เคยสังเกตไหมว่า เวลาเราพูด มือของเรามักจะขยับตามไปด้วย แม้แต่เวลาคุยโทรศัพท์ที่คู่สนทนาไม่เห็นมือเราแน่ๆ เราก็ยังขยับไม่หยุด
อย่างแรกเลยการพูดเป็น ‘การสื่อสาร’ เบื้องต้นของมนุษย์ แต่หลายๆ ครั้งมันไม่เพียงพอ เช่นในการสื่อสารระยะไกลที่ต้องได้ยินเสียงไม่ชัด สัญชาตญาณจะบอกให้เราใช้ตัวช่วยอย่างเช่นมือในการช่วยสื่อสารออกไปให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งมันจะมีลักษณะร่วมง่ายๆ เช่น โบกมือ ยกนิ้วโป้ง เป็นท่าทางประกอบให้การพูดคุยเข้าใจง่ายขึ้น
แต่ในกรณีที่มองไม่เห็นกันอย่างเช่นเวลาคุยโทรศัพท์ ทำไมเรายังขยับมือไปทำไม?
เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์มีคำตอบ เมื่อปี 1996 ทีมนักวิจัย Frances Rauscher, Bob Krauss และ Yihsiu Chen ระบุว่าการขยับมือมีความเกี่ยวพันกับการ ‘ประสบการณ์’ ในสมอง การทดลองครั้งนั้นนักวิจัยได้ให้กลุ่มทดลองดูการ์ตูน Wile E. Coyote and the Road Runner (หมาป่าไล่ตามนกวิ่งเร็วจี๋จากดิสนีย์) หลังจากนั้นกลุ่มทดลองจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเพื่อเล่าเรื่องราวที่พวกเขาดูในการ์ตูนให้คนอื่นฟัง
ในกลุ่มแรกพวกเขาสามารถใช้มือระหว่างพูดคุยได้อย่างอิสระ ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ถูกมัดมือเอาไว้กับเก้าอี้ ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ถูกมัดมือเอาไว้บรรยายเรื่องได้อย่างกระท่อนกระแท่น พวกเขาใช้เวลานึกเหตุการณ์และคำศัพท์ที่จะใช้นานกว่า และมีจังหวะการ ‘เอ่อ…’ มากกว่ากลุ่มที่ใช้มือได้อย่างอิสระ
ที่เป็นแบบนั้นเพราะเวลาเราพูดอะไรสักอย่างเรามักจะเกิดภาพขึ้นในหัวและเชื่อมโยงกับคำศัพท์ และการขยับมือหรือท่าทางช่วยให้เรา ‘นึก’ ถึงประสบการณ์ได้ง่ายมากขึ้น
สิ่งสำคัญที่งานวิจัยค้นพบคือเราไม่ได้ขยับมือตามคำพูดอย่างที่เคยเข้าใจ แต่เราขยับมือก่อน เพื่อให้นึกสิ่งที่จะพูดออกมาต่างหาก ดังนั้นต่อให้ไม่มีใครเห็นเราก็ยังขยับมืออยู่ดีเพราะว่ามันช่วยให้เรานึกภาพในสมองและเชื่อมโยงกับคำศัพท์ที่จะพูดออกมาได้ไวกว่าการไม่ใช้มือ
ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราพยายามพูดถึงพัสดุ หลายคนขยับนิ้วเป็นสี่เหลี่ยมเพื่อทำเป็นรูปกล่อง เพื่อให้สมองนึกภาพกล่องออกมาได้เร็วขึ้นและพูดคำว่า ‘กล่องพัสดุ’ ออกมาได้ในที่สุด
สรุปแล้วการขยับมือระหว่างที่พูดไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารกับคนอื่นให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น แต่หลักๆ มันคือการสื่อสารกับตัวเองด้วยท่าทางช่วยให้สมองคิดเร็วขึ้นว่าเราจะพูดคำว่าอะไรออกมา แต่หลายๆ คนก็ฝึกพูดอย่างลื่นไหลโดยที่ไม่ต้องขยับมือโดยเฉพาะเวลาพูดในที่สาธารณะเพราะการขยับมือมากเกินไปอาจถูกมองว่าบุคลิกภาพไม่ดีได้เหมือนกัน
อ้างอิง
- Psychologytoday. Why do we move our hands when we talk I: Finding the right words. https://bit.ly/3w5ZTqF