Cafe Amazon กาแฟที่ขายได้วันละล้านแก้ว เพราะการเข้าถึงได้ง่ายกว่า 4,000 สาขา
ยอดขายของกาแฟ Cafe Amazon ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 รวมทั้งหมด 99,000,000 แก้ว เฉลี่ยคือขายได้วันละ 1,088,000 แก้ว ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา 8,000,000 แก้ว
แม้ธุรกิจกาแฟจะมีการแข่งขันสูง ร้านค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายกว่าดอกเห็ดในฤดูฝน แต่ดูเหมือนความนิยมต่อ ‘Cafe Amazon’ ก็ยังคงครองความเป็นผู้นำอยู่ตลอด เห็นได้ชัดจากการรักษาปริมาณการขายได้ในระดับวันละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านแก้วมาอย่างเหนียวแน่น
ซึ่งล่าสุด บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ได้รายงานยอดขายของ Cafe Amazon ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มียอดขายรวมทั้งหมด 99,000,000 แก้ว จากในประเทศไทย ญี่ปุ่น โอมาน เมียนมา มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย
หรือเฉลี่ยเท่ากับว่าขายได้วันละ 1,088,000 แก้ว มากกว่าปีที่ผ่านมา (ในช่วงเวลาเดียวกัน) 8,000,000 แก้ว (ไตรมาส 1 ปี 2566 ขายได้ 91,000,000 แก้ว)
ปัจจุบัน Cafe Amazon มีจำนวนสาขาทั้งหมด 4,221 สาขา เพิ่มขึ้น 40 สาขา จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นสาขาในประเทศไทย 4,196 สาขา (อยู่ในสถานีบริการ 2,248 สาขา และนอกสถานีบริการ 1,948 สาขา) และสาขาในต่างประเทศ 25 สาขา (ญี่ปุ่น โอมาน เมียนมา มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย)
ย้อนกลับไป Cafe Amazon เปิดตัวสาขาแรกในปี 2545 โดยเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ในสถานีบริการน้ำมัน สาขาศรีเจริญภัณฑ์ วิภาวดีรังสิต
ไอเดียแรกเริ่มนั้นมาจาก ผู้บริหาร ปตท. ต้องการปรับปรุงปั๊มน้ำมันให้เป็นศูนย์การค้าเปิดขนาดย่อม โดยการนำร้านค้าปลีกอย่าง 7-11 เข้าไปเปิด ตามด้วยการทำร้านกาแฟของตัวเอง ด้วยแบรนด์ที่อยากให้คนจดจำได้ง่าย
ซึ่งในยุคนั้นหากพูดถึงกาแฟ ส่วนมากจะพากันนึกถึงประเทศบราซิล ต้นตำรับกาแฟและเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงเชื่อมโยงไปยังเรื่องที่บราซิลมีป่าอเมซอนอันเป็นชื่อที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันดีและจดจำได้ง่าย จึงตั้งชื่อและสร้างแบรนด์ ‘คาเฟ่อเมซอน’ (Café Amazon) ขึ้นมาให้เป็นคอนเซ็ปต์ร้านกาแฟแนวธรรมชาติ มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบายด้วยร่มไม้และน้ำล้อมรอบ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของนักเดินทาง
จากสาขาแรก คาเฟ่อเมซอนค่อยๆ เติบโตและขยายสาขา จนในปี 2547-2550 เริ่มมีกว่า 200 สาขาทั่วประเทศ ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน
และนับจากปี 2555 เป็นต้นมา คาเฟ่อเมซอนก็ได้สยายปีกออกไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มต้นที่ประเทศลาว จากนั้นก็ขยับไปยังกัมพูชา (ที่กัมพูชาเรียกคาเฟ่อเมซอนว่า ‘กาแฟนกแก้วไทยแลนด์’) ฟิลิปปินส์ เมียนมา ญี่ปุ่น เรื่อยมาถึงโอมาน สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน และเวียดนาม
และยิ่งขยายสาขามากเท่าไหร่ คาเฟ่อเมซอนก็ยิ่งเป็นผู้นำในตลาดกาแฟมากเท่านั้น โดยการขยายสาขาแต่ละครั้ง แบรนด์จะให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘ทำเล’ ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะในสถานีบริการน้ำมัน และทำเลต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่ย่านที่พักอาศัย ชุมชน อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถานีรถไฟฟ้า ทั้งในถนนสายหลักและสายรอง
สิ่งสำคัญต่อมา คาเฟ่อเมซอนยังพัฒนาร้านให้มีความหลากหลาย ทั้งโมเดลร้านภายในอาคารสำนักงาน ร้านภายในห้างสรรพสินค้า หรือร้าน Stand Alone ไปจนถึงร้านขนาดเล็กตามสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งการมีหลากหลายรูปแบบร้าน ทำให้สามารถเข้ากับทำเลที่จะเปิดสาขาและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละไลฟ์สไตล์
ยิ่งขยายสาขามากก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าให้เข้าถึงได้ง่าย ไม่นับว่ายังสั่งผ่านทาง Café Amazon application ก็ยิ่งเพิ่มความเข้าถึงให้ง่ายมากยิ่งขึ้น
แต่เหนืออื่นใด ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากความสะดวกสบายแล้ว รสชาติที่คงมาตรฐานก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ใครต่อใครติดใจกาแฟแบรนด์นี้ และเป็นส่วนหนึ่งใน 99 ล้านแก้ว ในตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา