รู้ไหม? กระต่ายแสนน่ารัก ครั้งหนึ่งเคยถูกเชื่อว่าเป็น ‘สัตว์นรก’ ที่เชื่อมโยงกับสิ่งชั่วร้ายและลี้ลับ
หากให้หลับตานึกถึงกระต่าย คุณเห็นภาพอะไรบ้าง?
‘หางปุย ตาโต หูยาว จมูกสั่นดุ๊กดิ๊ก’ นี่คงเป็นภาพเจ้ากระต่ายที่ใครๆ คิดอยู่ในหัว แต่รู้หรือไม่ว่า…สัตว์ที่หน้าตาน่ารักเช่นนี้ เมื่อครั้งอดีต ในหลายๆ พื้นที่ รวมไปถึงหลายอารยธรรมทั่วโลก กลับมีความเชื่อโบราณที่เกี่ยวกับเจ้าน้อนตัวนี้ (โดยเฉพาะกระต่ายป่า) ที่ว่ากันว่าพวกมันเป็นสัตว์เจ้าเล่ห์ น่ากลัว และมาจาก ‘นรก’
เริ่มกันที่ไอร์แลนด์ ชาวไอริชเชื่อว่ากระต่ายป่า (hares) ถือเป็นสัตว์ที่เจ้าเล่ห์มาก แม้ว่ามันจะเป็นสัตว์ที่อยู่ในวงศ์ Leporidae เหมือนกับกระต่ายธรรมดา (rabbits) แต่รูปลักษณ์ของทั้งคู่กลับต่างกันลิบลับ และบางครั้งหากพูดว่ากระต่ายเฉยๆ ก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่าจะหมายถึงกระต่ายประเภทใดกันแน่
ด้าน เคลลี ฟิตซ์เจอรัลด์ (Kelly Fitzgerald) หัวหน้าภาควิชานิทานพื้นบ้านและชาติพันธุ์วิทยาไอริช จากมหาวิทยาลัยดับลิน (University College Dublin) ได้อธิบายความแตกต่างของกระต่ายทั้งสองชนิดในไอร์แลนด์ไว้ ดังนี้
กระต่ายที่เรียกว่า ‘hares’ (หรือภาษาไทยเรียกว่า กระต่ายป่า) นั้น มีขนาดที่ใหญ่กว่ากระต่ายธรรมดา (rabbits) พวกมันลืมตาดูโลกพร้อมกับสัญญาณนักสู้ในสายเลือด ส่วนกระต่ายธรรมดานั้น อ่อนโยน น่ารัก และเปราะบางกว่ามาก ที่สำคัญกระต่ายป่าเป็นสัตว์พื้นถิ่นของไอร์แลนด์ ขณะที่กระต่ายธรรมดานั้นเดินทางมายังไอร์แลนด์พร้อมกับชาวนอร์มันในศตวรรษที่ 12
ฟิตซ์เจอรัลด์ยังอธิบายความสัมพันธ์ด้านความเชื่อของชาวไอริชโบราณกับกระต่ายป่าต่ออีกว่า แม้กระต่ายป่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกมนุษย์ (Man’s world) แต่พวกมันยังเป็นตัวแทนของความรู้สึกเหนือธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงกับโลกอื่น (the other world) อีกด้วย ความเชื่อเหล่านี้อาจมาจากความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ชนิดนี้ เนื่องจากชาวไอริชไม่เคยจับกระต่ายป่ามาฝึกให้เชื่องหรือเลี้ยงในบ้าน ความเชื่อจึงเข้ามาทำหน้าที่อธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่มนุษย์ไม่รู้จัก หรือสามารถอธิบายได้
นอกจากนี้ ที่ไอร์แลนด์ยังมีตำนานท้องถิ่นอันโด่งดังชื่อว่า ‘The Stealing of the Milk Profit’ เป็นเรื่องราวของชาวนาเห็นกระต่ายป่าตัวหนึ่งแอบเข้ามาดูดนมแม่วัวของเขา ชาวนาผู้นั้นเลยยิงปืนใส่ขาของกระต่ายป่า มันกระโดดหนี และวิ่งกะเผลกไปจนถึงโพรงตัวเอง ชาวนาตามเข้าไปในโพรงอย่างไม่รอช้า ในใต้ดินนั้น เขากลับพบเพียงหญิงสาวกำลังนอนเจ็บปวด เลือดไหลออกจากขา และหญิงสาวคนนั้นก็คือ ‘แม่มด’ นั่นเอง ตำนานและเรื่องราวที่เชื่อมโยงกระต่ายป่ากับสิ่งมีชีวิตชั่วร้ายนั้นถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าและถ่ายทอดกันต่อๆ มาอย่างแพร่หลายในพื้นที่ยุโรปตอนเหนือ
ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า มีหญิงสาวที่กลายร่างเป็นกระต่าย ในวัน May Day หรือ วันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งชาวไอริชเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์ที่สุด (the most magical time) ตามการนับเวลาแบบปีเซลติก (The Celtic Year) เพราะวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูกาลเก็บเกี่ยว และเป็นเวลาที่ห่างจากวันฮาโลวีน ที่เป็นวันสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวครึ่งปีพอดี ทำให้ทั้งสองวันนี้จะมีพลังงานบางอย่างที่สามารถเชื่อมต่อหรือเชื้อเชิญสิ่งมีชีวิตจากต่างโลกด้วยเช่นกัน
แม้ว่ากระต่ายป่าจะไม่ใช่สัตว์ที่น่ากลัวสำหรับเกษตรกรไอริชโบราณ แต่พวกเขาก็ยังเคารพนับถือกระต่ายป่า ในฐานะเป็นสัตว์ที่ฉลาดและลึกลับ และไม่มีการล่าหรือกินกระต่ายป่าเป็นอาหารอีกด้วย
อีกหนึ่งหลักฐานที่สะท้อนว่าชาวไอริชโบราณและกระต่ายป่ามีความสัมพันธ์กันด้านความเชื่อ นั่นคือ การพบพิธีกรรมกระต่ายป่าที่ถูกฝังพร้อมกับมนุษย์ในสุสานยุคหินใหม่ที่ไอร์แลนด์ ด้วยความเชื่อที่ว่า สิ่งมีชีวิตขนฟูชนิดนี้มีความหมายแทนความอุดมสมบูรณ์ และเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นใหม่ จะเห็นได้ว่ากระต่ายป่าก็มีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมแห่งความตายในสมัยโบราณ
ข้ามฝั่งมายังอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ อย่าง อียิปต์โบราณ ก็มีเรื่องเล่าและตำนานที่กล่าวกันว่ากระต่ายป่ามีความเกี่ยวข้องกับยมโลก (the underworld)
เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่าชาวอียิปต์โบราณให้ความสำคัญกับชีวิตหลังความตาย โดยเฉพาะความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้วายชนม์ เช่น การทำมัมมี่ หรือการเซ่นไหว้ เพื่อให้ชีวิตหลังความตายนั้นยังคงดำรงอยู่ต่อไป
หลังจากที่ชาวอียิปต์โบราณเสียชีวิตแล้ว พวกเขาจะต้องเดินทางไปพบกับโอซิริส ผู้ปกครองแห่งความตายและโลกใต้พิภพ โอซิริสจะเป็นผู้พิพากษาว่าวิญญาณดวงไหนจะได้ไปอยู่ในดินแดนหลังความตาย หรือวิญญาณดวงไหนจะถูกสาปและกลืนกินให้ดับสูญไป
ด้าน นิกกี นีลเซน (Nicky Nielsen) นักอียิปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (Manchester University) สหราชอาณาจักร อธิบายว่า จากการสังเกตและศึกษาภาพแกะสลักที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหลังความตายของชาวอียิปต์โบราณจะเห็นเทพเจ้าที่มีหัวเป็นกระต่ายอยู่ในกลุ่มเทพเจ้าอื่นๆ ในฉากการพิพากษาผู้วายชนม์
อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ‘The Complete Gods and Goddess of Ancient Egypt’ ของ ริชาร์ด เอช. วิลกินสัน (Richard H. Wilkinson) นักโบราณคดีสาขาอียิปต์วิทยา ที่อ้างอิงถึงสิ่งที่พลูทาร์ก (Plutarch) นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนชาวโรมัน เคยบันทึกไว้ว่า ชาวอียิปต์โบราณเคารพและนับถือกระต่าย ในฐานะที่เป็นสัตว์ว่องไวและมีประสาทสัมผัสที่เฉียบแหลม และสัตว์ชนิดนี้เป็นบริวารของเทพเจ้าแห่งยมโลกบางองค์อีกด้วย
นอกจากนี้ วิลกินสันยังตั้งข้อสังเกตว่า รูปสลักกระต่ายป่านั้นเป็นตัวแทนของเทพีเวนู (Goddess Wenu) ที่บางครั้งก็มีการปรากฏรูปลักษณ์ประติมากรรมเป็นชาย และเข้าใจกันว่าเป็นโอซิริส นั่นแสดงให้เห็นว่า กระต่ายป่าและความตายเป็นสิ่งที่คู่กัน
ด้านชาวฟีนิเชียน (Phoenicians), ชาวกรีก และชาวโรมันโบราณ ก็เชื่อเกี่ยวกับกระต่ายป่าว่า มีความสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ โดยพวกมันเป็นสัญลักษณ์ของการผสมพันธุ์และการมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ และกระต่ายยังเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนชีพของวัฒนธรรมกรีก ที่คล้ายคลึงกับความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับโอซิริสในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ
แม้แต่เรื่องเล่าร่วมสมัย นวนิยาย ภาพยนตร์ การ์ตูน หรือเกม ในปัจจุบัน ก็ยังมีการใช้คาแรกเตอร์กระต่ายเป็นตัวละครที่น่าพิศวง ลึกลับ ชวนขนลุก ให้เห็นกันเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘Alice in Wonderland’ ผลงานคลาสสิกของ ลูอิส แคร์รอล (Lewis Carroll), หนังสยองขวัญเกรด B ที่ชื่อว่า ‘Night of the Lepus’ ในปี 1972, ตัวละคร Bonnie จาก ‘Five Nights at Freddy’s’ เป็นต้น
อ้างอิง
- Rabbits Are Creatures of the Underworld According to Ancient Fears https://shorturl.asia/cjSH7