ทำไมแมคโดนัลด์ในยุโรปถึงเป็นสีเขียว? กลยุทธ์รักษาสิ่งแวดล้อมจากยักษ์ใหญ่แห่งวงการอาหาร

4 Min
857 Views
06 Jul 2023

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘แมคโดนัลด์’ เชนฟาสต์ฟู้ดชื่อดังจากอเมริกาที่ครองใจคนทั่วโลกมาหลายทศวรรษ เฟรนช์ฟรายส์ทอดกรอบสีเหลืองทองโรยเกลือ แฮมเบอร์เกอร์เนื้อนุ่มชิ้นโตๆ ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟหอมหวานรสนม คือเอกลักษณ์ของแบรนด์นี้ก็ว่าได้

โดยเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘โลโก้ตัวเอ็มสีเหลืองแดง’ ที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าร้าน เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนจดจำถึงความเป็นแมคโดนัลด์ แต่แล้วทำไมหลายๆ ร้านในยุโรปถึงมีโลโก้เป็นสีเขียวเหลืองล่ะ แล้วแบบนี้จะยังเป็นแมคโดนัลด์ที่เราเคยรู้จักอยู่ไหม 

คำตอบคือ ‘ยังคงเป็น’ แต่เป็นในเวอร์ชันพิเศษที่รักษ์โลกมากกว่าเดิม

ย้อนกลับไปช่วงปี 2000 แมคโดนัลด์เผชิญกับแรงกดดันมหาศาลจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวในยุโรปและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับวิธีดำเนินธุรกิจของพวกเขา ส่งผลให้บริษัทต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ให้หันมาใส่ใจโลกมากขึ้น

ในปี 2007 พวกเขาเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในร้านอาหาร เช่น ใช้น้ำมันทำอาหารที่ไม่เติมไฮโดรเจน และนำน้ำมันนั้นไปเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซลสำหรับรถตู้ขนส่งสินค้า ใช้เครื่องทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิกและกาแฟที่มั่นใจว่าใช้วิธีการปลูกที่ยั่งยืน ที่สำคัญที่สุดคือ มีการเปลี่ยนสีโลโก้ของร้านจากสีแดงเป็นสีเขียว โดยเริ่มที่ประเทศเยอรมนีเป็นแห่งแรก และภายในปี 2009 ทุกสาขาในประเทศก็ได้เปลี่ยนโลโก้เป็นสีเขียวทั้งหมด หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยสาขาอื่นๆ ในยุโรป

แน่นอนว่านอกจากยุโรป บริษัทยังถูกโจมตีจากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตอาหารขยะที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน หรือจะเป็นเรื่องของการทำให้โลกรวนจากก๊าซมีเทน ที่ถูกปล่อยออกมาจากวัวที่ใช้ในการทำเบอร์เกอร์ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงได้เริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์สำหรับทุกสาขาให้หันมารักษ์โลกมากขึ้น

ทีมผู้บริหารกล่าวว่า พวกเขาวางแผนลดการใช้พลาสติกกว่า 1,000 ล้านชิ้น ที่ใช้ในการผลิตของเล่นในชุด Happy Meal ภายในปี 2025 โดยจะหันมาใช้พลาสติกรีไซเคิลหรือพลาสติกที่เป็นแพลนต์เบส (Plant-Based)  ซึ่งจะทำให้บริษัทลดการใช้พลาสติกลงได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2018

ไม่เพียงเท่านั้น แมคโดนัลด์ยังมีการเปิดตัวเมนูเบอร์เกอร์แพลนต์เบส ซึ่งนอกจากจะเป็นทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้ไม่บริโภคเนื้อสัตว์แล้ว ก็ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์มปศุสัตว์อีกด้วย 

โดยมีงานศึกษาทางวิชาการชิ้นหนึ่งค้นพบว่า การผลิตอาหาร ซึ่งรวมถึงผลกระทบจากการถางที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า การใช้ปุ๋ยและการปศุสัตว์ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อวัว วัตถุดิบหลักของแมคโดนัลด์ เป็นตัวทำลายสภาพอากาศที่สำคัญ เพราะการเลี้ยงวัวต้องการพื้นที่มากกว่าการเลี้ยงไก่หรือหมูประมาณ 28 เท่า ปุ๋ยมากกว่า 6 เท่า และน้ำมากกว่า 11 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมากๆ

ดังนั้น การที่บริษัทหันมาจำหน่ายเบอร์เกอร์ที่ทำมาจากโปรตีนถั่ว จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มหาศาล เนื่องจากใช้ทรัพยากรน้ำและที่ดินน้อยกว่าเบอร์เกอร์แบบดั้งเดิมมาก 

สิ่งที่บริษัทให้ความใส่ใจไม่แพ้กันก็คือ ตัวอาคาร ในทศวรรษที่ผ่านมา แมคโดนัลด์ได้เปิดตัวร้านอาหารที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ตั้งแต่โครงสร้างของอาคารและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง 

แมคโดนัลด์สาขาหนึ่งในเมืองริเวอร์ไซด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นอาคารเดียวในฝั่งตะวันตกของมิสซิสซิปปีที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจาก LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งก็คือระบบการให้คะแนนอาคารสีเขียวที่แพร่หลายมากที่สุดในโลก จากอเมริกา โดยอาคารที่ได้รับการรับรองนั้นจะต้องแสดงถึงความยั่งยืน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

ในการที่จะได้รับรางวัลเหรียญทองนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างร้านหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์ที่ทำมาจากอุปกรณ์รีไซเคิล การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่หลังคา การลดปริมาณหม้อทอดเพื่อลดการใช้น้ำมัน รวมไปถึงการตกแต่งผนังห้องน้ำด้วยผ้ายีนส์ที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร และล่าสุด ร้านสาขาหนึ่งในชิคาโกก็ได้รับรางวัลแพลตินัมจาก LEED ซึ่งแสดงถึงความใส่ใจสิ่งแวดล้อมของแมคโดนัลด์มากยิ่งขึ้นไปอีก

ยิ่งไปกว่านั้น แมคโดนัลด์ได้เปิดตัวร้านต้นแบบที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั้งในด้านของการก่อสร้างอาคารและการดำเนินงานในแต่ละวัน โดยร้านนี้ตั้งอยู่ที่ Market Drayton ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นสาขาแรกที่ได้รับการตรวจสอบว่าเป็นอาคารปลอดคาร์บอน โดย UGBC (UK Green Building Council) องค์กรที่ทำงานคล้ายกับ LEED นั่นเอง

นวัตกรรมที่สาขานี้ใช้ จะต้องมั่นใจได้ว่ามีความยั่งยืนและยังคงความเป็นแมคโดนัลด์อยู่ เนื่องจากจะต้องเป็นต้นแบบให้กับสาขาอื่นๆ อีกกว่า 1,400 สาขาทั่วทั้งเกาะอังกฤษและไอร์แลนด์ ดังนั้น สิ่งที่ร้านใช้ล้วนมาจากวัสดุเหลือทิ้งจำนวนมากและสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ยกตัวอย่างเช่น ป้ายติดผนังที่ทำมาจากกากกาแฟ พื้นช่องทาง Drive-Thru ที่ทำมาจากยางรถยนต์ ผนังหุ้มด้วยขนแกะ การใช้พลังงานหมุนเวียนจากกังหันลมและการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น โดยทางบริษัทวางแผนว่าจะมีการนำแนวทางการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และนวัตกรรมใหม่นี้ไปปรับใช้กับร้านทั้งหมดภายในปี 2030  

ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้หลายบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มมีการตื่นตัวและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อช่วยโลกกันแล้ว ดังนั้นคงถึงเวลาแล้วที่เราเองต้องหันมาให้ความสนใจกับประเด็นนี้อย่างจริงจังเช่นกัน เพราะโลกมีใบเดียวและมันคือบ้านของเราทุกคน ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาโลก แล้วใครจะทำกัน 

 

อ้างอิง: