2 Min

เพื่อทดสอบว่าทนจริงๆ วิศกร G-Shock ได้โยนนาฬิการุ่นต้นแบบออกจากตึกมากกว่า 200 เรือน

2 Min
238 Views
08 Jan 2024

1 – G-Shock เป็นหนึ่งในโมเดลนาฬิกาที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์การบอกเวลา ถือเป็นสินทรัพย์มูลค่าสูงที่สุดของอาณาจักร Casio ทุกวันนี้ยังคงเติบโตอยู่ตลอด และมียอดขายทะลุ 100 ล้านเรือนไปตั้งแต่ปี 2017 

แม้ยอดจะตกไปบ้างในช่วงโควิด-19 ระบาด (ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้) แต่ผู้ผลิตก็ยังคงพัฒนา G-Shock รุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมท้าทายตลาดที่มีคู่แข่งกลุ่ม Smartwatch เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่ง ด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประกอบเสริมเพิ่มฟังก์ชัน

แต่หนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ G-Shock ยังคงได้รับความนิยม กลับเป็นคุณสมบัติพื้นฐานเรื่องความ ‘ทน’ อันเป็นสารตั้งต้นการออกแบบของวิศวกรคนหนึ่งในบริษัทที่อยากสร้าง ‘นาฬิกาที่ไม่มีวันพัง’ ขึ้นมาให้สำเร็จ

2 – เรื่องราวมันเกิดขึ้นในวันที่ ‘คิคุโอะ ไอเบะ’ (Kikuo Ibe) วิศวกรคนหนึ่งของ Casio เผลอทำนาฬิกาที่เขาใส่มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมหล่น จนส่วนประกอบต่างๆ แตกกระจัดกระจาย ไม่สามารถนำกลับมาซ่อมแซมได้

สำหรับไอเบะ นาฬิกาเรือนนั้นมีความสำคัญกับชีวิตเขามาก เพราะเป็นมรดกครอบครัวที่พ่อส่งต่อให้กับลูก เขาใส่มันมาตลอดตั้งแต่เป็นวัยรุ่น จนเรียนจบเข้าทำงาน มันมีคุณค่าทางจิตใจจนไม่อาจหานาฬิกาเรือนใดมาเทียบแทน 

ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์เสียดาย เศร้าโศก หรือแค้นเคือง ไอเบะตัดสินใจเดินเข้าหาฝ่ายบริหารของ Casio ขออนุญาตออกแบบนาฬิการุ่นฉีกขนบดีไซน์เล็กเฉียบบางและเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น มาทำนาฬิกาที่เน้นศักยภาพเรื่องความทนทานแทน 

3 –  ไอเบะตั้งทีมร่วมกับเพื่อนอีกสองคน โดยตั้งโจทย์ว่าจะต้องทำนาฬิกาที่ไม่มีวันพังออกมาให้ได้ และวิธีแรกที่นำมาใช้ทดสอบก็คือการโยนนาฬิกาลงมาจากที่สูง แล้วมาดูว่ามันจะพังเหมือนกับเรือนที่เขาเสียไปไหม 

นับเป็นจำนวนมากกว่า 200 เรือน ที่ G-Shock รุ่นต้นแบบ ถูกโยนออกจากหน้าต่างห้องน้ำสำนักงานซ้ำๆ เพื่อพิสูจน์ผลลัพธ์ แต่แทบจะทั้งหมดพบกับความล้มเหลว ถ้าตัวเรือนไม่พังก็เป็นกลไกข้างในเสียหายแทน

จนแล้วจนรอด เรื่องราวมาถึงบางอ้อในวันที่ไอเบะไปเห็นเด็กผู้หญิงกำลังเล่นลูกบอลเด้งดึ๋งในสวนสาธารณะ ไอเดียจึงมาบรรจบที่ว่ามันต้องสร้างระบบดูดซับแรงกระแทก หรือก็คือการนำยางมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของนาฬิกา 

เพียงเท่านั้น นาฬิกา G-Shock ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลก 

โดยตัว G มาจาก Gravity (แรงโน้มถ่วง) ส่วน Shock ก็คือแรงกระแทก ทั้งสองคำถูกนำมารวมกันเป็นชื่อเพื่อสื่อความหมายถึง นาฬิกาที่ทนต่อแรงกระแทก

อย่างไรก็ตาม สารตั้งต้นของ G-Shock หาได้มีเพียงความแข็งแกร่ง แต่ยังประกอบด้วยคุณสมบัติพิเศษอีก 2 ประการ คือ ความสามารถในการกันน้ำลึก 10 เมตร แบตเตอรี่ต้องมีอายุการใช้งานนาน 10 ปี ที่ขึ้นชื่อลือชาตามมา

4 – น่าเสียดายที่ G-Shock รุ่นแรกไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก เพราะตัวเรือนมีขนาดใหญ่ ค่อนข้างแปลกจากสินค้าในท้องตลาด และขัดจารีตนิยมของผู้คนที่ชื่นชอบนาฬิกาเรือนเล็กบางเฉียบ แต่ก็มีสัญญาณบวกจากกลุ่มคนงานก่อสร้าง ทหาร ตำรวจ ที่ถูกใจศักยภาพเรื่องความทนทานนี้ 

กระทั่งแฟชั่นการสวมใส่เสื้อผ้าหลวมโพรกกลายเป็นกระแสในหมู่วัยรุ่น อะไรใหญ่ๆ อย่าง G-Shock ก็ได้รับความนิยมควบคู่ไปโดยปริยาย ส่งให้ชื่อของ G-Shock กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และกลายเป็นแฟชั่นชั้นนำที่ขจรไกลไปทั่วโลก

ปัจจุบัน G-Shock ถูกพัฒนาและผลิตมาเกินกว่า 5,600 รุ่น บางรุ่นเป็นงานลิมิเต็ด แม้จะเป็นของหายากมีราคาสูง แต่คอลเลกเตอร์ต่างก็ล้วนขวนขวายให้ได้มา ยิ่งส่งเสริมมูลค่าของแบรนด์ขึ้นไปอีก

และการทดสอบความทนทานในระยะหลัง ก็ผ่านการคัดกรองคุณภาพด้วยวิธีการที่หลากหลายมากขึ้นในห้องวิจัย โดยไม่ต้องโยนนาฬิกาออกจากหน้าต่างสำนักงานอีกต่อไป

 

อ้างอิง:

I threw more than 200 prototypes out of a bathroom window https://shorturl.asia/1YlbU