2 Min

ดูโซเชียลอย่างไรไม่ให้ถูก AI หลอก? รวมวิธี ‘เช็กก่อนแชร์’ ว่าอันไหนภาพจริงหรือแค่ AI ทำ

2 Min
9 Views
14 Jul 2025

ทุกวันนี้เลื่อนดูโซเชียลมีเดียทีไรก็มักจะเจอแต่รูปเนียนๆ บางครั้งก็ดูเพอร์เฟกต์จนน่าสงสัย ทั้งหน้าสวยผิวฉ่ำ วิวอลัง หรือแม้กระทั่งข่าวดราม่าที่มาพร้อมภาพชัดแจ๋ว จนบางคนหลงเชื่อและแชร์กันว่อนอินเทอร์เน็ต โดยที่ไม่รู้เลยว่าภาพที่เราเห็นแท้จริงเป็นเพียงภาพที่ถูกสร้างจาก AI จนตอนนี้บนโซเชียลมีเดียเริ่มกลายเป็นพื้นที่ที่ใครหลายคนอาจเริ่มกังวลหรือรู้สึกกลัวถูก AI หลอกขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ BrandThink จึงอยากพาทุกคนไป ‘เช็กก่อนแชร์’ ให้แน่ใจว่าภาพหรือคลิปวิดีโอที่เราเห็นบนโซเชียลไม่ใช่สิ่งที่ AI สร้างขึ้นมา โดยคุณสามารถสังเกตสิ่งที่ AI สร้าง ด้วยวิธีดังนี้

1. สังเกตรายละเอียดรูปร่าง อวัยวะบางอย่างที่หายไปหรือวางผิดตำแหน่ง
ในการสร้างภาพวิดีโอของ AI บางครั้งแม้ดูสวยงาม สมจริง แต่ก็มักจะมีจุดเล็กๆ ที่ AI ทำพลาดได้ เช่น ในรูปภาพเป็นคน แต่มีนิ้วมือ 6 นิ้ว ใบหน้ายิ้มแต่ตาเศร้า แขนขายาวหรือสั้นกว่าปกติ

ในส่วนของวิดีโอคุณสามารถสังเกตการกะพริบตาที่ปกติมนุษย์จะมีการกะพริบตาบ่อยๆ และมีการขยับแขนขาตามสิ่งที่กำลังทำอยู่ ถ้าหากดวงตาในวิดีโอดูนิ่งไม่ขยับหรือกะพริบ แขนขาก็ไม่ได้ขยับตามอิริยาบถนั้น ก็ให้คุณเอะใจได้เลยว่าภาพหรือวิดีโอที่คุณเห็นอาจเป็นสิ่งที่ AI ทำ

2. สังเกตแสงเงาและพื้นผิวที่ดูเรียบเนียนเกินจริง
โดยปกติ AI มักจะทำให้แสงเงาและพื้นผิวดูเรียบเนียนเกินจริง ซึ่งคุณสามารถสังเกตแสงเงาได้จากการดูทิศทางเงา โดยหากเป็นสิ่งที่ AI ทำแสงเงาจะมีลักษณะทิศทางไม่สมเหตุสมผล หรือไม่มีแสงเงาเลย

และในส่วนของพื้นผิวให้คุณสังเกต ผิวหน้า ผิวตัว ผิวเสื้อผ้า หรือผิวพื้นหลัง ว่าดูเรียบเนียนจนคล้ายพลาสติก หรือดูวาวแปลกๆ หรือเปล่า โดยหากคุณเห็นว่าภาพหรือคลิปวิดีโอดูเนียนและแวววาวเกินจริง ก็ให้คุณสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าภาพที่คุณเห็นอาจเป็นภาพจาก AI

3. สังเกตข้อความลายน้ำ หรือโลโก้ที่ดูแปลกตา
หากคุณต้องการเช็ก AI เพิ่มเติมคุณสามารถสังเกตข้อความ ป้ายชื่อร้าน หรือลายน้ำในภาพว่ามีการวางสลับกันไปมาจนคุณอ่านไม่ออก หรือเป็นตัวหนังสือที่เขียนมั่วๆ ไม่เป็นตัวอักษรหรือเปล่า ซึ่งถ้าหากคุณเห็นว่ามันดูวางมั่ว ไม่เป็นคำ ให้คุณระวังการถูก AI หลอกได้เลยเพราะ AI มักจะมีการเรียงตัวอักษรไม่เป็นคำหรือผิดไวยากรณ์จนคุณไม่สามารถอ่านได้ 

อย่างไรก็ดี หากคุณได้ลองเช็กแล้วแต่ยังไม่แน่ใจ คุณสามารถใช้วิธีการนำภาพไปค้นหาย้อนกลับ (Reverse Image Search) เพื่อตรวจเช็กอีกครั้งใน Google Images หรือ TinEye เพื่อดูว่าภาพต้นทางมาจากไหน เคยถูกใช้ที่ไหนมาก่อนบ้าง ซึ่งถ้าค้นแล้วเจอว่าเป็นภาพจากเว็บสร้าง AI หรือเจอซ้ำในหลายเว็บไซต์ที่ไม่ใช่สื่อที่เชื่อถือได้ ก็อาจเป็นสัญญาณว่าภาพนั้นไม่ใช่เรื่องจริง หรือในอีกวิธีคือการใช้ AI Detector เครื่องมือตรวจสอบในเว็บไซต์ที่สามารถช่วยตรวจสอบว่าไฟล์ภาพหรือวิดีโอนั้นถูกสร้างโดย AI หรือไม่

ดังนั้นท้ายที่สุด ไม่ว่าจะรูปภาพ ข่าว หรือคลิปวิดีโอจะดูสมจริงแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่มั่นใจจริงก็อย่าเพิ่งรีบแชร์ออกไป เพราะทุกครั้งที่เรากดแชร์สิ่งที่ไม่จริงก็ยิ่งถูกส่งต่อและขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด คุณก็สามารถลองสังเกต AI ด้วยวิธีข้างต้นให้แน่ใจก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพื่อให้ตัวเราและคนรอบข้างได้ปลอดภัยจากการถูก AI หลอก แถมยังช่วยให้โลกโซเชียลมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อ้างอิง: