‘ฮิปโปโปเตมัส’ ที่เราเห็นได้ทั่วไปตามสวนสัตว์กำลังจะถูกปรับสถานะให้กลายเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ตามธรรมชาติไปเสียแล้ว
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกึ่งสัตว์น้ำนี้พบได้ในทะเลสาบและแม่น้ำ และอาศัยอยู่ทั่วทวีปแอฟริกา โดยพบได้ตั้งแต่ตอนใต้ของซาฮารา กำลังมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เพราะถูกคุกคามจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม และผลกระทบจากความร้อนทั่วโลก ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว เพิ่งมีข่าวว่าฮิปโปติดอยู่ในแอ่งโคลนที่แห้งกรังจากสภาพพื้นที่ที่แล้งจัดของแอฟริกา
แต่สาเหตุใหญ่ๆเลยที่ทำให้ฮิปโปลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วนั้นมาจากการล่าเพื่อนำชิ้นส่วนร่างกายไปขายในตลาดค้าสัตว์ป่า
ซึ่งชิ้นส่วนสำคัญที่มีราคามากที่สุดก็คือ ‘เขี้ยว’ ของพวกมันนั่นเอง
เปรียบได้กับงาช้าง เขี้ยวของฮิปโปสามารถนำมาแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ เทียบได้กับงาช้างขนาดจิ๋ว เพราะมีลักษณะโค้งมนที่คล้ายกัน
และที่สำคัญคือ เขี้ยวฮิปโปมีราคาถูกกว่างาช้างมาก
โดยราคาขายของเขี้ยวฮิปโปที่แกะสลักลงลวดลายแล้ว จะมีราคาอยู่ที่ราวๆ 20,000 บาท แต่กับงาช้างแบบดิบๆ ที่แม้ไม่ครบทั้งท่อน มีราคาชิ้นละประมาณ 250,000 บาท
ซึ่งหากคุณเป็นมือใหม่เรื่องการสะสมชิ้นส่วนสัตว์ป่า และไม่มีทุนรอนมากนัก แต่อยากได้อะไรสักอย่างที่ดูหรูหรามาประดับเสริมบารมีฮวงจุ้ย เขี้ยวฮิปโปนี่ล่ะคือคำตอบ – ซึ่งเราไม่แนะนำให้ผู้อ่านทำอย่างนั้น
ในบริบทหนึ่ง เนื่องจากช้างงาขนาดใหญ่เหลือน้อยลง และนักอนุรักษ์–เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต่างก็ให้ความสำคัญกับสัตว์ใหญ่อย่างช้างมากขึ้น การลักลอบล่าช้างจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ขณะที่ฮิปโปแม้ราคาขายจะต่ำกว่า แต่การคุ้มครองมีน้อยกว่า และถ้าล่าได้เยอะ ก็ย่อมทดแทนกันได้
นอกจากนี้ยังมีความจริงน่าเศร้าอีกอย่างโดยตามกฎหมายอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วไปไม่ว่าประเทศไหนการล่าสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายทั้งนั้นแต่กรณีการค้านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ฮิปโป เป็นสัตว์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ไซเตส’ (CITES) ในบัญชีชนิดพันธุ์หมายเลข 2 (Appendix II) นั่นหมายความว่า สามารถซื้อขายชิ้นส่วนของพวกมันได้ เพียงแค่ต้องแสดงหลักฐานที่มาอย่างถูกต้องก่อนเท่านั้น
ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้การซื้อขายเขี้ยวฮิปโปเป็นไปอย่างเอิกเกริก
แต่นี่ก็ไม่ใช่ความผิดของข้อกฎหมาย แต่ปัญหามาจากความหละหลวมของประเทศต้นทาง การคอร์รัปชันของผู้ตรวจสอบ ที่ทำให้เส้นทางการค้าเขี้ยวฮิปโปสามารถดำรงอยู่ได้ จนเริ่มกระทบกับจำนวนฮิปโปในธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
และก็คาดว่าภายในปีนี้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อาจมีการปรับให้ฮิปโปขึ้นไปอยู่ในบัญชีไซเตสหมายเลข 1 เพื่อห้ามค้าอย่างเด็ดขาด – แต่ก็อีกนั่นล่ะ หากขาดความเข้มงวด หรือยังมีปัญหาการคอร์รัปชันอยู่ ก็ใช่ว่าจะคุ้มครองได้
โดยการส่งออกเขี้ยวฮิปโปหลักๆ จะมาจาก แทนซาเนีย แซมเบีย ซิมบับเว และมาลาวี มีประเทศฮ่องกงเป็นตัวกลางรับซื้อ แกะสลัก ก่อนจะส่งขายต่อในประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เบลเยียม สเปน และอิตาลี
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ ดังที่ทราบกันว่าตอนนี้ประเทศทางแอฟริกากำลังเชิญภัยแล้งค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดสงครามแย่งชิงแหล่งน้ำระหว่างคนกับสัตว์เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ เมื่อคนเข้าไปยุ่มย่ามในถิ่นที่อยู่อาศัยของฮิปโปก็จะถูกพวกมันทำร้าย และพวกเราก็จะพากันไปล้างแค้นฮิปโปกลับ
อารามยากจนปนหิวโหยเพราะภัยแล้งอยู่แล้ว งั้นก็ออกล่าเอาเนื้อมากินเสียเลย – ความเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก ก็ถือว่าเป็นการล่าที่คุ้มพอจะกินได้อิ่มท้องทั้งครอบครัวไปหลายมื้อ (แถมยังได้เขี้ยวเอาไว้ขาย)
เหล่านี้คือภาพของสถานการณ์ปัจจุบันที่ฮิปโปกำลังเผชิญ – คาดว่ามีฮิปโปเหลืออยู่ในธรรมชาติประมาณ 130,000 ตัว
แต่ก็อย่างที่เกริ่นไว้ในย่อหน้าแรก เราสามารถพบเห็นฮิปโปได้ทั่วไปตามสวนสัตว์หลายๆ แห่งทั่วโลก นั่นก็หมายความว่าอย่างไรเสียสัตว์สายพันธุ์นี้คงไม่สูญพันธุ์ไปจากโลกง่ายๆ เว้นในอีกเงื่อนไข คือ ‘การสูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่อาศัย’ สิ่งนี่ต่างหากที่ต้องกังวล และต้องเร่งหาทางอนุรักษ์พวกมันเอาไว้
เพราะเราต้องไม่ลืมว่าสัตว์ในธรรมชาติทุกตัวล้วนทำหน้าที่ของตัวเองในระบบนิเวศฮิปโปเองก็มีหน้าที่สร้างสารอาหารให้กับโลกผ่านการขับถ่าย
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าในอึของฮิปโปมีสารที่เรียกว่าซิลิคอนซึ่งพบในพืชอาหารบนบกพอฮิปโปกินเข้าไปแล้วมาถ่ายลงในแหล่งน้ำสารซิลิคอนก็จะกลายเป็นธาตุอาหารให้กับพวกสาหร่ายต่างๆได้เติบโตเป็นอาหารให้สัตว์อื่นๆต่อไปนั่นเอง
นอกจากนี้ ในธรรมชาติฮิปโปถือว่าเป็นสัตว์อันตรายและมีความแข็งแกร่งมาก ซึ่งด้วยสถานะนี้เองก็ทำให้ฮิปโปเปรียบเสมือนผู้รักษาสมดุลทางระบบนิเวศ หากที่ไหนมีฮิปโป พวกสัตว์กินพืชชนิดอื่นๆ ก็อยู่ได้อย่างปลอดภัย เพราะมีฮิปโปคอยคุ้มครองอยู่
ซึ่งในความเป็นจริง ฮิปโปไม่ได้คุ้มครองพวกสัตว์อื่นๆ หรอก เพียงแต่พวกมันไม่ชอบให้ใครเข้ามาจุ้นจ้านในอาณาเขต และมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย จึงมักมีเหตุการณ์ทำนองที่ว่าฮิปโปเข้าทำร้ายจระเข้ที่กำลังล่าเหยื่ออยู่บ่อยๆ
และเมื่อฮิปโปหายไปจากธรรมชาติตัวอย่างที่ยกมาก็จะหายตามไปด้วยเช่นเมื่อสารอาหารที่ฮิปโปผลิตน้อยลงก็จะส่งผลต่อพืชหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ต้องการสารอาหารเหล่านั้นทำให้พวกมันลดจำนวนลงก่อนจะค่อยๆสะเทือนไปถึงสัตว์ที่มากินพืชเหล่านั้นต่อไปอีกทอดหนึ่ง
ส่วนเรื่องที่ว่า เดี๋ยวค่อยเอาจากสวนสัตว์ไปปล่อยในธรรมชาติก็ได้ – ก็คงสามารถทำได้ แต่คงไม่ง่าย เพราะสัตว์ที่ถูกมนุษย์เลี้ยงมามักไม่ค่อยมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด หาอาหารไม่เป็น ต่อสู้ไม่เก่ง โอกาสที่ปล่อยไปแล้วจะรอดค่อนข้างต่ำ และอาจมีค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องการฝึก การสร้างป่าเทียมให้ทดลองอยู่ ตลอดจนมูลค่าการขนย้าย รวมๆ แล้วเอาเงินตรงนั้นมาทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งที่เหลืออยู่ และอยู่ได้อย่างแน่นอนจะดีกว่า
อ้างอิง
- The Guardian , Call for hippos to join list of world’s most endangered animals, https://bit.ly/3vPuudI
- National Geographic, Fighting the Underground Trade in Hippo Teeth, https://on.natgeo.com/3P84FMW
- Science Daily, Hippos, the animal silicon pumps, https://bit.ly/3JBcfP3
- National Geographic, Hippos Save a Wildebeest From Crocodile’s Jaws, https://on.natgeo.com/3bGKXdw