มือบอนกันมาตลอด? ‘คนยุคกลาง’ ชอบขีดเขียนแก้เบื่อในหนังสือ ไม่ต่างจากเด็กนักเรียนยุคปัจจุบัน

3 Min
1007 Views
15 Jul 2022

คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่จะพบร่องรอยการขีดเขียนในสมุดหรือหนังสือเรียนของนักเรียนในยุคปัจจุบัน 

แต่เราก็พบหลักฐานว่า พฤติกรรมมือบอนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แม้แต่น้อย เป็นเพราะมหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุโรปยังคงเก็บรักษาตำราเก่าแก่จากยุคกลางไว้เป็นจำนวนมาก และหลายสถาบันก็ได้นำภาพขีดเขียนในหนังสือโบราณออกมาเผยแพร่ให้สาธารณชนรับรู้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในหนังสือตำราจากยุคกลางจำนวนมากจะพบร่องรอยตั้งแต่การลากเส้นมั่วซั่วที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาหนังสือ ไปจนถึงรูปวาดล้อเลียนชวนขำขันที่ลงสีอย่างจริงจังเป็นภาพประกอบโดยไม่เกี่ยวกับเนื้อหาเช่นกัน 

ภาพวาดเล่นเหล่านี้ มักปรากฏในกระดาษแผ่นแรกและแผ่นสุดท้ายของหนังสือ ซึ่งเป็นหน้าที่คนคัดลอกคิดว่าจะไม่มีใครเห็น เพราะพวกเขาต้องใช้กาวติดกระดาษหน้าแรกและสุดท้ายเข้ากับปกหนังสือ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป กาวที่เคยปิดแน่นก็ค่อยๆ เสื่อมสภาพลง ร่องรอยขีดเขียนที่ถูกซ่อนไว้จึงค่อยๆ เผยออกมา แต่ก็มีภาพที่วาดในหน้ากระดาษที่ควรจะเว้นว่างเปล่า หรือวาดตามขอบหนังสือไม่น้อยเช่นกัน

ร่องรอยเหล่านี้มีตั้งแต่การทดลองปากกาโดยวาดตัวอักษรหรือสัญลักษณ์หนึ่งซ้ำไปซ้ำมา (ไม่ต่างอะไรกับการลองลายเซ็นในปัจจุบัน) ก่อนจะลงมือคัดลอกตำรา ไปจนถึงภาพวาดสัพเพเหระที่มีตัวละครหน้าตาแฟนตาซีเพ่นพ่าน 

ภาพออกแนวทะลึ่งก็มีไม่น้อย ซึ่งมีตั้งแต่รูปคนถอดกางเกงแล้วหันก้นหรือโชว์ของลับให้ หรือแม้แต่ภาพอวัยวะเพศชายโลดแล่นไปบนหน้ากระดาษราวกับสัตว์ชนิดหนึ่ง

เอกสารชิ้นหนึ่งจากช่วงยุค 1400 ของหอสมุดบอดเลียน (Bodleian Library) ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก็ปรากฏหน้ากระดาษที่เต็มไปด้วยภาพวาดเล่นเต็มไปหมด ทั้งใบหน้าคน ภาพคนต่างอิริยาบถ สิงสาราสัตว์ รูปทรงต่างๆ และตัวหนังสือขยุกขยุยไม่ต่างจากกระดาษทดในปัจจุบัน

นอกจากพฤติกรรมวาดรูปเล่นโดยนักคัดลอกหรือคนเขียนหนังสือแล้ว เรายังพบพฤติกรรมแบบเดียวกันในกลุ่มเด็กนักเรียนร่วมสมัยเช่นกัน

หน้ากระดาษหนังสือที่ใช้สอนเด็กจำนวนไม่น้อย ยังพบการขีดเขียนเล่นตามประสาเด็ก ลวดลายที่ออกมาก็ไม่ได้ต่างจากภาพที่เราพบเจอในหนังสือเรียนในปัจจุบันเท่าไรนัก 

ในหนังสือ Life of Our Lady ซึ่งเป็นหนังสือสอนใจเด็กสมัยกลางจากสกอตแลนด์ ยังปรากฏภาพวาดฝีมือเด็กเป็นรูปเรือใบลำใหญ่พร้อมเสากระโดงระโยงระยางเต็มไปหมด ในหน้าอื่นของหนังสือเล่มเดียวกัน ยังมีรอยปากกาเขียนทดลองกระดาษจนเต็ม สภาพไม่ต่างกับโพสต์อิทสำหรับทดลองเขียนที่พบได้ตามร้านเครื่องเขียน

หลายครั้งการวาดรูปเล่นก็ไม่ได้ทำโดยบุคคลเดียว ในหนังสือเกี่ยวกับดาราศาสตร์และโหราศาสตร์เล่มหนึ่งจากเมืองเนเปิลส์ ในยุค 1300 ก็ปรากฏภาพคนกำลังจูงวัว ตัวคนเป็นลายเส้นของเด็กอายุราว 4 ขวบ ในขณะที่วัวดูมีรายละเอียดซับซ้อนและมีมิติกว่า นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีเด็กโตกว่ามาช่วยเด็กเล็กวาดรูปนี้จนเสร็จ

นักประวัติศาสตร์ยุคกลางคาดว่า หนังสือเหล่านี้อาจถูกเขียนขึ้นจากเด็กที่เบื่อหน่ายกับการเรียนหนังสือในภาษาละติน บางเล่มก็เป็นหนังสือของผู้ใหญ่ที่เก็บไว้ไม่พ้นมือเด็ก จึงถูกละเลงหน้ากระดาษอย่างสนุกสนานตามประสาเด็ก

แล้วรูปภาพเหล่านี้มีความหมายหรือบอกอะไรเราได้หรือไม่ คำตอบอาจไม่แน่ชัด เพราะในหลายเคสเป็นการวาดเล่นแก้เบื่อโดยไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา และกระดาษในยุคกลางถือเป็นสิ่งมีค่า การลองปากกาในหน้ากระดาษที่ต้องปิดผนึกก่อนจะลงมือเขียนจริงจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ และนักคัดลอกจำนวนไม่น้อยก็ชอบเล่นสนุกกับรูปวาดในหนังสือ

แต่สิ่งที่แน่นอนคือ มนุษย์ไม่ได้มีนิสัยต่างไปจากเดิมเท่าไหร่ แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปมากก็ตาม

อ้างอิง