1 Min

แฮชแท็ก ช่วยให้คนสนใจประเด็นเพิ่มขึ้นแค่ไหน กรณีศึกษา #Saveubon

1 Min
76 Views
18 Nov 2021

เดือนกันยายนที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นช่วงพีคของหน้าฝน คนพูดเรื่องน้ำท่วมกันแทบจะเป็นปกติทั้งเดือน ซึ่งช่วงที่พูดถึงกันมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นตอนกลางเดือน ที่อุบลราชธานีเกิดน้ำท่วมใหญ่ จนเกิดแฮชแท็ก #Saveubon บนโลกโซเชียล

ช่วงนั้น กระแสเรื่อง “น้ำท่วม” มาแรงสุด ๆ เรียกได้ว่ามาแรงเกินกระแสอื่นไปเยอะ แต่นี่ก็เป็นแค่ “ความรู้สึก” เท่านั้น คำถามคือเรา “วัด” ได้มั้ยว่ากระแสนี้แรงแค่ไหน

ในยุคก่อน เราแทบจะไม่มีทางวัดได้เลยว่ากระแสนั้นแรงแค่ไหน ซึ่งต่างจากในยุคนี้ เรามีเครื่องมือในการติดตามการพูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ บนโซเชียล ที่เรียกว่า Social Listening ซึ่งสามารถเฝ้าดูกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียในภาพรวมแล้วนำมาประมวลผลในมุมต่าง ๆ ได้

แล้วกระแส “น้ำท่วม” แรงแค่ไหนบนโซเชียลมีเดีย?

อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าจริง ๆ คนบนโลกโซเชียลก็พูดเรื่องน้ำท่วมอยู่แล้วในหน้าฝน เพราะน้ำก็ท่วมระดับเล็กเรื่อย ๆ อยู่แล้ว และในช่วงต้นเดือนกันยายน โดยเฉลี่ยบนโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม มีการพูดถึงน้ำท่วมอยู่แล้วราว ๆ วันละ 2,000-3,000 ครั้ง

อย่างไรก็ดี หลังเกิดเหตุน้ำท่วมอุบลราชธานีและมีภาพหายนะออกมา คนแชร์อย่างแพร่หลาย จนเกิดแฮชแท็ก #Saveubon ขึ้น เพื่อให้คนได้รับรู้ถึงมหันตภัยที่เพื่อนร่วมชาติเผชิญ

ผลคือหลังเกิดแฮชแท็กนี้ โลกโซเชียลก็ตื่นตัวในการพูดถึง “น้ำท่วม” กันมากขึ้นสุด ๆ เรียกได้ว่าหลังเกิดแฮชแท็กในวันเดียว จากตัวเลขเฉลี่ยที่คนพูดถึงน้ำท่วมเคยอยู่ที่ 2,000-3,000 ครั้งต่อวัน ก็กระโดดขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 10,000 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยบางวันพีค ๆ คนก็พูดถึงน้ำท่วมบนโซเชียลกันเกือบ 20,000 ครั้ง

ซึ่งหลังจากนั้นก็แน่นอน กระแสก็ค่อย ๆ ซาลงไป จนถึงตอนสิ้นเดือนกันยายน ประเด็นเรื่อง “น้ำท่วม” ก็แทบจะอันตรธานหายไปจากโลกโซเชียล

โดยสรุปแล้ว แฮชแท็ก #Saveubon นับเป็นแคมเปญที่เกิดจากประชาชนผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ได้ผลมาก ๆ เพราะหากไม่มีแฮชแท็กนี้ คนที่อยู่นอกพื้นที่ก็ยากจะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่อุบลราชธานีบ้าง และก็ดังที่เราทราบกัน หลังจากแฮชแท็กปลุกกระแสความใส่ใจน้ำท่วมที่อุบลราชธานีติดเทรนด์แล้ว ความช่วยเหลือต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทยอยลงไปในพื้นที่ในที่สุด

ทั้งนี้ เราก็ต้องขอบคุณเครื่องมือ ZOCIAL EYE ของทาง Wisesight นะครับ ที่ทำให้เราได้เห็นภาพที่ละเอียดขึ้นของปรากฏการณ์บนโซเชียล ซึ่งถ้าใครสนใจ ลองไปดูได้ที่ https://www.facebook.com/WisesightGlobal/ ครับ