2 Min

งานวิจัยพบ มนุษย์มีอายุขัยสูงสุดถึง 150 ปี ก่อนเซลล์จะสูญเสียความสามารถในการฟื้นฟู

2 Min
1607 Views
06 Jun 2021

มนุษย์เรามีอายุขัยเท่าไร?
80 ปี 100 ปี หรือ 120 ปี?

 

เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีอายุขัยที่ค่อนข้างจำกัด และที่ผ่านมาเราเชื่อกันมาตลอดว่ามนุษย์น่าจะมีอายุขัยสูงสุดอยู่ที่ราว 120 ปีซึ่งก็นับว่ามากถึงมากที่สุดในการใช้ชีวิตแล้ว โดยเรามีเจ้าของสถิติอายุยืนคือ Jeanne Calment คุณยายทวดชาวฝรั่งเศสที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ 122 ปี กับอีก 164 วัน

แต่ผลการวิจัยล่าสุดเผยว่าเราอาจอายุยืนได้มากกว่านั้น โดยผลการจากวิเคราะห์เกล็ดเลือดพบว่าอายุขัยสูงสุดที่แท้จริงของมนุษย์อยู่ที่ 150 ปี

 

| Live Science

 

งานวิจัยฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Communications โดยทีมนักวิจัยเชื้อสายรัสเซียจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Gero ได้วิเคราะห์จากข้อมูลผลตรวจนับเม็ดเลือดจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และรัสเซีย จำนวน 50,000 คน เพื่อตรวจสอบสัดส่วนระหว่างเม็ดเลือดขาว 2 ชนิด และเม็ดเลือดแดงที่ผลิตออกมาในแต่ละช่วงอายุ

ข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่ได้จากเม็ดเลือดเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวิตที่บอกระดับอายุทางชีวภาพ (Biological age) ไม่ใช่อายุจริงที่นับจากวันเกิด โดยอายุทางชีวภาพอาจน้อยกว่า หรือมากกว่าอายุปกติก็ได้ และอายุทางชีวภาพมีผลต่อการความสามารถในการฟื้นตัวจากความเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บ

นักวิจัยก็นำตัวอย่างมาคำนวณด้วยโมเดลคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Dynamic organism state indicator หรือ DOSI เพื่อหาความสามารถในการฟื้นตัวของเซลล์จากอาการเจ็บป่วย ว่าจะยังสามารถทำงานได้ไปจนถึงตอนไหน

 

| countynewscenter

 

คำตอบของการทดลองคือ ความสามารถในการฟื้นตัวของเซลล์จะหมดไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงอายุ 120-150 ปี หมายความว่าหลังจากนั้นไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะยังคงความสามารถในการฟื้นตัวได้อีก 150 ปีจึงเป็นอายุขัยที่สูงที่สุดที่มนุษย์จะสามารถอยู่ได้ถึงนั่นเอง

ส่วนในช่วงวัยก่อนหน้านั้นมนุษย์ผู้มีอายุมากกว่า 80 ปีส่วนมากจะเสียความสามารถในการฟื้นตัวมากกว่าคนอายุ 40 ปีถึง 3 เท่า อย่างไรก็ดี การมีอายุขัยยืนยาวก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นความชราที่สุขภาพดี ทีมวิจัยยังต้องการการศึกษาต่อไปว่าอายุยาวนานที่สุดที่เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยที่ยังมีสุขภาพที่ ‘ดี’ คือเท่าไร

สรุปก็คืองานวิจัยนี้ทำให้เรารู้ว่าอายุขัยสูงสุดของมนุษย์คือ 150 ปี แต่จากประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้มา ดูเหมือนยังไม่มีมนุษย์คนไหนที่อายุยืนถึง 150 ปีมาก่อน และการมีอายุขัยที่ยาวนานมากขึ้นก็ไม่ได้ช่วยให้เราสุขภาพดีขึ้นแต่อย่างใด

เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตมันอาจจะเป็นมากกว่าเรื่องการล่วงรู้อายุขัย แต่เราจะดำเนินวันแต่ละวันไปอย่างไร ที่ต่อให้เราจะจากไปตอนไหน เราก็จะรู้สึกว่าช่วงที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าแล้วจริงๆ

อ้างอิง:

  • BBC. ผลวิจัยเม็ดเลือดเผยอายุขัยที่แท้จริงของมนุษย์ ชี้อยู่ได้นานที่สุดถึง 150 ปี. https://bbc.in/3wL6y9v
  • Cnet. Humans probably can’t live longer than 150 years, new research finds. https://cnet.co/3yOm5qU
  • Livescience. Human life span may have an ‘absolute limit’ of 150 years. https://bit.ly/3yOIsMN