ในวัฒนธรรมอาหารและการบำบัดน้ำผึ้งถูกจัดให้เป็นยาอายุวัฒนะและเป็นความหวานบริสุทธิ์อย่างแรกๆที่มนุษยชาติได้รู้จักเพราะมันเป็นรสหวานที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการใดๆที่ต้องพึ่งพาน้ำมือมนุษย์เลย
ความหวานบริสุทธิ์ที่ว่านี้ มีกรรมวิธีการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน เริ่มต้นจากการที่ผึ้งงานผู้มีหน้าที่ออกหาน้ำหวานจะบินออกไปเก็บน้ำหวานดอกไม้ ผึ้งแต่ละชนิดมีรัศมีและระดับความสูงในการออกหาน้ำหวานต่างกัน เพราะฉะนั้นมันจึงได้น้ำหวานจากดอกไม้ต่างชนิดกัน และให้น้ำผึ้งที่มีรสชาติต่างกันไปด้วย หลังจากเจอน้ำหวานแล้ว ผึ้งจะเก็บน้ำหวานไว้ในกระเพาะพิเศษที่เรียกว่ากระเพาะน้ำผึ้ง (Honey Stomach หรือ Crop) ซึ่งเป็นกระเพาะที่แยกต่างหาก ไม่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ดังนั้นน้ำหวานเหล่านี้จึงจะไม่ปนเปื้อนกับอาหารในตัวผึ้งอย่างแน่นอน
หลังจากเก็บน้ำหวานได้แล้ว ผึ้งที่ทำหน้าที่หาอาหารก็จะบินกลับมาที่รังแล้ว ‘สำรอก’ เอาน้ำหวานในกระเพาะน้ำผึ้งออก ถ่ายเทลงไปในปากของผึ้งอีกตัวที่ทำหน้าที่เก็บรักษาน้ำผึ้ง ก่อนที่มันจะสำรอกน้ำผึ้งส่งต่อๆ ไปยังผึ้งตัวสุดท้ายที่ทำหน้าที่บรรจุน้ำผึ้งลงในรังผึ้ง แล้วปิดรูที่มีน้ำผึ้งบรรจุอยู่เต็มด้วยไขผึ้งให้สนิท เพื่อเก็บเป็นเสบียงสำหรับผึ้งทั้งรังในช่วงฤดูหนาว
ดังนั้นถ้าเรานับว่าการสำรอกอะไรสักอย่างกลับออกมาทางปากหมายถึงการอ้วกล่ะก็ น้ำผึ้งก็คืออ้วกของผึ้งที่อ้วกส่งต่อกันเป็นทอดๆ หลายๆ ตัวมารวมกันนั่นแหละ (แต่มันก็ถือว่าเป็นอ้วกที่รสชาติดีทีเดียวนะ)
นอกจากการอ้วกไปอ้วกมาจะช่วยให้เหล่าผึ้งสามารถสร้างระบบจัดเก็บอาหารที่มีประสิทธิภาพได้แล้ว ในกระเพาะน้ำผึ้งของผึ้งแต่ละตัวยังเป็นแหล่งผลิตและส่งต่อเอนไซม์สำคัญที่ช่วยเปลี่ยนองค์ประกอบของน้ำหวานให้ข้นหนืดขึ้นได้ เอนไซม์เหล่านี้เองเชื่อว่าเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้น้ำผึ้งเป็น ‘อาหารที่มีชีวิต’ ซึ่งดีต่อสุขภาพของมนุษย์
นอกจากเอนไซม์แล้ว การสำรอกน้ำหวานแบบปากต่อปาก เปลี่ยนจากกระเพาะผึ้งตัวนี้ไปกระเพาะผึ้งตัวโน้น ยังทำให้ค่า pH ของน้ำผึ้งอยู่ในระดับที่เก็บรักษาไว้ได้นาน เพราะไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียตัวร้ายที่จะทำให้อาหารเน่าเสีย น้ำผึ้งที่ถูกเก็บไว้ในรังแล้วปิดตายด้วยไขผึ้งจึงถือเป็นอาหารที่มีอายุเป็นอมตะ ไม่ว่าจะเก็บไว้นานแค่ไหนก็ไม่มีวันเสีย (แต่ก็อาจจะมีรสชาติที่เปลี่ยนไปได้ โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดกระบวนการหมักขึ้นตามธรรมชาติ)
นอกจากเอมไซม์จากกระเพาะผึ้งและค่า pH ที่ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดเลวแล้ว น้ำผึ้งยังมีคุณสมบัติเป็นอมตะเพราะมีความชื้นอยู่น้อย ซึ่งก็เป็นคุณูปการจากเหล่าผึ้งตัวจิ๋วที่จะช่วยกัน ‘กระพือปีก’ เพื่อไล่ความชื้นออกจากน้ำผึ้งให้เหลือน้อยที่สุด คืออยู่ที่ประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น เหล่าผึ้งจะมีสัญชาตญาณในการ QC หรือตรวจสอบคุณภาพน้ำผึ้งที่แม่นยำมาก เพราะโดยธรรมชาติแล้วน้ำผึ้งก็คือคลังอาหารสำรองสำหรับผึ้งทั้งรัง มันจึงต้องอยู่ในสภาพที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้นั่นเอง
และแน่นอนว่ามนุษย์ก็ได้ใช้ประโยชน์จากคลังอาหารของผึ้งด้วยเช่นกัน โดยน้ำผึ้งที่ถูกเก็บเกี่ยวและบรรจุอย่างเป็นมาตรฐาน ปิดผนึกแน่นหนาแบบไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไปในบรรจุภัณฑ์ได้ ก็จะมีอายุแทบจะเป็นอมตะเช่นเดียวกับน้ำผึ้งที่ถูกเก็บรักษาไว้ในรังที่ปิดผนึกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และโภชนศาสตร์ก็ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงใหม่แล้วว่า น้ำผึ้งไม่ใช่อาหารที่บริสุทธิ์และปลอดภัยเสมอไป แม้จะถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีก็ยังเกิดการปนเปื้อนได้ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดียมโบทูลินัม (Clostridium botulinum) ที่เป็นอันตรายกับเด็กทารก ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปีกินอาหารที่มีน้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบโดยสิ้นเชิง ส่วนในวัยผู้ใหญ่ เชื้อที่ว่านี้จะถูกกำจัดออกไปจากร่างกายได้ก่อนที่มันจะเพิ่มจำนวนจนเป็นพิษ ดังนั้นจึงสามารถบริโภคได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่ก็ควรบริโภคแต่พอดี เพราะยังไงน้ำผึ้งก็ยังถือว่าเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพได้ไม่ต่างจากน้ำตาลสังเคราะห์อื่นๆ เลย
อ้างอิง
- Huff Post. FYI, Honey Is Basically Bee Vomit But you probably should have known that already. http://bit.ly/3XrScsN
- NHS. Foods to avoid giving babies and young children. http://bit.ly/3GIuCSx