หลังจากมีการปลดล็อกให้กัญชาเพื่อการแพทย์ และประกาศให้หลายส่วนของต้นกัญชาไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดต้องโทษประเภทที่ 5 ทำให้ตลาดกัญชาเพื่อสินค้าต่างๆ เริ่มเปิดกว้างมากขึ้นและมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถเป็นการใช้ใบกัญชาในการแพทย์ อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ทำให้หลายคนอาจเริ่มสนใจธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาขึ้นมา แต่การปลดล็อกยังมีเงื่อนไข สำหรับผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจกัญชาที่ไม่นับเป็นยาเสพติดเพื่อการพาณิชย์ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แล้วใครคือคนที่ได้รับอนุญาตบ้าง?
ผู้ที่สามารถปลูกกัญชาได้ต้องปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น และต้องมีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และต้องเป็น
1. หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
คือหน่วยงานที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ เกษตรกรรม หรือมีหน้าที่ให้บริการเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น
2. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์-เภสัช-สัตวแพทย์
ผู้ที่ประกอบอาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง เภสัชกร แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย
3. สถาบันอุดมศึกษา
สำหรับสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีการค้นคว้าวิจัยหรือจัดการสอนเกี่ยวกับการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ และมีการสอนทางการแพทย์และเภสัชศาสตร์เท่านั้น
4. วิสาหกิจชุมชน ที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐ
วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น และผู้ที่ยื่นขอต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดต้องโทษ มีสถานที่ปลูกที่อยู่ชัดเจน และมีระบบรักษาความปลอดภัย โดยที่การจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนต้องมีการรวมตัว 7 คนขึ้นไปเพื่อขึ้นทะเบียน
ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตปลูกกัญชา
1. ยื่นเอกสาร เช่น สถานที่ แผนการใช้ประโยชน์ และแผนการปลูกที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
2. ตรวจสถานที่ปลูกกัญชาให้มีความเหมาะสม เช่นสถานที่ ระบบรักษาความปลอดภัย มีกล้องวงจรปิด
3. เข้าที่ประชุมคณะกรรมการจังหวัดตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย
4. เข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการ
5. เข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณาอนุญาตปลูก
6. พิจารณา 7-15 วันออกใบอนุญาต
ถ้าหากว่าได้รับอนุญาตแล้วผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกต้องมีการจัดเก็บกัญชาเป็นสัดส่วน ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเสนอต่อ อย. เป็นรายเดือนและรายปี เพื่อให้สามารถแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ทุกเวลา หากมีกรณีสูญหายต้องทำหนังสือแจ้งอย่างเร่งด่วน
สำหรับบุคคลทั่วๆ ไปยังไม่ได้มีการอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้เอง โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ถ้าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท
ดังนั้นหากต้องการปลูกกัญชาผู้ปลูกจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองและปลูกเพื่อส่งเข้าตลาด ไม่ว่าจะสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการแพทย์ หรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ปัจจุบันธุรกิจกัญชาแม้ว่าจะไม่ใช่ส่วนที่เป็นยาเสพติดยังไม่ได้เปิดกว้างให้กับคนทั่วๆ ไปซึ่งหวังว่าจะเติบโตจากธุรกิจนี้ได้อย่างเสรี
ติดตามสารคดี Highland จาก BrandThink Cinema ที่จะพาคุณหามองลึกลงไปในมายาคติกัญชากับคราฟต์เบียร์ และกฎหมายที่ไม่ได้สร้างไว้เพื่อประชาชน วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 นี้ ทาง BrandThink.me
อ้างอิง:
- Healthserv. การขออนุญาตปลูกกัญชา มีขั้นตอนอย่างไร หน่วยงานใด ใครขอได้บ้าง. https://bit.ly/3xSOImn
- Medcannabis. ปลดล็อค กัญชาทางการแพทย์เสรี. https://bit.ly/3uqUDNi
- Hfocus. ปลดล็อกกัญชา-กัญชง ออกจากยาเสพติด ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดกัญชา มีผล 15 ธ.ค.เป็นต้นไป. https://bit.ly/2Snpmg3