หากพูดถึงเรื่องของ ‘ความสุข’ อาจจะดูเป็นอะไรที่นามธรรม จับต้องไม่ได้ และวัดค่ายาก แต่ถ้าเราพยายามจะมองมันอย่างเป็นรูปธรรม และจับต้องมันให้ได้ เราอาจจะต้องพึ่งพาข้อมูลจากทาง UN หรือองค์การสหประชาชาติ ที่ได้จัดทำ World Happiness Report รายงานการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกเป็นประจำในทุกปี โดยใช้ตัวชี้วัดหลายปัจจัย
- ผลผลิตมวลรวมแห่งชาติต่อหัว (GDP)
- ความคาดหวังในชีวิตด้านสุขภาพ (healthy life expectancy)
- การสนับสนุนทางสังคม (social support)
- เสรีภาพในการใช้ชีวิต (freedom to make life choices)
- อัตราคอร์รัปชั่น (perceptions of corruption)
- ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน (equality)
สำหรับในปี 2020 ก็เป็นอย่างที่หลายคนคาดครับ ประเทศในแถบแสกนดิเนเวีย หรือประเทศในกลุ่มนอร์ดิกยังครอบครองความยิ่งใหญ่ในแง่ของความสุขอยู่ และฟินแลนด์ยังคงรักษาความสุขอยู่ที่อันดับหนึ่งได้ตลอด 3 ปีซ้อน
1.ฟินแลนด์ / 2.เดนมาร์ก / 3.สวิตเซอร์แลนด์ / 4.ไอซ์แลนด์ / 5.นอร์เวย์ / 6.เนเธอร์แลนด์ / 7.สวีเดน / 8.นิวซีแลนด์ / 9.ออสเตรีย / และ 10.ลักเซมเบิร์ก โดยประเทศไทยรั้งอยู่อันดับที่ 54
มันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ประเทศในแถบนี้มีความสุขติดอันดับกันหลายปี แต่ประเด็นก็คือ ทำไมคนในแถบแสกนดิเนเวีย หรือประเทศในกลุ่มนอร์ดิกถึงมีความสุขขนาดนั้นล่ะ จนบางครั้งถึงขั้นแซวกันว่า ส่งออกความสุขเป็นสินค้าสำคัญให้แก่มวลมนุษย์เลยด้วยซ้ำ
พวกเขามีอะไรที่เหมือนกัน พวกเขามีแนวคิดอย่างไร พวกเขาดำเนินชีวิตรูปแบบไหน? วันนี้เราจะมาไขความลับแห่งความสุขกันครับ
ต้องขอเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลัง และความเหมือนของสามประเทศนี้กันก่อน ประการแรกคือสามประเทศนี้อยู่ในพื้นที่ของแหลมสแกนดิเนเวียเหมือนกัน ตอนแรกทั้งสามประเทศเป็นส่วนหนึ่ง ของราชอาณาจักรเดนมาร์ก ก่อนที่สวีเดนจะแยกตัวออกมาก่อน และนอร์เวย์จะแยกตามอีกที ซึ่งทั้งสามประเทศทุกวันนี้ก็ยังมีราชวงศ์อยู่ และก็ปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
และในบางครั้งพอพูดถึงประเทศสามกลุ่มนี้ คนก็จะพูดถึง ไอซ์แลนด์ และฟินแลนด์รวมมาด้วย โดยเรียก รวมๆ ว่า กลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยประเทศในกลุ่มนี้จะมีปรัชญาการใช้ชีวิตอยู่ครับ กับคำว่า ฮุกกะ ลากอม ซิสุ
ฮุกกะ
ในภาษานอร์เวย์ ฮุกกะ (Hygge) แปลว่า การอยู่ดีมีสุข หรือว่าความสุขที่เรียบง่าย แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นภาษานอร์เวย์ แต่ฮุกกะเหมือนเป็นแนวคิดสำคัญของชาวเดนมาร์ก
โดย ไมก์ วิกิง (Meik Wiking) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขแห่งเดนมาร์ก ผู้เขียนหนังเรื่องฮุกกะ เคยอธิบายเอาไว้ว่า ฮุกกะเป็นเหมือนศิลปะในสร้างความผ่อนคลายในจิตวิญญาณ รวมการหาความสุขจากสิ่งรอบตัวในปัจจุบัน แต่การใช้แค่คำว่า ความสุข เพื่อสื่อถึงฮุกกะ ก็อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าจริงๆ แล้ว ไอ้คำว่า ฮุกกะ ไม่สามารถแปลให้เป็นคำในภาษาอื่นได้โดยที่มีความหมายโดยตรง
แต่ถ้าจะให้เปรียบมันอาจจะใกล้กับคำว่า ‘cozy’ หรือ ‘coziness’ ที่แปลว่าความสบาย มากกว่า เพราะฉะนั้น มันก็เหมือน การที่เราเองหาความสบายง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน หรือถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นหน่อย ก็คือหา ‘ความชิล’ จากสิ่งรอบตัวนั่นเอง
- การตกแต่งบ้านก็เป็นฮุกกะ
- การอยู่คนเดียวก็เป็นฮุกกะ
- การนอนอ่านหนังสืออยู่บ้านก็เป็นฮุกกะ
- การเดินเล่นในป่าก็เป็นฮุกกะได้เช่นกัน
เพราะมนุษย์เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม จึงต้องเลือกที่จะอยู่กับมันอย่างมีความสุขนั่นเองครับ
โดยสิ่งพื้นฐานในกิจกรรมของฮุกกะ มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการออกแบบภายในบ้าน หรืออุปกรณ์สร้างความสุขอย่างพวกเทียนหอม ขนม หนังสือ หัตถกรรมการเย็บปีกถักร้อย อาหาร กิจกรรมในครอบครัว แน่นอนครับ มันคือการที่คนเรารู้สึกดีกับสิ่งเล็กๆ รอบตัว
ลากอม
คำว่าลากอม (Lagom) เป็นแนวคิดจากทางฝั่งสวีเดน หลายคนอาจจะมองว่ามันใกล้เคียงกับคำว่า ฮุกกะ แต่จริง ๆ ก็ไม่อยากให้เอามันไปเปรียบเทียบกัน อาจจะเป็นเพราะมันว่ามาจากพื้นที่โซนเดียวกัน เป็นรูปแบบการคิดการใช้ชีวิตเหมือน และเป็นเรื่องราวที่โฟกัสความสุขเหมือนกัน แต่ลากอมมักพูดถึง อะไรที่ ‘พอดี’ มากกว่าครับ
ลากอม มีรากศัพท์มาจากวลีที่ชาวไวกิ้งนิยมพูด ขณะส่งแก้วไวน์วนไปรอบโต๊ะครับ โดยให้แต่ละคนจิบแต่พอประมาณ ก็เพราะจะทำให้ทุกคนในโต๊ะได้ดื่มไวน์กันหมด (ไม่มีใครกินเยอะ ทุกคนกินแบบพอดี ก็จะได้กินกันทุกคน) เราจึงอาจแปลคำว่า ลากอม อย่างง่ายว่า “ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป พอดีๆ” แตกต่างจาก ฮุกกะจะหมายถึงการหยิบจับอะไรที่เล็กน้อยมาเป็นความสุข
โดยเราสามารถนำลากอมมาปรับใช้กับชีวิตได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกิน, เสื้อผ้า, การใช้ชีวิต ไปจนถึงการทำงาน ซึ่งคำว่า “พอดี” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจึงไม่อาจแนะนำความพอดีได้ แต่การสังเกตชีวิตในแต่ละช่วงของเราและค่อยๆ ปรับให้มันพอดี นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราได้ลากอมในชีวิตมากขึ้น
แต่ลากอมไม่ได้แปลว่าการไม่เอาอะไรเลย หรือในไทยอาจจะเป็นเรื่องของการเดินสายกลาง ความพอเพียง ความมัธยัสถ์ ความเหมาะสมนั่นเอง
ซิสุ
ในส่วนของคำว่าซิสุ (Sisu) ขอบอกเลยว่าเป็นคำที่ผมชอบเป็นพิเศษ เพราะเวลาที่เราพูดถึงฟินแลนด์
เราอาจนึกถึงประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลก, ประเทศที่หนาวสุดขั้ว, ลายดอกไม้ของ Marimekko ไปจนถึงตัวการ์ตูนอย่าง Mumin แต่แท้จริงแล้วฟินแลนด์มีอะไรซ่อนอยู่อีกมาก และแนวคิดซิสุก็เป็นหนึ่งในนั้น
ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกันสักนิดครับ ตามประวัติศาสตร์เราจะพบเลยว่า กองทัพโซเวียตในยุคนั้นแข็งแกร่งมาก แต่ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศเล็กๆ ที่ใช้คนน้อยกว่าในการต้านทานกองทัพโซเวียตได้นานถึง 3 เดือน ถ้าไม่ใช่เรื่องศึกสงคราม ประเทศฟินแลนด์ก็สามารถพลิกฟื้นการศึกษาสู่ประเทศที่ทั่วโลกยอมรับว่าการศึกษาดีที่สุดในโลกอย่างที่เป็นในปัจจุบัน
โดยหลายคนเชื่อว่า ความสำเร็จ เหล่านี้มาจากรากฐานความเชื่อ ที่เรียกว่า ซิสุ นั่นเองครับ
ซิสุ จะค่อนข้างแตกต่างกับแนวคิดด้านบนอยู่บ้าง ซิสุ ไม่ได้เป็นแนวคิดเรื่องการแสวงหาความสุข หรือการตามหาความสุขแบบโดยตรง แต่มันเป็นเหมือนการใช้ชีวิตในแบบที่เข้าใจ ยอมรับ และก็เผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ผมขออธิบายแบบนี้ครับ จริงๆ แล้ว คำว่า ‘แฮปปี้’ มีรากศัพท์มาจากคำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครั้ง ชั่วคราว สิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยหนัก เพราะฉะนั้น สำหรับชีวิตมนุษย์ ก็คงไม่ได้แปลกอะไร ที่เราจะพบเจอสิ่งที่เหนื่อยใจ หรือความทุกข์ที่มากกว่าในแต่ละวัน แต่ถ้าเรายอมรับ และอยู่กับความทุกข์หรือสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไม่ทุกข์ร้อนใจ ไม่ทรมาน มันก็เป็นความสุขในอีกรูปแบบนึงแล้วไม่ใช่เหรอครับ
อาจจะเริ่มต้นง่ายๆ จากการพับผ้าปูที่นอน การอาบน้ำเย็น การฝืกกินผัก หรือเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น การทำงานที่ท้าท้าย การเริ่มทำอะไรที่ยากๆ ก่อน คือถ้าสังเกต ซิสุ จะไม่ค่อยพูดถึงความสุขครับ มันจะเป็นเรื่องความพยายาม ความอุตสาหะ และการยอมรับในสิ่งที่เต็มไปด้วยความยากลำบากและความท้าทาย
ถ้าจะให้สรุปง่าย ๆ
- ฮุกกะ คือ ความมีความสุขจากสิ่งเล็กน้อยรอบตัว
- ลากอม คือ ความสุขจากความพอดี
- ซิสุ คือ ความสุขที่เกืดจากการกล้าทำอะไรที่ยากลำบาก
โดย 3 ประเด็นนี้ ก็เป็นความสุขแบบฉบับชาวไวกิ้งที่โด่งดัง แต่สำหรับบางท่านมันอาจจะดูฮิปเสตอร์ kinfolk หรือชิคไปบ้าง
หากเป็นประเทศที่มีสวัสดิการที่ดีมาก เป็นสวัสดิการที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะฉะนั้นมันคงไม่แปลกอะไร ถ้าใครคนนึงจะสามารถมีความสุขเล็กน้อยจากสรรพสิ่งรอบตัวได้ สามารเดินชมนก ชมไม้ อาบป่า แล้วก็มีความสุขได้ แต่สำหรับประเทศที่สวัสดิการไม่ได้ดีอะไรนัก การดิ้นรนไปในแต่ละวันก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว จะมานั่งมีความสุขกับการชมนกชมไม้ก็ไม่ใช่เรื่องนัก
อุฟเฟ่อ โวล์ฟเฮชเชล (Uffe Wolffhechel) เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ท่านเคยระบุเอาไว้ครับว่า สวัสดิการของรัฐอาจช่วยให้ประชาชนมีความสุขกับชีวิตได้ก็จริง แต่ความจริงคือรัฐไม่ได้สร้าง ‘ความสุข’ แต่รัฐจะสร้าง ‘สภาพแวดล้อม’ ที่เอื้อให้ความสุขเจริญเติบโตได้มากกว่า
ซึ่งประเด็นนี้ผมว่าเป็นคำถามที่ดีครับ เพราะเอาจริงๆ แนวคิดพวกนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของความสุขเท่านั้น แต่ความเป็นสุขมันถูกหล่อหลอมได้ง่ายกว่าในโครงสร้างทางสังคมที่ดี หรือพูดง่ายๆ สวัสดิการที่ดี จะทำให้คนมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้น การตั้งคำถามกับสังคมหรือโครงสร้างสังคมก็เป็นสิ่งที่เราควรทำอยู่เสมอ ไม่ใช่ทำเพราะจุดยืนทางการเมือง แต่เป็นการกระทำเพื่อจุดยืนทางความสุขของเรา ไม่ว่ากับรัฐบาลไหนก็ตาม อีกส่วนหนึ่งก็คงต้องเป็นการปลูกฝังแนวคิดความเท่าเทียม ความไม่เห็นแก่ตัว เข้าไปสู่หัวใจเด็กๆ ที่กำลังเติบโตแบบจริงจังนั่นแหละ
เพราะจริงๆ แล้วแนวคิดทั้งหมดนี้ก็มีข้อถกเถียงอยู่บ้างครับ เพราะการที่ดีเกินไป กลางเกินไป ไม่กล้าเปลี่ยน ไม่กล้าเด่น ไม่กล้าแตกหักเกินไป ก็มักจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก รวมถึงถูกมองว่าเป็นการหนีปัญหาหรือจัดการปัญหาไม่ได้อีกด้วย
แต่ถ้านับเป็นเชิงปัจเจก ถ้ามีทัศนคติที่ดี มีวิธีมองโลกอย่างเข้าใจ เราก็สามารถมีความสุขได้ แม้คุณจะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอะไรก็ตาม เอาเป็นว่าก็หยิบแนวคิดมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับความเป็นอยู่ และความเป็นคุณก็ได้ครับ
บางทีความสุขมันอาจจะไม่ได้เกิดจากการตามหาความสุข แต่มันอาจเป็นเพียงการยอมรับว่าตอนนี้เรายังไม่มีความสุขเท่านั้นเอง
อ้างอิง
- World Happiness Report. World Happiness Report 2020. https://worldhappiness.report
- BECOMMON. HYGGE: รู้จัก ‘ฮุกกะ’ เพื่อเข้าถึง ‘ลุกกะ’ หรือความสุขฉบับชาวเดนมาร์ก. https://bit.ly/2y1VP1R
- Brandthink. 5 แนวคิด ปรัชญาชีวิตที่ทำให้ใจเราเป็นสุขมากขึ้น. https://bit.ly/3czzyHu