึ่งที่มนุษย์เกิดมาแล้วเป็นเองโดยไม่ต้องมีใครสอนคือการหายใจแต่สำหรับบางคนที่โตขึ้นมาแล้วกลับพบว่าการหายใจกลายเป็นเรื่องยากจนต้องเรียนรู้วิธีหายใจกันใหม่

ที่จริงแล้วอาการหายใจขัดหรือหายใจลำบากอาจเป็นสาเหตุบ่งชี้โรคร้ายแรงหลายอย่าง ซึ่งแพทย์ต้องสอบถามข้อมูลผู้ป่วยหรือตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้วินิจฉัยอาการอย่างถูกต้อง และรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันเวลา

อย่างไรก็ดี มีภาวะหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่จะทำให้คนที่มีภาวะนี้รู้สึกเหมือนกับขาดอากาศ หรือไม่ก็กำลังจะขาดใจ คืออาการในกลุ่ม hyperventilation ซึ่งแพทย์ไทยจำนวนหนึ่งเรียกทับศัพท์ว่าไฮเปอร์เวนติเลชั่นแต่ก็มีบางส่วนเรียกว่าภาวะหายใจเกิน

ถ้าผู้ที่มีอาการนี้ไม่เข้าใจตัวเองก็จะยิ่งหายใจลำบากเพราะอาจตื่นตระหนกมากกว่าเดิม ส่วนคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจว่าอาการนี้คืออะไรหรือเกิดจากอะไรก็อาจมองว่านี่คือการเสแสร้งแกล้งทำเพราะเวลาที่แพทย์วินิจฉัยผู้มีอาการนี้ก็มักจะระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะทางจิตใจหรือเป็นอาการทางอารมณ์

อาการบ่งชี้ที่ควรรู้ และการปรับวิธีหายใจ

ข้อมูลจากเว็บไซต์สถาบันการแพทย์ในต่างประเทศระบุว่าผู้ป่วยที่มีอาการนี้เกิดจากการหายใจถี่เร็วหรือลึกเกินไปจนเกิดความไม่สมดุลในร่างกายเพราะคาร์บอนไดออกไซด์ถูกขับออกมามากเกินไปจนกระทบภาวะกรดด่างในเลือดและทำให้ผู้มีภาวะนี้รู้สึกชาที่ใบหน้าปลายมือปลายเท้าบางครั้งมีภาวะมือจีบเกร็งเวียนหัวและแน่นหน้าอกเหมือนขาดอากาศ

ปฏิกิริยาที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทำเมื่อเกิดอาการนี้คือ ยิ่งหายใจเข้าถี่ๆ หรือลึกกว่าเดิม เพราะเข้าใจว่าภาวะที่เป็นอยู่เกิดจากการหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปไม่เพียงพอ แต่แทนที่จะดีขึ้นกลับรู้สึกแย่กว่าเดิม

ถ้าอย่างนั้นผู้มีอาการนี้ควรทำอย่างไร?

ทางแก้ที่มักเห็นบ่อยในภาพยนตร์หรือซีรีส์ฝั่งตะวันตกคือการที่ผู้มีภาวะนี้ป้องปากเพื่อชะลอการหายใจหรือไม่ก็หายใจใส่ถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกเพื่อปรับระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายไม่ให้ลดต่ำลงจนกระทบภาวะความเป็นด่างในเลือด

แต่แพทย์แผนปัจจุบันจำนวนมากแนะนำว่า การปฏิบัติตัวเบื้องต้นด้วยวิธีนี้จะต้องแน่ใจจริงๆ ว่าผู้ป่วยไม่มีอาการบ่งชี้ว่าเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่ร้ายแรงกว่า เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ อาการบาดเจ็บศีรษะรุนแรงและหอบหืด ซึ่งอย่างหลังมีอาการบ่งชี้อื่นร่วมด้วย เช่น ไอ เจ็บหน้าอก และมีเสียงวี้ดขณะหายใจ ถ้าผู้ที่มีอาการของโรคเหล่านี้ใช้วิธีหายใจในถุงอาจทำให้ทรุดหนักกว่าเดิม

วิธีปลอดภัยที่สุดในการรักษาอาการนี้คือ การทำให้ผู้ป่วยหายใจช้าลงโดยปรับให้เป็นการหายใจทางท้อง หรือบางคนก็เรียกว่าหายใจทางกระบังลม (Belly breathing หรือ Diaphragmatic breathing)

วิธีการคือให้ผู้ป่วยหายใจเข้าทางจมูกเพื่อเอาอากาศเข้าไปที่ท้อง โดยการจะสังเกตว่าหายใจแบบนี้อย่างถูกวิธีแล้วหรือยัง คือการสังเกตว่าท้องจะค่อยๆ ป่องออกเวลาหายใจเข้า แต่หน้าอกไม่ขยับ จากนั้นให้กลั้นลมหายใจไว้ประมาณ 2-4 วินาที แล้วค่อยๆ ผ่อนออกช้าๆ จนท้องแฟบ ก่อนจะค่อยๆ ทำแบบเดิมซ้ำอีกเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าอาการดีขึ้น

เผชิญหน้าสาเหตุของภาวะทางอารมณ์

ก่อนหน้านี้อาการไฮเปอร์เวนติเลชั่นไม่ค่อยถูกพูดถึงในสื่อไทยมากนัก แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานด้านสุขภาพจิตและสาธารณสุขของไทยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอาการนี้กันมากขึ้น โดยบางส่วนได้ระบุถึงสภาพบ้านเมืองที่กดดันจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้คนเครียดกันมากขึ้นและน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พบผู้ป่วยในกลุ่มอาการนี้มากขึ้น

เมื่อปี 2564 สื่อไทยรายงานคำแนะนำของ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา ที่กล่าวว่า ผู้มีอาการกลุ่มไฮเปอร์เวนติเลชั่นส่วนใหญ่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบมากในผู้ที่มีจิตใจไม่มั่นคง บุคลิกภาพไม่แข็งแรงหรือไม่หนักแน่น เมื่อมีเรื่องตกใจ ขัดใจ โมโห ฉุนเฉียว ก็จะเกิดอาการกำเริบได้ทันที

อย่างไรก็ดีถ้าเป็นสถาบันการแพทย์ของต่างประเทศจะไม่ได้ระบุแบบจำเพาะเจาะจงขนาดนี้แต่จะบอกแบบกว้างๆว่าทุกคนมีโอกาสเป็นอาการเหล่านี้ได้ทั้งหมดถ้าเกิดภาวะไม่มั่นคงทางจิตใจ

สาเหตุที่ทำให้คนทั่วไปมีอาการเหล่านี้รวมถึงความกลัวการตื่นตระหนกแบบเฉียบพลันอาการเหนื่อยล้าเพราะใช้กำลังมากไปรวมถึงความเครียดหรือวิตกกังวลแบบเรื้อรังไม่ใช่แค่เพราะถูกขัดใจหรือถูกทำให้โมโหแบบปัจจุบันทันด่วนเท่านั้นและผู้ที่มีอาการไฮเปอร์เวนติเลชั่นบ่อยๆต้องฝึกวิธีหายใจให้เป็นแบบการใช้กระบังลมหรือหายใจทางท้องจะดีที่สุดจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้

แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้ที่มีอาการไฮเปอร์เวนติเลชั่นจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะทางอารมณ์ของตัวเอง โดยต้องสังเกตให้ดีว่าก่อนจะเกิดอาการเหล่านี้มีอารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดอย่างไรจนส่งผลกระทบต่อร่างกาย และอาจต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตวิทยาร่วมด้วย

ขณะที่คนรอบข้างควรเข้าใจว่าอาการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเสแสร้งแกล้งทำ และอาจลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการนี้ได้ด้วยการไม่ไปกระตุ้นภาวะทางอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการ

การจะเข้าใจให้ได้ว่าอะไรคือตัวกระตุ้น หรือ trigger ก็ต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าผู้ป่วยกำลังเผชิญกับความรู้สึกอย่างไร เพราะโรคทางใจที่เกิดจากภาวะทางอารมณ์และความนึกคิดของมนุษย์นั้นซับซ้อนเกินกว่าจะมองด้วยตาเปล่าได้ และต้องอาศัยกระบวนการทำความเข้าใจที่แตกต่างจากการวินิจฉัยโรคทางกายอีกด้วย

อ้างอิง

  • กรมสุขภาพจิต. กรมการแพทย์เตือน ความเครียด และสภาวะกดดันหนัก เป็นเหตุให้เกิดอาการไฮเปอร์เวนติเลชั่น. https://bit.ly/3M9Hd1c
  • Hopkins Medicine. What is hyperventilation?. https://bit.ly/3FEEXfV
  • Medical News Today. Hyperventilation: Causes and what to do. https://bit.ly/3w85JKE
  • Rama Mental. โรคหายใจเกิน (Hyperventilation Syndrome). https://bit.ly/3FBoQ2y
  • Zanook Dive. การหายใจด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม (DIAPHRAGMIC BREATHING). https://bit.ly/3M9Zknw