‘ฟุโรชิกิ’ วัฒนธรรมโบราณของคนญี่ปุ่น ที่นำมาใช้ลดขยะพลาสติกในปัจจุบัน

3 Min
3203 Views
23 Jan 2021

ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสจนถึงช่วงปีใหม่ในแต่ละปี ถือเป็นช่วงเวลาที่ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ

สาเหตุใหญ่ๆ ของเรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะช่วงนี้จะมีการมอบของขวัญชิ้นพิเศษ หรือในบางแห่งก็จัดกิจกรรมจับฉลากกัน จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนาน

ทว่าทุกครั้งที่เรากำลังส่งต่อของขวัญหรือมอบความทรงจำดีๆ ผ่านช่วงเทศกาล จำนวนขยะก็เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นเพราะการซื้อของขวัญใส่ถุงพลาสติก จนมาถึงหีบห่อกระดาษที่ถูกฉีกแล้วทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์

ดีไซน์การห่อผ้าแบบฟุโรชิกิ

ดีไซน์การห่อผ้าแบบฟุโรชิกิ สามารถใช้ห่อสิ่งของได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งห่อนั้นเป็นอะไร l spoonflower

มีผลประมาณการว่า เฉพาะช่วงปีใหม่จะมี (ขยะพิเศษ) จากหีบห่อและถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นประมาณ 25% จากขยะปกติ และในบางสถิติระบุว่า เฉพาะริบบิ้นในอเมริกาประเทศเดียวที่ใช้ห่อของขวัญ หากนำต่อกัน จะยาวจนวนรอบโลกได้สบายๆ

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายและสิ้นหวังโดยสิ้นเชิง มนุษย์ยังมีวิธีที่ช่วยลดปัญหาปริมาณขยะอีกมากมาย และหนึ่งในกลวิธีที่ถูกพูดถึงกันมาก ก็คือการห่อผ้าที่เรียกว่า ‘ฟุโรชิกิ’ แทนการห่อของขวัญด้วยกระดาษมากสีสัน

ฟุโรชิกิ วัฒนธรรมการห่อด้วยผ้าแต่โบราณ

ฟุโรชิกิ เป็นวัฒนธรรมการห่อของด้วยผ้าของประเทศญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14

กล่าวกันว่าฟุโรชิกิเปรียบได้กับมืออีกข้างของคนญี่ปุ่นในสมัยโชวะ ทุกบ้านจะมีผ้าสำหรับห่อฟุโรชิกิเป็นของใช้ส่วนตัวในจำนวนมากผืนคละขนาด ใช้ห่อตั้งแต่สิ่งของชิ้นเล็กๆ ยันที่นอนหมอนมุ้ง ต่างหน้ากระเป๋าเดินทาง

ต้นกำเนิดแรกสุดมาจากวิถีการห่อเสื้อผ้าไปโรงอาบน้ำสาธารณะ ตามรากศัพท์ ‘ฟุโร’ (ห้องน้ำ) และ ‘ชิกิ’ (การวางแผ่ออกไป) หมายถึงการปูผ้าที่ห่อสิ่งของออกบนพื้นห้องอาบน้ำ

ในบริบททางสังคม การซื้อขายสินค้ากันระหว่างผู้คนหรือตามห้างร้านต่างก็นำกลวิธีห่อผ้านี้มาใช้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถถือสิ่งของกลับบ้านได้อย่างสะดวก

และความน่าสนใจอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมหรือศิลปะ (จะเรียกอย่างนี้ก็ได้) คือ การสามารถออกแบบรูปทรง ดีไซน์การมัด หรือจะสร้างสรรค์วิธีการห่อ ผูกโบ อย่างไรออกมาก็ได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าทางความงามและความมีรสนิยมให้กับผู้ถือในทางอ้อม

เพียงแต่ว่าในการห่อ ไม่ว่าจะห่อแบบใด ก็ต้องยึดหลักการใช้งานเป็นสำคัญ หัวใจคือต้องหยิบถือได้สะดวก ไม่ทำให้ข้าวของข้างในร่วงหล่นออกมาระหว่างเดินทางเป็นใช้ได้

ตัวอย่างการใช้ ‘ฟุโรชิกิ’ ห่อสิ่งของ

ตัวอย่างการใช้ ‘ฟุโรชิกิ’ ห่อสิ่งของ l Japan Ministry of the Environment

ซึ่งในช่วงเทศกาลสำคัญๆ คนญี่ปุ่นมักจะใช้ฟุโรชิกิห่อของขวัญแทนการใช้กระดาษสีสันวับวาวอย่างที่พวกเราคุ้นกัน

การกลับมาของฟุโรชิกิในโลกยุคใหม่

แต่ใดใดในโลกล้วนไม่จีรัง ในช่วงที่พลาสติกเข้ามาบทบาทต่อวิถีชีวิตผู้คน ฟุโรชิกิก็ไม่วายต้องพ่ายให้กับความสะดวกสบายของถุงสังเคราะห์

และอย่างที่ทราบกัน การสะสมของพลาสติกจากอดีตจนถึงตอนนี้ได้สร้างผลกระทบมหาศาล เป็นขยะที่จัดการยากยิ่ง แถมยังมากด้วยมลพิษตกค้าง

คนญี่ปุ่นเองก็ถูกจัดเป็นผู้สร้างขยะพลาสติกต่อหัวมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ด้วยการณ์นั้น ในปี 2006 รัฐบาลญี่ปุ่นที่มองเห็นปัญหาจึงตัดสินใจเสี่ยงดวงด้วยการฟื้นและเชิดชูศิลปะการห่อผ้าแบบฟุโรชิกิขึ้นมาต่อกรกับปัญหาขยะพลาสติก

พยายามปลุกปั้นสิ่งที่เคยพ่ายแพ้ให้กลับมาผงาดอีกครั้ง

และแน่นอนว่าญี่ปุ่นทำสำเร็จ

เหตุที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำสำเร็จ เพราะพวกเขามีทิศทางการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสรรค์ ไม่ได้บังคับหรือขอความร่วมมือ หรือเชิดชูวัฒนธรรมอนุรักษนิยมที่จำเป็นต้องสืบสาน

แต่รัฐบาลทำให้ฟุโรชิกิกลายเป็นแฟชั่นทันสมัย ไม่ใช่เรื่องเฉิ่มเชยของคนแก่ล้าหลัง

รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นเวลานั้น ยูริโกะ โคะอิเกะ (ผู้ว่าการกรุงโตเกียวในปัจจุบัน) ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับฟุโรชิกิ ด้วยการชวนดีไซเนอร์มาร่วมออกแบบลวดลายให้น่าสนใจ ไม่ดูโบร่ำโบราณจนคนรุ่นใหม่เมินหนี พยายามสร้างแคมเปญต่างๆ ออกมาจนเป็นที่น่าตื่นตา ทั้งมีการสอนเป็นเรื่องเป็นราวผ่าน youtube (บุกเบิกตั้งแต่ก่อนยุคที่มีกระแสอาชีพ youtuber เสียอีก)

ความนิยมในศิลปะการห่อผ้า

ความนิยมในศิลปะการห่อผ้า ทำให้ปัจจุบันมีการเปิดโรงเรียนสอนห่อผ้าโดยเฉพาะขึ้นหลายแห่ง l hiroshima-navi

ฟุโรชิกิ เทรนด์เก่าในโลกใหม่

ในปัจจุบันเราอาจคุ้นเคยกับแคมเปญเอาขยะพลาสติกมารีไซเคิลเป็นเสื้อยืด รองเท้า และสิ่งของนานา แต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ญี่ปุ่นก็เคยเอาพลาสติกมารีไซเคิลเป็นผ้าฟุโรชิกิอย่างผู้มาก่อนกาล

ปัจจุบัน ฟุโรชิกิยังเป็นที่นิยม มีการตั้งโรงเรียนและเปิดคอร์สสอนสม่ำเสมอ สามารถหาซื้อได้ทั่วไป หรือให้เข้ากับยุคสมัยหน่อย ก็มีร้านขายทางออนไลน์ให้เลือกคลิกกันอย่างง่ายดาย

กลายเป็นสิ่งของร่วมสมัยทั้งในแง่แฟชั่น และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตรงตามแนวคิดการ Reuse ไปในคราวเดียว

หากผู้อ่านกำลังมองหาวิธีการมอบของขวัญ (ไม่เฉพาะช่วงเทศกาล) ให้กับใครแล้วล่ะก็ ลองใช้วิธีนี้ดูสิ

นอกจากไม่สร้างขยะแล้ว ยังดูเก๋ไก๋อย่างมีสไตล์ในคราวเดียวกัน

อ้างอิง: