2 Min

‘ทำงานหนักจนตาย’ คร่าชีวิตคนทั่วโลก ‘เพิ่มขึ้น’ แทบทุกปี มีสาเหตุจากอะไรบ้าง?

2 Min
601 Views
09 Feb 2023

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

แม้จะมีสำนวนว่างานหนักไม่เคยฆ่าคนตายแต่สถิติคนทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จนเกิดโรคที่นำไปสู่ความตายอย่างเฉียบพลันมีมากกว่า 700,000 คนทั่วโลก อ้างอิงข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labor Organization) ส่วนกรณีคนทำงานเบื้องหลังสื่อทีวีไทยเสียชีวิตในที่ทำงาน ประธานสหภาพแรงงานสื่อฯ แนะนำให้องค์กรผู้ว่าจ้างตรวจสอบเงื่อนไขการทำงานและจำนวนคนว่าเหมาะสมกันแล้วหรือไม่ และสภาวะในองค์กรที่เป็นอยู่คำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานมากน้อยเพียงไร


ตามปกติแล้ว กฎหมายแรงงานทั่วโลกมักจะระบุว่านายจ้างต้องรับผิดชอบและชดเชยในกรณีมีผู้เสียชีวิตขณะทำงาน หรือไม่ก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวพันกับการทำงาน แต่กฎหมายเหล่านี้ในหลายประเทศไม่ได้ครอบคลุมกรณีทำงานหนักจน (ป่วย) ตายซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในศตวรรษที่ 21

การสำรวจสถิติผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงจนเป็นเหตุให้เจ็บป่วยร้ายแรง เพิ่งจะจัดทำอย่างจริงจังในปี 2016 โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบการรวบรวมข้อมูลสถิติจากทั่วโลกระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อปี 2021 ว่า สถิติผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักทั่วโลกมีจำนวนประมาณ 745,000 ราย

ILO ระบุด้วยว่า ผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักมีปัจจัยบางอย่างที่เหมือนกัน คือ อายุระหว่าง 45-75 ปี และส่วนใหญ่มีประวัติทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จนเกิดอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ และโรคหัวใจ ซึ่งมีผลให้เจ็บป่วยอย่างรุนแรงและเฉียบพลันจนไม่อาจรักษาได้ทันเวลา

องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่นำข้อมูลของ ILO มาพิจารณาก็ยืนยันเพิ่มเติมในปี 2022 ว่าการทำงานหนักหรือการทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มความเสี่ยงให้คนวัยทำงานมีโอกาสล้มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 17-34 เปอร์เซ็นต์และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนกลุ่มนี้เสียชีวิตก่อนอายุขัยเฉลี่ยของประชากรในประเทศตัวเอง

นอกจากนี้ ข้อมูลของ WHO และ ILO ยังบ่งชี้อีกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคที่ว่ามาแล้วเพิ่มขึ้น 29 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2000 จนถึง 2016 จึงจำเป็นอย่างมากที่นายจ้างและหน่วยงานคุ้มครองสิทธิแรงงานจะต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และหาทางรักษาสวัสดิภาพของคนทำงานให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ส่วนกรณีล่าสุด ที่พนักงานเบื้องหลังรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องเคเบิลในประเทศไทยเสียชีวิตขณะทำงาน พบว่าสาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้เสียชีวิตมักจะทำงานเกินเวลาหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งยังทำงานให้มากกว่าหนึ่งองค์กร

ทางด้านอัญชลี อับดุลประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย หรือ NUJT (National Union of Journalists, Thailand) เปิดเผยกับ BrandThink ว่า ธุรกิจสื่อของไทยมีการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนทำงานในหลายองค์กรได้รับผลกระทบเรื่องการทำงานที่ไม่เป็นเวลา ทั้งยังถูกเรียกร้องให้ตอบสนองต่อประเด็นข่าวอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนทำงานสื่อเป็นจำนวนมากประสบกับปัญหาสุขภาพและความเครียด

ขอให้บริษัทต้นสังกัดดูแลสวัสดิภาพของคนทำงาน คือต้องตรวจสอบชั่วโมงทำงานของแต่ละบุคคลในความดูแล เพื่อให้เหมาะสมกับกำลังและความสามารถ ถึงแม้ว่าปริมาณงานจะต้องทำให้แล้วเสร็จในเวลาที่จำกัด ก็ควรจะบริหารจัดการคนให้เหมาะสมกับจำนวนงาน รวมถึงต้องพิจารณาค่าแรงการทำงานด้วยว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะคนที่ทำงานด้านนี้ก็ประสบปัญหาค่าตอบแทนไม่เพิ่มขึ้นมานานแล้ว ส่วนคนทำงานก็ควรประเมินสุขภาพตัวเองด้วยว่ายังรับไหวหรือไม่ประธานสหภาพฯ ระบุ

แล้วคุณล่ะ เคยเจอประสบการณ์แบบนี้หรือไม่ แลกเปลี่ยนกันได้ว่าควรหาทางออกอย่างไรถึงจะทำให้คนทำงานไม่ต้องเผชิญกับภัยเงียบ

อ้างอิง