อะไรคือเหตุผลที่คณบดี ม.ฮาร์วาร์ด บอกว่า การจัดอันดับมหา’ลัย คือ ‘แรงจูงใจอันวิปลาส’
อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งได้รับการจัดอันดับว่าเป็นที่ 1 ด้านการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าจะไม่ส่งข้อมูลให้สถาบันจัดอันดับด้านการศึกษาอีกต่อไป โดยคณบดีบอกเหตุผลว่ากลไกนี้ ‘สร้างแรงจูงใจอันวิปลาส’ ที่ไม่ดีต่อคุณภาพการศึกษา และแวดวงวิชาการไทยไม่นานมานี้ก็มีผู้สงสัยว่า นักวิชาการบางคนอาจจ่ายเงินเพื่อจะได้ใส่ชื่อตัวเองในงานวิจัย (ที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีส่วนร่วม) เพื่อจะนำไปใช้อ้างอิงในการประเมินความก้าวหน้าทางวิชาการ
ในยุคที่การศึกษาก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง สถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกมักจะอ้างอิงผลจัดอันดับขององค์กรที่ประเมินผลด้านการศึกษาและวิชาการ โดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่ได้อันดับดีๆ สามารถใช้ประเด็นนี้เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดใจให้คนมาสมัครเรียนเยอะๆ ได้
แต่ จอร์จ คิว เดลีย์ (George Q. Daley) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออกเอกสารชี้แจงต่อนักศึกษาและบุคลากรของคณะ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2023 ย้ำว่า ต่อไปทางคณะจะไม่ส่งข้อมูลให้แก่ US News หนึ่งในผู้รวบรวมและเผยแพร่ผลจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐฯ มานานหลายปี อีกแล้ว
เดลีย์ให้เหตุผลว่า การจัดอันดับสถาบันการศึกษาสร้าง ‘แรงจูงใจอันวิปลาส’ (perverse incentive) ซึ่งก็คือการรายงานข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง รวมถึงข้อมูลที่ชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อจะได้นำงบที่ควรใช้ในการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่มีความจำเป็นไปกระตุ้นยอดจัดอันดับสถาบันแทน
The Washington Post รายงานว่า ก่อนที่คณะแพทยศาสตร์ ฮาร์วาร์ด จะประกาศถอนตัวจากการร่วมจัดอันดับทางวิชาการ มีความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ซึ่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ประกาศถอนตัวจากการร่วมจัดอันดับโดย US News เช่นกัน
เหตุผลของคณบดีเยล ระบุว่า เกณฑ์การชี้วัดเพื่อจัดอันดับสถาบันการศึกษาของ US News กระทบต่อการพิจารณารับนักศึกษา โดยหันไปยึดคะแนนสอบเป็นหลัก เพื่อจะได้มีคะแนนสูงในการจัดอันดับ แทนที่จะพิจารณาตามเกณฑ์เดิมว่านักศึกษาคนไหนที่มีความจำเป็นหรือมีประวัติเหมาะสม ทำให้คนที่ควรได้รับโอกาสเข้าเรียนจริงๆ ไม่ได้รับเลือก
หลังจากมหาวิทยาลัยเยล ก็มีคณะนิติศาสตร์ ฮาร์วาร์ด ถอนตัวตามมา และล่าสุดก็คือ คณะแพทยศาสตร์ของฮาร์วาร์ด (ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Medical School)
อย่างไรก็ดีสื่ออเมริกันรายงานว่าการตั้งคำถามถึงเกณฑ์การจัดอันดับอาจจะมีผลต่อแวดวงทางวิชาการเท่านั้นแต่ไม่น่าจะมีผลต่อนักศึกษาจำนวนมากที่อาศัยการจัดอันดับสถาบันในการเลือกเรียนต่อไม่ว่าจะเป็นชาวอเมริกันและนักศึกษาจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงงานวิจัยของสถาบันการศึกษาที่ได้รับทุนเกี่ยวข้องกับมูลนิธิหรือบริษัทเอกชน มักจะเป็นงานวิจัยในประเด็นที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถ ‘สร้างรายได้’ ในอนาคตแต่บางทีไม่ได้สะท้อนความจำเป็นในการศึกษาวิจัยในประเด็นสาธารณะอย่างแท้จริง
ความไม่โปร่งใสในแวดวงวิชาการ จึงเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในระยะหลังที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วโลกต้องดิ้นรนเอาตัวรอดทางธุรกิจ ทำให้เกิดการยุบคณะหรือสาขาวิชาที่มีคนเรียนน้อยเพื่อลดต้นทุนของสถาบัน ขณะที่บางสาขาวิชาที่มีคนเรียนกันมากก็อาจจะมีการเปิดหลักสูตรสอนเยอะเกินไป จนทำให้สุดท้ายแล้วคนเรียนจบออกไป ‘ล้นตลาด’ และหางานทำได้ยาก
ส่วนกรณีของไทย มีผู้เปิดเผยข้อมูลในสื่อออนไลน์เมื่อต้นเดือนมกราคม 2023 ว่า นักวิชาการบางคนมีผลงานวิจัยที่ ‘น่าสงสัย’ เหมือนกับใช้วิธีจ่ายเงินเพื่อให้ตัวเองมีชื่อในงานวิจัยหลายชิ้น และสามารถนำไปใช้อ้างอิงในการขอเลื่อนขั้นหรือเพิ่มความก้าวหน้าทางอาชีพ แต่พบพิรุธในแง่ปริมาณงานวิจัยที่เยอะจนเกินปกติ และหัวข้อวิจัยที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่อ้างว่าตัวเองเชี่ยวชาญ
ด้วยเหตุนี้ สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งในไทยจึงประกาศว่ารับทราบเรื่องดังกล่าว และจะขอตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อน แต่ก็ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาหรือเงื่อนไขว่าจะต้องชี้แจงต่อสาธารณชนหรือไม่
ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่รวมอยู่ในระบบการศึกษายุคปัจจุบัน ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนว่าหลายๆ ประเทศยังให้คุณค่ากับการแข่งขันทางวิชาการ ซึ่งรวบรวมจากตัวเลขและจำนวนชิ้นงานวิจัย มากกว่าจะคำนึงถึงการตรวจสอบคุณภาพผลงานและองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาที่แท้จริง
อ้างอิง
- Washington Post. Harvard Medical School withdraws from U.S. News rankings. https://wapo.st/3XKXn6B
- HLS. Decision to Withdraw from the U.S. News & World Report Process. https://bit.ly/3GUWiCn