รู้จัก ‘ค้อน-เคียว’ โลโก้ขบวนการใหม่ของ “เยาวชนปลดแอก” สัญลักษณืนี้หมายถึงอะไร?
หลังจากกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” โพล่งเสนอโลโก้ใหม่เป็นรูป ‘ค้อน-เคียว’ ภายใต้ตัวหนังสือภาษาอังกฤษ RT ออกมา พร้อมระบุบนโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่า
ประกาศเปิดตัว RT MOVEMENT – ทีมข้อเดียวมูฟเมนท์
‘นี่คือ MOVEMENT ครั้งใหม่ที่จะไม่มีอะไรเหมือนเดิม ปลุกสำนึกทางชนชั้นของเหล่าแรงงานผู้ถูกกดขี่ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน พนักงานออฟฟิศ แม่บ้าน รปภ. นอกเครื่องแบบ ชาวนา ข้าราชการ “เราทุกคนล้วนเป็นแรงงานผู้ถูกกดขี่’
โพล่งมาแบบนี้ คนก็เดาไปต่างๆ นานาว่านี่คืออะไรกัน?
บ้างก็ว่านี่เป็นการพูดแบบ “ทีเล่นทีจริง” ตามประสาขบวนการนักศึกษาตอนนี้ บ้างก็คิดว่านี่คือความจริงจังที่ต้องมองแบบจริงจัง
ประเด็นแรกที่ต้องเข้าใจตรงกันก่อนคือ ขณะนี้มีกลุ่มที่พยายามจะ “นำ” ขบวนการทางการเมืองในไทย ณ ขณะนี้ หรือ “คนรุ่นใหม่” หลายกลุ่ม โดยกลุ่ม “เยาวชนปลกแอก” เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในช่วงแรกๆ ของขบวนการ แต่ต่อมา กลุ่มที่มีข้อเสนอที่โดดเด่นเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือกลุ่ม “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ซึ่งแกนนำกลุ่มนี้หลายๆ คนก็กลายมาเป็นกลุ่ม “คณะราษฎร” ที่เป็นแกนหลักของการชุมนุมในปัจจุบัน
ดังนั้นในแง่นี้กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ที่เสนอ ‘ค้อน-เคียว’ มา ณ จังหวะนี้ พูดให้ตรงสุดก็คือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ “นำม็อบ” อยู่ ณ ขณะนี้
ทีนี้มาถึง ‘ค้อน-เคียว’ บ้างว่าหมายถึงอะไร?
1.
หลายคนคงรู้ว่าหมายถึง “คอมมิวนิสต์” แต่จริงๆ สัญลักษณ์ ‘ค้อน-เคียว’ มีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่านั้น
ในช่วงแรกๆ ของ “ขบวนการแรงงาน” และ “ขบวนการสังคมนิยม” ในศตวรรษที่ 19 สัญลักษณ์แรกๆ ที่ใช้ในการเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการ คือ ‘ธงสีแดง’ ซึ่งมีรากฐานทางประวัติศาสตร์มาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส
เรื่องหนึ่งที่ต้องรู้คือในศตวรรษที่ 19 ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “คอมมิวนิสต์” ในความหมายปัจจุบัน มีเพียงแรงงานที่รวมตัวกันต่อสู้กับรัฐและนายทุนที่กดขี่พวกเขา เพื่อให้ชนชั้นแรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ซึ่งขบวนการเหล่านี้นี่เองที่นำมาสู่สิ่งที่เป็น “ปกติ” ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น การมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ไปจนถึงการที่คนทุกคนมีสิทธิ์เลือกตั้ง
หรือพูดง่ายๆ “ธงแดง”ในทางประวัติศาสตร์คือสัญลักษณ์ของ “ขบวนการประชาธิปไตย” ยุคบุกเบิกนั่นเอง
2.
ทีนี้ พอย่างเข้าช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มเกิด “รอยร้าว” ในขบวนการแรงงานที่เวลานั้นเป็นขบวนการที่ใหญ่และมีอำนาจมากขึ้น ผู้คนจึงช่วงชิงการนำขบวนการ และก็เริ่มมีคำถามว่า ขบวนการแรงงานนี้ต้องการ “พรรคการเมือง” เพื่อไปต่อรองในเวทีการเมืองระดับประเทศ หรือกระทั่งนำประชาชนเพื่อ “ปฏิวัติ” หรือไม่?
เวลาต่อมาก็เกิดพรรคแรงงาน พรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมกับการสืบทอดสัญลักษณ์ ‘ธงแดง’ และ ‘สีแดง’ ไปต่อ
ส่วนอีกกลุ่มมองว่าขบวนการแรงงานไม่ควรจะไปยุ่งเกี่ยวกับ
พรรคการเมืองและการเมืองระดับชาติใดๆ เพราะมันจะวุ่นวายและทำให้แกนหลักของการเรียกร้อง ซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องเสียไป คนกลุ่มนี้คือขบวนการแรงงานสายอนาธิปไตย และพวกเขาจะใช้ ‘ธงดำ’ เป็นสัญลักษณ์ เพื่อให้ต่างจากขบวนการแรงงานสายการเมือง
ตั้งแต่นั้น ‘ธงดำ’ และ ‘สีดำ’ ก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญของนักกิจกรรมฝ่ายอนาธิปไตยมาจนถึงศตวรรษที่ 21
3.
ตัดกลับมา ‘ธงแดง’ ตอนต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มที่นำขบวนการสังคมนิยมคือกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยรัสเซีย ทางพรรคมีการประกวดการออกแบบโลโก้พรรค และโลโก้ที่ชนะก็คือ ‘ค้อน-เคียว’ ที่ออกแบบโดยนาย Yevgeny Kamzolkin นักเรียนศิลปะชาวรัสเซีย หลังจากนั้นพรรคก็เลยเอาโลโก้นี้มาเป็นสัญลักษณ์ของพรรค ซึ่งต่อมา พอพรรคปฏิวัติสำเร็จและสถาปนาสหภาพโซเวียต โลโก้ ‘ค้อน-เคียว’ ก็ถูกเอามาประสานกับ ‘ธงแดง’ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ขบวนการคอมมิวนิสต์” ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน และพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกก็เอาโลโก้นี้มาใช้ตามรัสเซีย
นัยยะที่สำคัญของ ‘ค้อน-เคียว’ หลักๆ อยู่ที่ ‘เคียว’ เพราะในตอนแรก การต่อสู้ของขบวนการแรงงานในโลกตะวันตกที่เป็นสังคมอุตสาหกรรมไม่ได้รวม “ชาวนา” เข้ามาในขบวนการด้วย แต่ในประเทศที่ยังล้าหลังด้านอุตสาหกรรม และทำการเกษตรอยู่เป็นหลักอย่างรัสเซีย “ชาวนา” คือแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นการขับเคลื่อนขบวนการแรงงานในรัสเซียจึงต้องรวม “ชาวนา” เข้ามาด้วยเป็นกำลังสำคัญ และโลโก้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในสังคมเกษตรอย่างรัสเซียก็ต้องสะท้อนมิติแบบนี้ออกมาอย่างชัดเจน
4.
แต่ทีนี้ไม่ใช่ ‘ค้อน-เคียว’ จะไม่มีปัญหา เพราะในช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ชัดเจนแล้วว่า “พรรคคอมมิวนิสต์” ในทางปฏิบัติไม่ได้มีความ “เผด็จการ” น้อยกว่าพรรคนาซีแต่อย่างใด
กล่าวคือ “การปฏิวัติคอมมิวนิสต์” ไม่ได้ส่งผลในการ “ปลดปล่อย” ชนชั้นแรงงานอย่างที่คนเชื่อกันในทีแรก แถมยังนำไปสู่การกดขี่รูปแบบใหม่ ซึ่งนี่ยังไม่นับว่าทำให้เกิดการ “สังหารหมู่” ระดับเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นไปใต้ระบอบสตาลินหรือเขมรแดง
ดังนั้นในบริบทของกลางศตวรรษที่ 20 ในโลกตะวันตกที่เป็น “โลกเสรี” นัยยะของสัญลักษณ์ ‘ค้อน-เคียว’ จึงไม่ใช่เรื่องของการ “ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่” เช่นในอดีต แต่เป็นสัญลักษณ์ของ “เผด็จการในนามของการปลดปล่อย” มากกว่า
และนี่ทำให้ขบวนการต่อสู้กับ “เผด็จการ” ในโลกตะวันตกฝั่งโลกเสรีจำนวนมากพยายามจะถอยห่างสัญลักษณ์นี้
5.
แล้วพวกเขาใช้สัญลักษณ์อะไร?
คำตอบง่ายๆ ก็คือพวกเขาใช้สัญลักษณ์ของการ ‘ชูกำปั้น’ แทน ซึ่งสัญลักษณ์นี้มีประวัติยาวนานอยู่แล้วในการต่อต้านอำนาจ แต่การเอามาใช้เป็นสัญลักษณ์ขบวนการต่อต้านเริ่มจาก Frank Cieciorka ออกแบบโลโก้นี้ให้กับคณะกรรมการประสานงานนักศึกษาสันติวิธีของอเมริกาในช่วง 1960’s และทำให้โลโก้นี้แพร่หลายไปทั่วอเมริกาในช่วงขบวนการต่อสู้ทางสังคมในยุคนั้น ตั้งแต่ขบวนการนักศึกษาถึงขบวนการคนดำก็ใช้สัญลักษณ์นี้ และเอาจริงๆ แม้แต่ขบวนการนักศึกษาในฝรั่งเศสยุคเดียวกันก็ใช้สัญลักษณ์ ‘ชูกำปั้น’ เช่นกัน
เนื่องจากสัญลักษณ์ ‘ชูกำปั้น’ ฮิตในยุค 1960’s อันเป็นต้นกำเนิดของขบวนการ “ซ้ายใหม่” (ซึ่งก็คือขบวนการผู้นิยมแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ แต่ไม่นิยมแนวทาง “ปลดปล่อย” ของพรรคคอมมิวนิสต์) โลโก้ชูกำปั้นก็เลยแพร่หลายในโลกตะวันตกในฐานะสัญลักษณ์ของ “ขบวนการฝ่ายซ้าย” โดยรวมๆ มาจนถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่า แม้จะมีการแยกปลีกย่อยสารพัดในขบวนการ แต่โลโก้ชูกำปั้นก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่เห็นร่วมกัน
ดังนั้นในแง่นี้ ในโลกตะวันตก “ฝั่งโลกเสรี” จึงใช้โลโก้ ‘ชูกำปั้น’ เป็นเครื่องหมายของขบวนการต่อสู้แทน ‘ค้อน-เคียว’ มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และที่น่าสนก็คือใน “โลกเสรี” ที่ต้องการันตีเสรีภาพในการแสดงออก เอาจริงๆ การใช้โลโกค้อนเคียวก็ไม่ได้ “ผิดกฎหมาย” แต่คนมันไม่ใช้กันเท่านั้นเอง
6.
เรื่อง “ตลกร้าย” คือ กลุ่มประเทศที่ทุกวันนี้โลโก้ ‘ค้อน-เคียว’ ผิดกฎหมาย (ระดับเดียวกับเครื่องหมายนาซี) กลับเป็นกลุ่มอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ที่สัญลักษณ์เหล่านี้ในปัจจุบันไปกระตุ้นเตือนความทรงจำไม่ดีในยุคที่ประเทศเป็น “เผด็จการ” ในยุคสงครามเย็นย้อนกลับมา
พูดง่ายๆ คือ ทุกวันนี้ไม่ว่าขบวนการฝ่ายซ้ายร่วมสมัยส่วนใหญ่และกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์เก่าก็ล้วนเบือนหน้าหนี ‘ค้อน-เคียว’ กันทั้งนั้น และประเทศที่ยังดูจะแฮปปี้กับสัญลักษณ์นี้ก็ดูจะมีแค่ประเทศที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ (เช่น จีน เวียดนาม) รวมถึงประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ (เช่น เนปาล อินเดีย) แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงภาพส่วนน้อยเท่านั้น
ดังนั้นก็จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่การเปิดตัวโลโก้ ‘ค้อน-เคียว’ ของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” จะทำให้หลายฝ่ายทั้งอึ้งและงงกับทิศทาง “เยาวชนปลดแอก”
แต่ทั้งหมดนี้ก็อาจเป็นแค่การเล่นล้อแบบ “ขบวนการคนรุ่นใหม่” ที่ก็ “แกง” คนรุ่นเก่าไปตามประสาก็ได้ ใครจะรู้?
อ้างอิง:
- Wikipedia. Hammer and sickle. https://bit.ly/2VRTtL7