เกิดมาเป็นคนไทย ถ้าไม่เคยได้ยินคำว่า ‘ร่างทรง’ เลยสักครั้งน่าจะเป็นเรื่องแปลก
สังคมไทยอยู่คู่กับ ‘ความเชื่อ’ มาแต่โบราณกาล ร่างทรงก็เป็นหนึ่งในความเชื่อที่ยังเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน บ้างก็บอกว่านี่เป็นความเชื่อส่วนบุคคล บ้างก็นำมันไปต่อยอดจนกลายเป็นภาพยนตร์สยองขวัญทำเงินติดอันดับประเทศ และบ้างก็บอกว่านี่เป็นเพียงความ ‘งมงาย’
และรู้หรือไม่ว่า หนึ่งในคนที่เชื่อว่าร่างทรงเป็นเพียงเรื่องงมงาย ก็คือ ‘รัชกาลที่ 5’ หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านเชื่อว่า ร่างทรงเป็นตัวสร้างความวุ่นวาย จนถึงขั้นวางขื่อแปในบ้านเมือง สั่งห้ามไม่ให้มีการทรงร่าง และลงโทษแม้กระทั่งคนปล่อยบ้านให้สำนักร่างทรงเช่าอยู่
มันเกิดอะไรขึ้นในสมัยนั้นกันนะ?
ความเชื่อโบราณ
ร่างทรง เป็นสื่อหรือตัวกลาง (medium) ของอำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) ที่อาศัยชั่วคราวในการติดต่อสื่อสารกับมนุษย์หรือคนในชุมชน ร่างทรงสมัยเริ่มแรกเป็นผู้หญิงที่เป็นใหญ่ในพิธีกรรมทำหน้าที่เสมือนหัวหน้าเผ่าพันธุ์
ในหลักฐานทางโบราณคดี ที่บ้านโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี ก็มีการค้นพบโครงกระดูกเพศหญิงเรียก ‘เจ้าแม่โคกพนมดี’ ราว 3,000 ปีมาแล้ว โครงกระดูกประดับประดาด้วยลูกปัดเปลือกหอยราว 120,000 เม็ด ทั้งยังมีกำไลข้อมือ และเครื่องประดับศีรษะ กับของอีกนานัปการที่บ่งถึงฐานะศักดิ์สิทธิ์
ความเชื่อนั้นอยู่ยงจนถึงสมัยประมาณรัชกาลที่ 3 ที่ชนชั้นนำสยามเริ่มแสดงโลกทรรศน์ ที่สามารถแยกระหว่าง ‘ความจริง’ กับ ‘ความงมงาย’ ออกจากกันได้
เหตุทำนายไฟไหม้ประหลาด
วัฒนธรรมการทรงเจ้านั้นยังปรากฏในลัทธิเต๋า และแพร่หลายมากในชุมชนชาวจีนในประเทศไทยอย่างน้อยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือสมัยรัชกาลที่ 3
การทรงเจ้าในชุมชนชาวจีนนี้ ‘ลุกลาม’ ขึ้นเรื่อยจนกลายเป็นปัญหา โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่คำทำนายเรื่อง ‘ไฟไหม้’ ที่ดัน ‘แม่น’ หลายครั้งจนมีพิรุธ และกระทบต่อการปกครองในศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐ เช่น ในปี พ.ศ. 2446 เกิดคำพยากรณ์ว่าจะมีไฟไหม้ที่ตึกแถวบริเวณเสาชิงช้า ราษฎรบางรายถึงกับอพยพหลบหนี
“พวกที่อยู่แถวนั้นเล่ากันต่อๆ มาว่า โหรทูลเกล้าฯ ถวายคำทำนายว่า เพลิงจะไหม้อย่างใหญ่ที่ตำบลแถวถนนเสาชิงช้าในวันแรม 2 ค่ำ หรือ 3 ค่ำ จะไล่เอาตัวโหรผู้ทำนายหรือได้ความมาแต่ใครก็เอาตัวตนไม่ได้ เป็นแต่ชาวร้านพูดกันต่อๆ กันมา”
บทลงโทษความงมงาย
ท้ายที่สุด เพื่อจัดการกับปัญหาความกลัวที่มักมาพร้อมกับอัคคีภัย ทางการจึงสั่งห้ามการทรงเจ้า เพราะคิดว่าเป็นการแอบวางเพลิง
รัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงออกประกาศใน ร.ศ. 109 กล่าวว่า
“…น่าสงไสยพวกคนทรงที่ทรงเจ้าแลสมักพรรคพวก จะคิดอ่านให้คนนับถือบนบานเพื่อจะหาผลประโยชน ส่วนคนพาลอื่น ๆ เหนเปนช่องโอกาศที่จะขู่กรรโชกราษฎรให้ตกใจ ด้วยจะคิดหาผลประโยชนอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พลอยทำการโกหกว่า เจ้าลงทรงตัวบอกข่าวคราวราษฎรไปต่าง ๆ เมื่อกลัวจะมิสมคำดังว่า ก็คิดอ่านการทุจริตทิ้งไฟประกอบเหตุ”
หนึ่งปีถัดมา จึงได้สั่งเป็นประกาศกรมพระนครบาลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 110 เพื่อปราบปรามคนทรงเจ้า
“ (หาก) มีผู้นำเหตุมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานกรมพระนครบาลพิจารณาสอบสวนได้ความสมจริงแล้ว ผู้เปนคนทรงลงเจ้านั้นจะลงพระราชอาญาตามประกาศ…แลจะปรับเจ้าของตึกเจ้าของเรือนเจ้าของโรงผู้เปนเจ้าของที่ให้ทรงเจ้าเปนเงิน 20 บาท พระราชทานเปนรางวัลแก่ผู้มาแจ้งเหตุกึ่งหนึ่ง เปนพินัยหลวงกึ่งหนึ่ง ถ้าผู้ที่แจ้งเหตุนำเจ้าพนักงานเกาะตัวผู้เข้าทรงเจ้าได้ในขณะเข้าทรงลงเจ้านั้น จะพระราชทานเงินที่ปรับเจ้าของตึกเจ้าของเรือนเจ้าของโรง 20 บาทเปนรางวัลจงเต็ม”
สรุปได้ว่า ถ้าคนสมัยนั้นถูกจับได้ว่าทรงเจ้าหรือลอบวางเพลิง จะได้รับโทษอย่างหนัก ตั้งแต่โบย 30 ที ถึง 50 ที ไปจนถึงประหารชีวิตสำหรับคนร้ายวางเพลิง และยังมีการปรับ 20 บาท (ซึ่งสมัยนั้นคงเป็นเงินจำนวนไม่น้อย) สำหรับเจ้าของโรงเรือนที่ปล่อยให้คนทรงเจ้าประกอบพิธี
ความเชื่อดำรงอยู่
คอลัมน์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3-9 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ได้แสดงทัศนะไว้ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร่างทรงแพร่หลาย เพราะเมื่อคนรู้สึกไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัย ก็จะกระตุ้นให้คนหันไปพึ่งพาอำนาจธรรมชาติผ่าน ‘ร่างทรง’ เพื่อขอความมั่นคงและปลอดภัย
ในปัจจุบัน ‘ร่างทรง’ ยังเป็นความเชื่อหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในทุกซอกหลืบของสังคมไทย ใครศรัทธาจะเชื่อ หรือมองว่ามันงมงาย ก็คงแล้วปัจเจกบุคคล
แต่ถ้าหากความเชื่อนั้นลุกลามไปจนถึงขั้นหลอกลวงจนทำให้คนเดือดร้อน แน่นอนว่าเราอาจจะได้เห็น ‘กฎหมาย’ เข้ามาจัดการ ไม่ต่างจากในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่าไหร่
อ้างอิง
- พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. รัฐประหาร–ร่างทรง ถึงวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ไทย. ศิลปวัฒนธรรม. 2559
- ดร. นนทพร อยู่มั่งมี. คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่. ศิลปวัฒนธรรม. 2558
- มติชนสุดสัปดาห์. ‘ร่างทรง’ ดึกดำบรรพ์ เข้าสิงด้วยศาสนาผี. https://www.matichonweekly.com/column/article_493189