รู้ไหม ก่อนจะเป็นสีน้ำเงิน “สีฟ้า” คือสีของชนชั้นสูงมาแต่โบราณ?

3 Min
4888 Views
20 Apr 2021

ในทางมานุษยวิทยาภาษานั้น “การแบ่งสี” นั้นเป็นประเด็นศึกษาเชิงเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมเสมอ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในแต่ละวัฒนธรรมมีคำเรียกสีไม่เหมือนกัน กล่าวคือมันไม่ใช่เรื่อง “ธรรมชาติ” เลยที่ระบบการแบ่งสีของมนุษย์จะเหมือนกันทั้งโลก

และสีเจ้าปัญหาที่สุดคือ “สีฟ้า” (blue) ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังพบว่าในหลายๆ ชนเผ่า ไม่มีคำเรียกสีฟ้า

และถ้าเราขุดลึกลงไปอีก จะพบว่า “สีฟ้า” เป็นสีที่หายากมากๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่แทบไม่ปรากฏในธรรมชาติ

ก่อนจะมีคำว่า “สีฟ้า”

โดยพื้นฐานมนุษย์จะมีคำเรียกสีตามสิ่งที่เห็นในธรรมชาติ และคำแรกๆ ที่เกิดก็คือสีขาวกับดำ สีที่ตามมาก็คือสีแดงที่เป็นสีของเลือด สีเหลือง สีเขียวที่เป็นสีของพืชต่างๆ ในธรรมชาติ

แต่มี “สีฟ้า” นี่แหละที่ไม่มีตามธรรมชาติ ไม่มีดอกไม้อะไร “สีฟ้า” ในธรรมชาติ และก็ไม่มีสัตว์อะไรที่ “สีฟ้า” เช่นกัน

ส่วน “ท้องฟ้า” หรือ “ท้องทะเล” น่ะเหรอ มีการบันทึกชัดเจนว่าคนสมัยโบราณไม่ได้มองเห็นมันเป็น “สีฟ้า” เช่นในบทประพันธ์คลาสสิกของโฮเมอร์ในยุคกรีกโบราณ มีการกล่าวถึงสีขาวและดำบ่อยมาก มีกล่าวถึงสีแดงและเหลืองประปราย แต่สิ่งที่ไม่ปรากฏเลยคือ “สีฟ้า”

และถ้าไปดูข้อเขียนในยุคเดียวกัน ก็จะพบเลยว่า “สีฟ้า” เป็นสิ่งที่ไม่มีในสารบบ และ “ท้องฟ้า” และ “ท้องทะเล” จะถูกบรรยายเป็นสี “เหล็ก” และ “ทองแดง” มากกว่า

คือ “สีฟ้า” ไม่ใช่สีในสารบบของคนทั่วๆ ไป ดังนั้นมันเลยไม่มีคำเรียก และเอาจริงๆ อารยธรรมแรกๆ ที่สร้าง “สีฟ้า” ขึ้นมาได้คืออารยธรรมอียิปต์โบราณราวๆ 6,000 ปีก่อน และเทคนิคการผลิตสีแบบนี้ก็เลยเริ่มพัฒนามาตั้งแต่นั้น

ทั้งนี้ สีที่ “ผิดธรรมชาติ” นี้ก็แพงมากๆ ในการจะสร้าง และทำให้มันถูกจำกัดใช้อยู่แต่ในรั้วในวังหลายพันปี และนี่ก็เลยเป็นเหตุผลว่า “สีฟ้า” เลยเป็นสีของ “ชนชั้นสูง” มาจนถึงปัจจุบัน และก็เนื่องจากมันไม่ใช่สีที่คนทั่วๆ ไปจะเห็นได้บ่อย ดังนั้นมันก็เลยไม่มีคำเรียกสีนี้มาอย่างยาวนาน

ถามว่า ถ้าไม่มีคำเรียก แล้วเขาจะเรียก “สีฟ้า” นี้ว่าอะไร?

นักวิชาการยุคหลังค่อนข้างจะเห็นตรงกันว่า ก็น่าจะคล้ายๆ สังคมชนเผ่าบางสังคมที่ทุกวันนี้ก็ไม่มีคำว่า “สีฟ้า” และพวกเขาจะเห็น “สีฟ้า” เป็นเฉดหนึ่งของ “สีเขียว” และเรียกรวมเป็น “สีเขียว” ไปเลย

และความที่ “สีฟ้า” เป็นสีที่แพงมากๆ พวกจิตรกรในช่วงยุคกลางและสมัยใหม่ตอนต้นจะมีโอกาสใช้สีฟ้าได้ก็ต่อเมื่อพวกอภิชนที่อุปถัมภ์ซื้อให้เท่านั้น เรียกได้ว่าคนธรรมดาหมดสิทธิ์ และสีแบบนี้ก็จะถูกจำกัดไว้แต่ในรูปวาดที่สำคัญๆ เท่านั้น

หรืออีกนัยหนึ่งแล้ว “สีฟ้า” ถ้าไม่ได้อยู่บนเสื้อผ้าจริงๆ ของชนชั้นสูง มันก็จะไปปรากฏในรูปวาดที่แสดงถึงความหรูหราและยิ่งใหญ่ที่คนมีทรัพยากรเท่านั้นจะสร้างมันมาได้

ซึ่งเอาจริงๆ “ความแพง” ของ “สีฟ้า” ก็ขึ้นอยู่กับเฉดสีด้วย สีฟ้าแบบโคตรฟ้า ฝรั่งเขาจะมีคำเรียกว่าสี Ultramarine (คนไทยคงเห็นเป็นสี “น้ำเงิน”) และสีนี้แพงที่สุดในยุคเรเนซองส์ เนื่องจากต้องเอาหินหายากมาบดเพื่อให้ได้สีนี้ ซึ่งแพงขนาดไหน ก็เอาเป็นว่ายอดจิตรกรยุคนั้นอย่างไมเคิลแองเจโลไม่มีปัญญาจะซื้อมาใช้น่ะครับ

สี Ultramarine

สี Ultramarine | Wikipedia

และความแพงของสีฟ้านี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่คนยุโรปเจอ “ชามสังคโลก” ลาย “สีฟ้า” ของจีนแล้วตื่นเต้นมาก เพราะในยุโรป “สีฟ้า” แบบนี้แพงมาก แต่ในจีน กลับเอามาทำเป็นชามใช้กินข้าวกัน และมันก็เลยทำให้ “ชามสังคโลก” กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของจีนไปยังยุโรปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งแน่นอน คนมีปัญญาใช้ก็คือเหล่าชนชั้นสูงนี่เอง

จานสังคโลกของจีนช่วงศตวรรษที่ 14

จานสังคโลกของจีนช่วงศตวรรษที่ 14 | Wikipedia

“สีฟ้า” ของประชาชน

ในภาษายุโรป “สีฟ้า” เริ่มปรากฏในช่วงศตวรรษที่ 14 ก่อนมาเป็นคำที่ใช้ทั่วไปและสะกดว่า Blue แบบทุกวันนี้ในช่วงศตวรรษที่ 16

ซึ่งจริงๆ แล้วในช่วงนั้น “สีฟ้า” ถึงจะเป็นสีที่แพงมากๆ เวลาอยู่ในรูปวาดหรือถ้วยชาม แต่ในแง่ของ “สีย้อมผ้า” ช่วงนั้นมันเริ่มเป็นสีปกติแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ มีการพยายามพัฒนาเฉดสีใหม่ๆ ที่แพงขึ้น เช่น Indigo ซึ่งก็คือ “สีคราม” ในภาษาไทยนั่นเอง

Indigo เป็นสีที่เกิดจากการย้อมด้วยสีธรรมชาติจากพืช และแพร่หลายพอสมควรในเอเชีย (ในไทยเราก็จะเห็นการย้อมสีนี้จาก “เสื้อม่อฮ่อม”) แต่ในยุโรป เราไม่รู้จักสีนี้กัน และพอมีการค้าและรู้จักสีนี้ มันก็เลยกลายเป็นของแพงหายากในยุโรป ไม่ได้ต่างจากพวกชามสังคโลก หรือพูดอีกแบบ ถ้า “สีฟ้า” ธรรมดาเป็นของ “ชาวบ้าน” ไปแล้ว ชนชั้นสูงก็เลยหนีไปใช้ “สีฟ้า” เฉดใหม่ๆ ที่ชาวบ้านใช้ไม่ถึงเพื่อแสดงชนชั้น และการใช้ Indigo เพื่อแสดงชนชั้นก็ชัดมากในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ในยุโรป

ก้อนสีย้อม Indigo

ก้อนสีย้อม Indigo | Wikipedia

และพอมาถึงศตวรรษที่ 19 เมื่อวิทยาศาสตร์ในแขนงเคมีเฟื่องฟูสุดๆ สิ่งหนึ่งที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาอย่างบ้าระห่ำก็คือ “สีฟ้า” ที่สมัยก่อนต้องได้มาจากวัตถุดิบธรรมชาติราคาแพง พอมาในยุคนี้ หลายๆ สีที่เคยแพงระดับคนที่อยากจะใช้ไม่มีปัญญาใช้ ก็ล้วนสามารถจะสังเคราะห์ขึ้นมาได้ในห้องแล็บแล้ว

และมันก็มี “บริษัทสารเคมี” จำนวนมากพร้อมจะผลิตสารพัดสีที่เกิดใหม่ขึ้นมาป้อนเข้าสู่ตลาดให้ใครมีเงินก็ซื้อได้ตามวิถีสังคมทุนนิยมที่เริ่มชัดเจนยุคนั้น

และนับแต่นั้นเป็นต้นมา คนก็เลยเริ่มลืมไปว่า “สีฟ้า” นั้นเคยเป็นสีหายากของมนุษยชาติ ที่ในอดีต มีแต่คนในรั้วในวังเท่านั้นจะมีปัญญาเข้าถึง

อ้างอิง