เวลาคนเราหิวเมื่อไหร่ก็เป็นอันอยู่ไม่สุข กระวนกระวายใจอยากหาอะไรมารองท้อง หรือถ้ากินอาหารไม่ถูกใจวันนั้นก็จะกลายเป็น bad day หรือวันแย่ๆ ไป เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม นี่คือเรื่องปกติของมนุษย์ เพราะการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ‘ความหิว’ ส่งผลเสียต่อ ‘อารมณ์’ ในชีวิตประจำวันของเราจริงๆ
มีการศึกษาแรกที่สำรวจว่า ความหิวส่งผลต่ออารมณ์ในขณะที่ผู้คนดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไร ซึ่งนักจิตวิทยาพบว่ายิ่งคนเรารู้สึกหิวมากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งโกรธและหงุดหงิดมากขึ้นเท่านั้น
โดยการศึกษานี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ศาสตราจารย์วีเรน สวามี (Viren Swami) นักจิตวิทยาสังคม จากมหาวิทยาลัยแองเกลีย รัสกิน (Anglia Ruskin University) ถูกคนอื่นบอกว่าเขาเป็นพวก ‘โมโหหิว’ หรือ ‘Hangry’ จึงทำให้เขาสงสัยว่า การโมโหหิวนั้นเป็นภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือเราแค่นิยามมันขึ้นมาเอง
การศึกษานี้ สวามีได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยในออสเตรียและมาเลเซีย โดยทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง 64 คนที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี เพื่อบันทึกอารมณ์และระดับความรู้สึกหิวของพวกเขา จำนวน 5 ครั้งต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ พร้อมกับมีอาสาสมัครเฝ้าติดตามขณะทำกิจวัตรประจำวันอีกด้วย
แม้กลุ่มตัวอย่างที่ทำการวิจัยจะมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ หรือพฤติกรรมการบริโภค แต่จากคำอธิบายในวารสาร Plos One นักวิจัยกล่าวว่า ความหิวสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ที่จะทำให้เกิดอารมณ์โกรธและหงุดหงิดตามมา
จึงทำให้ได้ข้อสรุปว่า อาการ ‘โมโหหิว’ นั้นมีอยู่จริง
แล้วการโมโหหิวมันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ผู้วิจัยต่างมีสมมุติฐานอยู่หลายอย่าง แต่มีการศึกษาหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง จะทำให้เพิ่มระดับความหุนหันพลันแล่น ความโกรธ และความก้าวร้าวมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเหตุให้เวลาที่เราไม่ได้กินข้าว ก็จะอารมณ์เสียเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การสูญเสียการควบคุมตนเองและอารมณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลงเพียงเล็กน้อยจริงหรือไม่
กระนั้น การศึกษาก็ไม่ได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ผู้วิจัยเชื่อว่าการที่เรารู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง สามารถช่วยให้เราจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะหลายครั้งเราอาจจะรู้สึกอารมณ์ไม่ดีและโมโหง่าย โดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเราเพียงแค่ ‘หิว’ เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากนักวิจัยที่เชื่อว่า หากเด็กต้องเรียนหนังสือไปพร้อมกับความรู้สึกหิวโหย อาจทำให้เด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนลดน้อยลง และอาจส่งผลกระทบไปสู่การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามมา หรือแม้แต่ในผู้ใหญ่เองก็ตาม การปล่อยให้ตัวเองหิวอาจทำให้ลดทักษะในการเข้าสังคมอีกด้วย
เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยให้ความหิวครอบงำความรู้สึกของตัวเรา เมื่อไหร่ที่รู้สึกหิวต้องรีบหาอะไรกิน ก่อนความหิวจะเข้าบงการชีวิตคุณ!
อ้างอิง
- The Guardian. ‘Hangry is a real thing’: psychologists find link between hunger and emotions. https://bit.ly/3PgWy13