Select Paragraph To Read
- 1. ทูตผู้แพร่กระจายวัฒนธรรม ‘คาวาอิ’
- 2. ต้นกำเนิดคิตตี้และกลยุทธ์สำคัญของทางซานริโอ
- 3. สื่อสารด้วยใจไม่ใช่ปาก
หากมีคำถามสักข้อ บอกให้พวกเราพูดถึงตัวละครญี่ปุ่นที่เราชื่นชอบมาหนึ่งตัว ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ พวกเราน่าจะนึกถึงตัวละครหรือคาแรคเตอร์สุดน่ารักจากแดนปลาดิบ และเขียนเป็นคำตอบออกมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ไม่ว่าจะเป็น โดราเอมอน มาริโอ ปิคาจู มารุโกะ ชินจัง อุลตร้าแมน รีลัคคุมะ โงกุน และอีกมากมายหลายร้อยตัวละคร การให้นึกถึงตัวละครญี่ปุ่นอาจง่ายกว่าให้นึกถึงตัวละครไทยบางตัวเสียอีก แต่ไม่ว่าคำตอบจะออกมารูปแบบไหน ในกลุ่มเด็กผู้หญิงหรืออาจจะรวมถึงสุภาพบุรุษบางท่าน จะต้องมีคำตอบที่ระบุถึงเจ้าแมวผิวขาวสุดน่ารัก พร้อมนิสัยน่าหยอกอย่าง ‘คิตตี้’ อยู่แน่นอน
1. ทูตผู้แพร่กระจายวัฒนธรรม ‘คาวาอิ’
หากพูดถึง ‘คิตตี้’ เอกลักษณ์โดดเด่นของมันก็คือผิวสีขาว หนวดยาว ไร้ปาก และโบอันใหญ่ติดอยู่ที่หูด้านซ้าย และนับว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่โด่งดังไปทั่วโลก เอกลักษณ์ที่ไม่ต้องพึ่งพาภาษา เอกลักษณ์ที่เป็นเหมือนความ ‘คาวาอิ’ ที่แพร่กระจายออกไป
เพราะเอาเข้าจริง ไม่ใช่แค่ในเอเชียหรือหมู่เด็กสาวเท่านั้น คิตตี้ ยังเป็นไอคอนแห่งความคาวาอิ ที่ซุกซ่อนอยู่ทุกหนทุกแห่ง ปรากฏตัวในรูปแบบของตุ๊กตา กล่องใส่ข้าว นาฬิกาติดฝาหนัง กรอบรูป ลายตู้ ผ้าคลุม คอนแทคเลนส์และอื่น ๆ อีกมากมายหลายหมื่นรายการ พร้อมร่วมงานกับแบรนด์ชื่อดังระดับโลกนับไม่ถ้วน พร้อมสร้างมูลค่ามหาศาลเกือบหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แน่นอนครับว่าคิตตี้เป็นตัวคาแรคเตอร์ที่รายได้สูงสุดให้ซานริโอตลอดกาล เอาเป็นว่าปีไหนที่รายได้ตกก็จะได้เจ้าคิตตี้มาแบกเรื่องรายได้อยู่ร่ำไป
แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้คิตตี้เป็นมากกว่าคาแรคเตอร์ เป็นมากกว่าตัวละคร และก็กลายเป็นวัฒนธรรมที่เข้าถึงคนระดับนานาชาติ
2. ต้นกำเนิดคิตตี้และกลยุทธ์สำคัญของทางซานริโอ
‘คิตตี้’ ตัวการ์ตูนลักษณะคล้ายแมวตัวนี้ แนะนำตัวเองเป็นครั้งแรกให้กับโลกในปี 1974 และหลังจากนั้น การปรากฏตัวครั้งแรกของคิตตี้ ก็เปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อความน่ารักและคิวาอิไปตลอดกาล คิตตี้กำเนิดจากแนวคิดของ ชินทาโร ซูจิ ผู้ก่อตั้งซานริโอ ก่อนถูกผายมือต่อให้นักออกแบบสาวอย่าง ยูโกะ ชิมิชุ โดยสิ่งที่ทำให้มันกลายเป็นขวัญใจไม่ได้เป็นเพียงคาแรคเตอร์น่ารัก แต่มันถูกออกแบบมาเพื่อสื่อสารกับมวลหมู่ผู้คนอย่างแท้จริง
แต่เดิม เฮลโล คิตตี้ เคยมีชื่อว่า ไฮ คิตตี้ ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อในปัจจุบันเพราะคำว่า เฮลโล ดูเหมือนจะติดหูมากกว่า แต่ก็ยังคงคอนเซ็ปต์การสื่อสารและทักทายผู้คนไว้อยู่ เจ้าแมวตัวนี้เติบโตผ่านกลยุทธ์ที่หลากหลายก้าวข้ามวัย ข้ามเพศ ข้ามชนชั้น ข้ามประเทศและข้ามทวีป เอาเป็นว่าไม่ว่าจะเชื้อชาติไหนหรืออายุเท่าไหร่ ความคาวาอิและกลยุทธ์อันแยบยลของทางซานริโอ ก็ทำให้คิตตี้เข้าไปอยู่ในหัวใจชาวโลกได้ไม่ยาก
3. สื่อสารด้วยใจไม่ใช่ปาก
สิ่งสำคัญที่หลายคนยกย่องทางซานริโอ และ ยูโกะก็คือ การที่พวกเขาออกแบบมาให้ตัวละครตัวนี้ ‘ไม่มีปาก’ ฟังผิวเผินอาจจะดูน่ากลัว แต่จริง ๆ การไม่มีปากเนี่ยแหละเป็นเสียงสำคัญที่สื่อสารตัวตนคิตตี้ไว้อย่างยอดเยี่ยม
ทางผู้ออกแบบระบุเอาไว้ว่า ที่คิตตี้ไม่มีปากเพราะไม่อยากให้สื่อสารด้วยปากหรือภาษา แต่ยังให้มันสื่อสารออกจากใจและความรู้สึกมากกว่า ส่วนที่มันไม่มีสีหน้าก็สอดคล้องกัน เพราะคิตตี้จะได้เป็นเพื่อนคนในทุกเวลาและในทุกห้วงขณะอารมณ์ ไม่ว่าจะเศร้า จะเหงา ดีใจหรือเสียใจ คิตตี้ก็จะอยู่ใกล้และพร้อมเป็นกำลังใจให้คุณเสมอ
ถึงแม้จะมีอายุกว่า 45 ปี หรืออาจจะเรียกว่าเป็นคุณป้าได้แล้ว แต่มันก็ไม่ได้หมดความยิ่งใหญ่หรือสูญเสียความนิยมอะไรไป โดยในปี 2019 ที่ผ่านมา คิตตี้ยังถูกโหวตเป็นตัวละครยอดนิยมของทางซานริโอด้วยคะแนนเสียงสูงถึง 1.6 ล้านคะแนนโหวต และด้วยคะแนนที่ล้นหลามขนาดนี้ ทำให้เจ้าแมวผิวขาวสามารถคว้าแชมป์สมัยที่ 3 เหนือ ชินนามอนโรล และปอม ปอม ปุริน ไปอย่างขาดลอย
เห็นไหมล่ะครับ ว่าการออกแบบที่สร้างสรรค์และการแฝงแนวคิดที่แยบยลไว้นั้นสามารถสร้างบางสิ่งบางอย่างที่เปลี่ยนโลกได้เลยทีเดียว แล้วคุณล่ะ จำได้ไหมว่าของชิ้นแรกที่มีลายคิตตี้คืออะไร แล้วตอนนั้นรู้สึกอย่างไรกันบ้าง? อ้อ! แล้วก็วันนี้อย่าลืม Happy Birthday ให้เจ้าคิตตี้กันด้วยนะครับ
อ้างอิง: