การกลับมาของ ‘ทามาก็อตจิ’ เกมเลี้ยงสัตว์ดิจิทัลแห่งยุค 90s ที่ต่อให้ตายกี่หนก็คืนชีพได้เรื่อยๆ

2 Min
485 Views
01 Apr 2024

หากใครเติบโตมากับการเป็นวัยรุ่นในยุค 90s ร้อยทั้งร้อยย่อมรู้จัก ‘ทามาก็อตจิ’ (Tamagotchi) เกมสัตว์เลี้ยงดิจิทัลรูปไข่ไซซ์กะทัดรัด และเชื่อเหลือเกินว่าแต่ละคนคงมีประสบการณ์แอบให้อาหารเจ้าสัตว์เลี้ยงสมมติตัวนี้ระหว่างคาบเรียนด้วยแน่ๆ 

แต่เกริ่นมาแบบนี้ก็ใช่จะชวนรื้อฟื้นความหลังเสียเมื่อไหร่ เพราะหากว่ากันตามจริง แม้ความนิยมของทามาก็อตจิจะพ่ายให้กับเทรนด์ของเล่นใหม่ๆ ที่ออกมาภายหลัง แต่เกมเลี้ยงสัตว์ในตำนานตัวนี้ก็ไม่เคยหายไปจากสารบบเกมเลย บริษัท BANDAI ผู้ผลิตยังคงพัฒนาเครื่องเล่นรุ่นใหม่ออกมาเรื่อยๆ แถมยังทำยอดขายไปกว่า 82 ล้านเครื่องทั่วโลกในปี 2021 ที่ตรงกับวาระครบรอบ 25 ปีที่ของเล่นตัวนี้ปรากฏโฉม

ทามาก็อตจิเดินทางมาถึงวันนี้ได้อย่างไร ก่อนอื่นขอทบทวนไทม์ไลน์ของไอเทมนี้สั้นๆ สักเล็กน้อย

หากไล่เลียงประวัติของทามาก็อตจิออกมาง่ายๆ เราสามารถแบ่งเกมตัวนี้ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ เริ่มจากปี 1996-1998 ยุคเปิดตัวที่กลายเป็นกระแสบูมในหลายประเทศ ซึ่งตอนนั้นรูปแบบการเล่นไม่มีอะไรซับซ้อนนัก แค่ลุ้นให้สัตว์เลี้ยงเราไม่ตายก็สนุกเป็นบ้าแล้ว  

ต่อมา ช่วง 2004-2015 ซึ่งเป็นยุคของอุปกรณ์เสริม มีการขายไอเทมพ่วง เช่น ซื้อเครื่องดนตรีให้สัตว์เลี้ยง เป็นการเพิ่มฟังก์ชันการเลี้ยงมากกว่าพาไปอาบน้ำ ให้อาหาร เข้านอน แม้ดูเหมือนจะเพิ่มรายจ่ายในการเล่น แต่แฟนพันธุ์แท้ของเกมก็ยังคงสนับสนุน หรืออีกนัยหนึ่งมันเป็นยุคของนักสะสมเสียส่วนใหญ่ แต่ที่พิเศษสุดๆ คือการพัฒนาเกมให้เป็นภาพสีออกมาในยุคนี้เช่นกัน (ปี 2008)

สุดท้าย ยุคปัจจุบันหรือนับจากปี 2015 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่เกมเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น ตัวละครก็ค่อยๆ ถูกเพิ่มเข้ามาจนมีมากถึง 1,000 ตัวให้เลือกเล่น แถมสามารถเชื่อมต่อการเล่นร่วมกับคนอื่นได้ ไปจนถึงให้สัตว์เลี้ยงแต่งงานกันได้ด้วย

หรือล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในวาระ 25 ปี กับ Tamagotchi Smart ที่ออกแบบเครื่องเล่นให้เป็นนาฬิกาข้อมือ และมีไมโครโฟนให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยและสั่งการสัตว์เลี้ยงด้วยเสียงได้โดยตรง

จากไทม์ไลน์ที่ไล่มาคร่าวๆ เราจะเห็นว่า คุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้เกมอยู่มาได้ยาวนาน คือ การพัฒนาฟังก์ชันที่เพิ่มความท้าทายให้กับผู้ใช้มาโดยตลอด โดยเฉลี่ยจะมีเครื่องเล่นหรือฟังก์ชันใหม่ออกมาทุกๆ 2 ปี ซึ่งต่อให้จะมีใครลืมหรือสนใจอย่างอื่นแทนแล้วแต่ทามาก็อตจิก็ยังคงพัฒนาเกมไม่หยุด เพื่อให้ผู้เล่นมีงานให้ต้องติดตามตลอด  

แต่ไม่ว่าเครื่องเล่นจะปรับรูปแบบมากเพียงไร ‘แก่นของเกม’ ที่สร้าง ‘ความผูกพันทางอารมณ์’ ให้กับผู้เล่นไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกหลงรักและผูกพันกับเกมนี้ 

อีกสิ่งที่พัฒนาคู่กันมา คือความร่วมมือกับแบรนด์และหยิบเอาวัฒนธรรมต่างๆ มาใช้ร่วมกับเครื่องเล่นเสมอ เช่น การจับมือกับสุพรีม (Supreame) แบรนด์สตรีทแฟชั่นมาแรงแห่งยุค ก็ยิ่งทำให้ตลาดทามาก็อตจิในอเมริกาที่ขายดีอยู่แล้ว เติบโตมากยิ่งขึ้นไปอีก หรือการไปแฝงตัวปรากฏอยู่ในภาพยนตร์การ์ตูนสุดฮอตอย่าง Demon Slayer หรือดาบพิฆาตอสูร ทำให้กระแสของทามาก็อตจิเป็นที่รู้จักในกลุ่มเด็กยุคใหม่เพิ่มขึ้นไปอีก 

แต่เหนืออื่นใด ตลาดสำคัญที่ทามาก็อตจิไม่เคยทิ้ง คือการจับกลุ่มผู้ใหญ่หัวใจเด็กหรือผู้บริโภคที่มีความทรงจำที่ดีกับแบรนด์มาโดยตลอด ซึ่ง 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ซื้อ ต่างก็เป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตมากับการเป็นวัยรุ่นยุค 90s โดยอาศัยกลยุทธ์การจับมือกับศิลปิน ภาพยนตร์ ตลอดจนคาแรกเตอร์การ์ตูนดัง เช่น วันพีซ, สตาร์ วอร์ส หรือกระทั่ง BT21 (การ์ตูนของวง BTS) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ ไม่ว่าจะเพื่อเล่นหรือสะสมก็ตาม นั่นจึงทำให้เกมอย่างทามาก็อตจิสามารถอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน

และหากทามาก็อตจิยังพัฒนาอะไรใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ แบรนด์ของเกมก็คงไม่ต่างอะไรจากเนื้อหา ที่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ตลอดอย่างไม่รู้จบ

 

อ้างอิง: