2 Min

รู้จัก ‘เส้นเฮยเหอ-เถิงชง’ หรือเส้นที่ใช้แบ่งแผ่นดินจีน ที่ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ 2 ใน 3 แทบไม่มีคนอยู่อาศัย

2 Min
135 Views
19 Apr 2024

จีนเป็นชาติที่มีขนาดใหญ่โตและมีประชากรมหาศาล เป็นอันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน (ก่อนอินเดียจะแซง) อย่างไรก็ดี การกระจายตัวของประชากรนั้นก็ไม่ได้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอทั่วแผ่นดินจีน แต่ประชากรจะเทไปอยู่ฝั่งชายทะเลตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศกันมาก ระดับที่เรียกได้ว่าคนจีนส่วนใหญ่มากระจุกรวมกันอยู่ตรงนี้แหละ

และถ้าพูดเรื่องนี้ เราก็ต้องมาพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘เส้นเฮยเหอ-เถิงชง’ (Heihe-Tengchong Line) ซึ่งถ้าจะพูดภาษาชาวบ้านก็คือมันเป็นเส้นสมมติที่ลากไปแล้วทำให้เห็นภาพว่า ประชากรจีนแทบทั้งหมดจะอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเส้นนี้ ส่วนฝั่งตะวันตกของเส้นนี้มีประชากรน้อยกว่ามาก ราวกับเป็นคนละประเทศ

เส้นนี้ถูกเสนอในเปเปอร์วิชาการปี 1934 โดยนักวิชาการชื่อ ‘หูฮ่วนยง’ ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของภูมิศาสตร์ประชากรของจีน โดยในตอนนั้นประชากรที่อยู่ฝั่งตะวันออกของเส้นคิดเป็น 94 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรจีนทั้งหมด ส่วนที่อยู่ฝั่งตะวันตกของเส้นคิดเป็นราว 6 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนประชากรในปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างกันมาก เส้นนี้เลยถูกใช้มาถึงปัจจุบันและหลายๆ คนก็เรียกเส้นนี้ว่า ‘เส้นหู’ เพื่อเป็นเกียรติกับหูฮ่วนยง แต่ชื่อ ‘เส้นเฮยเหอ-เถิงชง’ ที่ใช้กันในจีนก็เป็นชื่อที่ตรงกว่า เพราะมันคือเส้นที่ลากจากเมืองเฮยเหอที่มณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดกับรัสเซีย มายังเมืองเถิงชงที่มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีนที่ติดกับพม่า

ถามว่าเส้นนี้มีความสำคัญอย่างไร คือหลายคนที่ไม่เคยเห็นก็คงช็อก เพราะมันทำให้ได้เห็นเลยว่าจริงๆ แล้วพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจีนอันกว้างใหญ่ไพศาลกินพื้นที่ 2 ใน 3 ของแผ่นดินจีนนั้น มีประชากรอยู่เพียง 5-6 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง และประชากรในโซนนี้ไม่ใช่ ‘ชาวฮั่น’ ด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่คือพวก ‘ชนกลุ่มน้อย’ ของจีน

และเส้นนี้ก็สอดคล้องกับ ‘การพัฒนาประเทศ’ ของจีนด้วย คือจะเห็นเลยว่า รายได้จากทางฝั่งขวาของเส้นเฮยเหอ-เถิงชงจะสูงกว่าฝั่งซ้ายมาก และเช่นเดียวกัน ‘ความเจริญ’ ในทุกด้านก็จะไปกองอยู่ที่ฝั่งขวา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือพวกเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด  จึงทำให้เส้นนี้เหมือนเป็นเส้นแบ่งจีนออกเป็นสองประเทศ แสดงถึงระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและความเจริญโดยรวมที่ต่างกันมาก

คำถามคือทำไมถึงเป็นแบบนี้

คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ เลยคือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ พื้นที่ทางขวาของเส้นเฮยเหอ-เถิงชง เป็นที่ราบ เต็มไปด้วยแม่น้ำ ไม่ก็ติดทะเล ซึ่งพื้นที่พวกนี้เหมาะทั้งกับการเกษตรและการค้าอยู่แล้ว ดังที่เห็นว่าทุกพื้นที่อารยธรรมโลกจะเกิดแถวแม่น้ำ และพื้นที่ติดทะเลก็จะมีเมืองท่าที่ทำการค้ากับต่างชาติจนเมืองร่ำรวย

แต่ถ้ามาดูทางซ้ายของเส้นเฮยเหอ-เถิงชง เอาง่ายๆ พื้นที่ด้านบนคือทะเลทราย พื้นที่ด้านล่างเป็นภูเขา ซึ่งมนุษย์ในอดีตถ้าเลือกได้ก็จะไม่มาอยู่ในพื้นที่กันดารแบบนี้อยู่แล้ว

และถ้าใครพอรู้ประวัติศาสตร์จีน ก็จะเห็นเลยว่าจริงๆ แล้วในอดีต อาณาจักรจีนไม่ได้ขยายมาในโซนพวกนี้ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าจีนถือว่าพื้นที่พวกนี้เหมือน ‘รัฐกันชน’ ให้รัฐอื่นๆ ไม่อยากจะลำบากยกทัพข้ามทะเลทรายหรือภูเขามารุกรานจีน และนี่ทำให้เอาจริงๆ แล้วประวัติศาสตร์จีนแทบทั้งหมดก็คือประวัติศาสตร์การแย่งชิงครอบครองดินแดนส่วนฝั่งตะวันออกของเส้นเฮยเหอ-เถิงชงนี่แหละ

และถ้าจะพูดอีกแบบก็คือ ที่จริงฝั่งตะวันตกของเส้นเฮยเหอ-เถิงชงในอดีตไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินจีน มันเลยเต็มไปด้วยชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก

และก็ใช่ว่ามันจะไม่มีปัญหา เพราะก็ดังเช่นการผนวกชนกลุ่มน้อยมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐทั่วโลก การไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไปจนถึงการพยายามจะ ‘แยกดินแดน’ ถือเป็นเรื่องปกติมาก และรัฐบาลจีนก็ ‘จัดการ’ จริงจังมาโดยตลอด ไม่ว่านั่นจะเป็นชาวทิเบตในที่ราบสูงทิเบต หรือชาวอุยกูร์ในทะเลทรายของมณฑลซินเจียง

อ้างอิง