“Please don’t you go, I’ll be alone, Wait until the morning, I’ll hold you close”
หากคุณคือชาวอินสตาแกรมเมอร์แล้วไม่เคยได้ยินเพลงนี้ถือว่าเอาท์มาก เพราะใครๆ ก็ต้องใช้เพลง ‘Ride’ ของศิลปินวง ‘HYBS’ ประกอบคลิปใน IG Story ไม่ก็ Reels กันทั้งนั้น
แคนดี้จึงไม่พลาดที่จะไปทำความรู้จักพวกเขาผู้สร้างตำนานเพลงฮิตใน Reels ‘กานต์’ กษิดิ์เดช หงส์ลดารมภ์ และ ‘เจมส์’ อลิน วี แห่งวง ‘HYBS’ คู่เพื่อนซี้ที่ใช้ ‘ไวบ์’ (vibe) ในการครีเอทเพลงลง Reels สู่อัลบั้ม Making Steak
จุดเริ่มต้นของ HYBS กับค่าย Juicy
เจมส์: ตอนนั้นเราเริ่มทำเพลงกันบ้างแล้ว ผมจำได้ว่า พี่โน่ (ดนัย ธงสินธุศักดิ์) เจ้าของ ‘Juicy’ บอกว่าจะทำค่ายใหม่ที่แนวดนตรีอาจจะนอกรีตหน่อย เลยส่งให้พี่โน่ฟังว่ามีโปรเจกต์พิเศษทำกับเพื่อน แล้วคนก็ดูชอบกันนะพี่ พี่สนใจไหม
กานต์: ต้องให้เครดิตทางค่าย และพี่โน่ด้วย เพราะเราก็ชัดเจนตั้งแต่แรกเลยว่าจะเขียนเพลงภาษาอังกฤษ ซึ่งธุรกิจดนตรีเราอยู่ในค่ายไทย กลุ่มคนฟังก็จะเป็นคนไทย จะยากนิดหนึ่งกับการที่อยู่ดีๆ เด็กสองคนเดินดุ่มๆ เข้ามาบอกว่า พี่ผมจะเขียนเพลงเป็นภาษาอังกฤษ แต่พี่เขาก็ให้เราทำต็มที่เลย ขอบคุณที่เชื่อในตัวพวกเรา
แล้วมีความกังวลไหมว่าถ้าทำแล้วไม่เวิร์กจะเป็นยังไง
เจมส์: ผมว่าเราไม่ได้คิดเพราะไม่ได้คาดหวัง อย่างที่บอกแค่มีคนฟังเราก็ดีใจแล้ว ยิ่งเพลงเป็นภาษาอังกฤษมีคนไทยฟังก็เกินคาดแล้ว เราทั้งคู่มีเป้าหมายเดียวกัน คือวงเราสำคัญที่สุด ต่อให้ถกเถียงกันแต่สุดท้ายก็ลงรอยกันได้ เพราะปลายทางเหมือนกัน
กานต์: ผมว่าความสัมพันธ์ในแบบของวงก็ไม่ต่างจากการหาแฟน หรือหาเพื่อนร่วมงานที่ดี เข้าขากันได้ สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องคุยกันเพื่อให้ไปต่อในทางที่ดีขึ้น เติบโตขึ้น
เนื้อเพลงภาษาอังกฤษเป็นกำแพงสำหรับแฟนเพลงไทยหรือเปล่า
เจมส์: ก็ระดับหนึ่ง คนเราฟังเพลงหลากหลายแบบ บางคนฟังเนื้อหา บางคนก็ฟังมู้ด ฟังเมโลดี้ คนฟังบางคนก็อาจจะไม่เข้าใจในเมสเสจ แต่เราทำเพลงภาษาอังกฤษด้วยสาเหตุนี้เหมือนกัน เพราะเรารู้สึกว่าสามารถ ‘แถ’ เนื้อหาได้ค่อนข้างง่าย เราก็ไร้สาระของเราไปได้ก่อน แล้วเราก็ค่อยมาหาความเมกเซนส์ทีหลัง (หัวเราะ)
กานต์: ผมว่าโชคดีที่พอเราทำเพลงภาษาอังกฤษ เราสามารถสื่อสารกับคนได้ไกลมากขึ้น ซึ่งจริงๆ เราตั้งต้นจะสื่อสารด้วยไวบ์ (vibe) และมู้ด (mood) คนฟังไม่ต้องเข้าใจเนื้อหาเราก็ได้ แต่ว่าอย่างน้อยๆ เปิดฟังเป็น ‘Vibe noise’ ตอนทำกับข้าว หรือทำงานก็โอเคแล้ว
เจมส์: ผมว่าเพลงเราภาษาง่าย ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเป็นเนทีฟหรือเป็นฝรั่งก็เข้าถึงได้นะ
เชื่อในประโยคที่ว่า “ทำงานด้วยความสนุก งานก็จะออกมาสนุก” มากแค่ไหน
เจมส์: โห… เชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ เลย หลังๆ เริ่มรู้สึกว่าอะไรที่ ณ ตอนนั้นเราสนุกกับมัน หรือแม้แต่คิดชื่อวง คิดชื่ออัลบั้ม บางทีเราคิดเล่นๆ แล้วได้มา ตรงนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ดูจริงใจมากกว่าเรามานั่งประดิษฐ์ว่า จะทำยังไงให้ชื่อวงเรามีความหมาย ที่ดูฉลาด หรือว่าจะทำยังไงให้คอร์ด ให้เพลงเราดูมีอะไร แต่เราเอาความไวบ์ดีนำหน้าก่อน
กานต์: ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือถ้าฝีมือเราสู้ไม่ได้ เราก็ฮาสู้เลยครับ (หัวเราะ) ผมว่าจุดเริ่มต้นไม่ได้เริ่มมาจากคุยกันว่า เฮ้ยเราทำเพลงกัน แล้วมานั่งทำ แต่คือ เฮ้ย ไม่ได้เจอกันนาน มานั่งเล่นเกม แล้วสุดท้ายงานก็ออกมา
เมื่อก่อนเราไม่ได้คิดว่าความเรียบง่ายคือคำตอบอะไรขนาดนั้นนะ แต่เราเพิ่งมาย่อยข้อมูลเหล่านี้จากตอนทำ ‘HYBS’ นี่แหละ
เจมส์: ด้วยความที่ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจว่าจะขายได้ เราก็ทำสนุกๆ ไป ไม่ได้คิดเยอะ แล้วดันได้ผลตอบรับดีด้วย มีงานด้วย อ้าว ก็ทำต่อสิ (หัวเราะ)
พองานเข้ามามากขึ้น รู้สึกกลัวเสียไวบ์ในการทำเพลงไหม
กานต์: เป็นปัญหาที่เรากำลังเจอ เพราะว่าเมื่อก่อนเราไม่ใช่นักดนตรีอาชีพ เราก็จะเอาไวบ์เข้าสู้ ซึ่งบางเพลง 15 นาทีก็แต่งได้ บางที 3 วันก็แต่งได้ แต่เพราะเราเอาตามฟีล บางเพลงใช้เวลาไป 4-5 วัน ไม่ทำไรเลย ทำสเต๊กอย่างเดียว แต่พอมีเรื่องของเดดไลน์เข้ามา กลายเป็นว่าไม่สามารถเอาไวบ์อย่างเดียวแล้ว ต้องมีการวางแผนที่ดี ซึ่งเราก็พยายามหาตรงกลางอยู่
เจมส์: เราจะมานั่งไวบ์ชิลอย่างเดียว ไม่ทำงาน ไม่รับไม่เล่นสดไม่ได้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ก็เริ่มเลือกงานแล้ว ไม่ใช่ว่างานเยอะอะไรขนาดนั้นนะ แต่เราให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘Work-Life Balance’ เรารับงานแต่เราก็ยังพอมีเวลาที่จะตกตะกอน ตอนที่ทำเพลงหรือแต่งเพลง เรามีเวลาพอที่จะทำให้ดี ให้ยังอยู่ในสแตนดาร์ดที่เราชอบ
กานต์: ยิ่งแฟนๆ เขาอิน เขาชอบเรา เรายิ่งรู้สึกว่าเราต้องทำงานให้ดีขึ้น
เจมส์: เรารู้สึกว่าถ้าเราสนุกตอนทำงานก็จะส่งถึงผลงานเราใช่ไหม เราก็กลัวตรงนี้แหละ กลัวว่าจะถึงจุดที่เราไม่สนุก ถ้าคนแต่งไม่สนุกขึ้นมาคนฟังจะสนุกเหรอ
เน้นดนตรีที่เข้าใจง่าย (Easy listening) มากกว่าเพลงที่เหนือชั้น?
กานต์: ผมว่าคือจริงๆ เริ่มมาจากเมื่อก่อนเจมส์จะมีความเป็นร็อกหน่อย ซึ่งก็จะมีความซีเรียสทางดนตรี ผมก็จะมาลึกเลย ‘Dream Theater’ พวก ‘Pink Floyd’ ฟังยากๆ ซึ่งก็สนุกเวลาเราเล่น เวลาเราฟัง แต่สุดท้ายแล้วเพลงแบบนี้ฟังไม่ได้ทุกโอกาส
พอเรามาทำอาชีพตรงนี้จริงจังเลยรู้สึกว่า เพลงที่ดีไม่ต้องเหนือชั้น หรือดีเลิศเว่อร์วังอะไรก็ได้ แค่ให้มีความเรียบง่ายฟังสบาย ไม่ต้องไปบู๊อะไร (หัวเราะ)
เจมส์: รู้สึกว่า HYBS เป็นอะไรที่ผ่อนคลายทั้งเวลาที่ทำ ทั้งเวลาที่ฟัง เพราะเราสนุกตอนที่เราทำ
กว่าจะเป็นแต่ละเพลงในอัลบั้ม ‘Making Steak’ เล่าที่มาที่ไป แรงบันดาลใจให้ฟังหน่อย
กานต์: คือจริงๆ ผมว่าแต่ละเพลงมันคือความชอบของเรา ณ ตอนนั้นมากกว่า ว่าช่วงนี้เรากำลังอินซีรีส์ป๊อป เราก็จะทำออกมาเป็นซีรีส์ป๊อป ช่วงไหนเราฟัง ‘R&B’ ‘Neo-Soul’ มันก็เป็นแบบนั้น ผมว่าที่มันครอบอยู่มันก็คือแค่ว่าให้สื่อสารกับคนง่ายที่สุด
เจมส์: เราก็แค่มีกรอบบางๆ ว่า HYBS คือสิ่งที่เรียบง่าย ฟังให้รู้สึกถึงอารมณ์ ณ ตอนนั้น ไม่ได้ต้องมีความซับซ้อนอะไรมาก แต่อัลบั้มเรามีคอนเซ็ปต์นะครับ สิ่งที่เราทำบ่อยที่สุด ณ ตอนที่เราแต่งเพลง คือเราจะลงไปทำสเต๊กกิน แล้วเราถึงจะขึ้นไปจัดแสงจัดไฟเพื่อแต่งเพลง (หัวเราะ) เราก็เลยคิดคอนเซ็ปต์ว่า เวลาเราทำสเต๊กนี่มันมีความสุขมากเนอะ
กานต์: คือเหมือนกับว่าอยากเปรียบเทียบให้เกี่ยวข้องกับการทำสเต๊ก ตรงที่ว่า เราไม่ได้มีความสุขแค่ตอนกิน เรามีความสุขตั้งแต่ตอนไปซื้อวัตถุดิบ สมมติมันมี 10 ขั้นตอน เราแฮปปี้กับมันทุกขั้นตอนเลย ก็เลยอยากจะให้ทุกเพลงเป็นเหมือนทุกขั้นตอนเวลาที่เราทำสเต๊กกัน อยากให้มีความสุขกับทุกเพลงในอัลบั้มนี้ของเรา ตั้งแต่เพลงแรกยันเพลงสุดท้าย
วงการเพลงไทยในมุมมอง ‘HYBS’
กานต์: ผมว่ายุคนี้เป็นยุคที่ความหลากหลายเพิ่มขึ้น ทั้งจากคนฟังแล้วก็ทั้งจากศิลปินด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วผมรู้สึกว่าคงจะดีมากถ้าเกิดในไทยมันมี ‘Live House’ เยอะๆ เพื่อให้วงที่เขามีความคิด มีผลงานที่แตกต่าง ได้มาโชว์สิ่งเหล่านี้ให้ทุกคนได้ดู
เจมส์: เป็นยุคที่วงการเพลงไทยค่อยๆ เปิดกว้างขึ้น เริ่มมีวงที่ไม่มีค่ายผุดขึ้นมา วงที่กล้าคิดต่าง แนวเพลงที่หลากหลาย เริ่มค่อยๆ มีเฟสติวัลมีงานที่จัดเฉพาะกลุ่มมากขึ้นแล้วด้วยซ้ำ
กานต์: แต่ผมอยากแชร์ว่า ให้ลองมองถึงภาพที่มีมิติมากกว่าแค่ในการทำเพลง เพราะอุตสาหกรรมของดนตรีไม่ได้มีแค่ศิลปิน แต่มีทั้งคนแต่งเนื้อเพลง คนทำทำนอง โปรดิวซ์ อาร์ตไดเรกเตอร์ ผมว่าหมู่มวลทั้งหมดถูกประกอบเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ถ้าเราให้ความสำคัญกับคนเหล่านี้ด้วย ก็อาจจะมีโอกาสมากที่จะสามารถทำให้คนได้เห็นศิลปินไทยมากขึ้น