เติมเต็มช่องว่างในหัวใจ ยามพบพานการสูญเสียกับ ‘Guy Winch’ นักจิตวิทยาและนักเขียน ผู้เชี่ยวชาญในการซ่อมแซมความเจ็บป่วยทางใจ

10 Min
445 Views
06 Jul 2024

ทุกขณะที่ก้าวเดินไปข้างหน้า เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะ ‘สูญเสีย’ อะไรไปบ้าง ทั้งเวลาเพียงเล็กน้อย จังหวะชีวิตที่ล่าช้า หรือแม้กระทั่งสิ่งที่รักในชีวิตอย่างครอบครัว คนรัก การงาน สัตว์เลี้ยง แม้แต่ตัวตนของเราเอง 

แล้วในบางครั้งการสูญเสียสิ่งเหล่านั้น นำมาซึ่งการเผชิญหน้ากับ ‘ภาวะหัวใจสลาย’ (Broken Heart) และคำแนะนำส่วนใหญ่ที่เรามักได้ยินก็คือ “แล้วเวลาจะเยียวยา” 

คำถามคือ แค่เวลาจะช่วยให้คนเราก้าวผ่านช่วงเวลาหัวใจสลาย ได้จริงหรือ?

นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมวันนี้ BrandThink ถึงกำลังนั่งอยู่ตรงหน้า ‘ดร.กาย วินช์’ (Dr. Guy Winch) นักจิตวิทยาและนักเขียนเจ้าของผลงานที่เหล่านักอ่านไทยหลายคนคงคุ้นชื่อกันไม่น้อย 

เพราะเขาคือผู้เขียนหนังสือ ‘EMOTIONAL FIRST AID ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ’ ที่แปลฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Be(ing) ในเครือสำนักพิมพ์ BiBlio และเล่มล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ไปคือ ‘How to Fix a Broken Heart ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ’ 

ด้วยความเชี่ยวชาญในการ ‘ซ่อมแซม’ ภาวะอารมณ์ความรู้สึกทางใจนี่เอง ผู้เขียนจึงอยากชวนทุกคนไปรู้จัก กาย วินช์ กันมากขึ้น  

จุดเริ่มต้นการเป็นนักซ่อมแซมใจในฐานะนักจิตวิทยา 

กาย วินช์ เริ่มเล่าย้อนกลับไปว่าตอนแรกเขาจำไม่ได้ชัดเจนนักว่ามีความฝันอยากเป็นนักจิตวิทยาตั้งแต่ตอนไหน 

“แต่หลังจากจบมาเป็นนักจิตวิทยาแล้วมีบทความเขียนถึงผม หลังจากนั้นก็มีเพื่อนสมัยมัธยมเขียนมาหาผมว่า ‘นายพูดว่าอยากจะเป็นนักจิตวิทยาตั้งแต่ 14 แล้วนะ’ ผมตอบว่าผมน่ะเหรอ ผมเนี่ยนะ!” 

เขาเล่าพลางกลั้วหัวเราะ ก่อนจะกลับมาเล่าด้วยสีหน้าจริงจังขึ้นอีกครั้ง

“หลังจากนั้นก็จำได้ชัดเจนว่าตอนอายุ 14 ปี ผมมีความสงสัยบางอย่างเกี่ยวกับพฤติกรรมแปลกๆ ของผู้คนที่ไม่สมเหตุสมผลนัก ยกตัวอย่างเช่น เวลาพ่อแม่ผมโต้เถียงกันเกี่ยวกับเรื่องบางอย่าง ซึ่งผมมีคำถามว่าทำไมพวกเขาไม่พูดกันตรงๆ คือพวกเขาทำเหมือนว่าพร้อมที่จะรับฟังกันและกันแต่ความจริงมันไม่ใช่” 

ความย้อนแย้งเกี่ยวกับพฤติกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่กาย วินช์สังเกตเห็นนี่เองที่ทำให้เขาสนใจและเริ่มเฝ้าสังเกตผู้คน หลังจากนั้นเมื่อเขาอายุ 18 ปี ก็เป็นช่วงคาบเกี่ยวกันระหว่างที่เขาต้องตัดสินใจเลือกสาขาวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย 

“ผมได้รู้จัก ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) และศึกษาจิตวิทยาเบื้องต้นผ่านหนังสือของเขา แม้ตอนนี้ทฤษฎีของเขาจะล้าสมัยและมีความไม่ถูกต้องในหลายด้าน แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้เกี่ยวกับจิตใต้สำนึกและอิทธิพลบางอย่าง กลายเป็นว่าผมสนใจเกี่ยวกับจิตวิทยาขึ้นมาจริงๆ จนตัดสินใจเข้าเรียนมหาวิทยาลัย” 

และหลังจากเรียนจบถึงปริญญาเอกคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) เขาได้เข้าทำงานในโรงพยาบาล NYU Medical Center มาก่อน ขณะนั้นเองที่กาย วินช์พบว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลส่วนใหญ่มักมาด้วยภาวะอาการขั้นรุนแรง 

เช่น จิตพยาธิวิทยา (Psychopathology), โรคจิตเภท (Schizophrenia), อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder), โรคซึมเศร้า (Depression) และโรควิตกกังวล (Anxiety disorder) บางคนมีอาการประสาทหลอน (hallucinations), หวาดระแวง (paranoia) ตลอดเวลา เป็นต้น 

“แต่สิ่งที่ผมสนใจจริงๆ คือผู้คนอย่างคุณหรือตัวผม หรือปัญหาทั่วไปที่เราไม่เคยได้เรียนรู้จากในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย อย่างคำว่า ‘ภาวะหัวใจสลาย’ (heartbreak) หรือ ความเหงา (loneliness) มักไม่ถูกพูดถึง เนื่องจากมีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงปรากฏเด่นชัดมากกว่า”  

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเกิดความสงสัยในใจขึ้นอีกครั้งว่า แล้วสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีปัญหารุนแรงจนถึงขั้นต้องรับยาหรือพบจิตแพทย์ล่ะ เขามีความคิดว่าอยากช่วยแก้ปัญหาทางใจให้กับผู้คนเหล่านั้นมากกว่า จึงตัดสินใจเปิดคลินิกของตัวเอง เพื่อให้คำปรึกษาบำบัดรายบุคคลและความสัมพันธ์ของคู่รัก เพื่อให้ผู้คนสื่อสารกันได้ดีขึ้น

“นี่คือจุดประสงค์ของผมที่หวังว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้คนมากมาย ซึ่งอาจตรงข้ามกับคนอื่นๆ ในฐานะนักจิตวิทยา แน่นอน หากใครที่มีอาการประสาทหลอนผมก็สามารถเขียนใบสั่งยาให้ได้ แต่สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุด คือการให้คำปรึกษาและการบำบัดผู้คนที่มีปัญหารบกวนจิตใจทั่วไป เช่น เขาจะมีความสุขในชีวิตได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมต้องการบรรเทาพวกเขา” 

ภาวะหัวใจสลาย หลุมลึกสุดใจที่ต้องเติมเต็ม

“แต่ดูเหมือนว่าคุณจะให้ความสำคัญกับผู้มีภาวะหัวใจสลาย เป็นพิเศษนะ อะไรทำให้คุณสนใจความเจ็บไข้นี้มากขึ้น” ผู้เขียนถาม 

วินช์ขยับตัวเล็กน้อยพลางทำหน้าครุ่นคิดราวกับกำลังเรียบเรียงคำตอบให้ง่ายที่สุดชั่วครู่ ก่อนตอบว่า 

“รู้ไหม ตอนที่ผมเริ่มเปิดคลินิกช่วงแรกมีคนไข้ที่กำลังเผชิญกับภาวะหัวใจสลายมาหาผม แต่ผมกลับไม่มีเครื่องมือหรือวิธีใดเลยที่สามารถช่วยเขาได้ ดังนั้น ผมจึงเริ่มครุ่นคิดเกี่ยวกับภาวะนี้ เริ่มอ่านงานวิจัยแล้วหาวิธีช่วยพวกเขา  

“นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนว่าทำไมผมถึงสนใจภาวะหัวใจสลาย อีกอย่างคือ การประสบกับภาวะหัวใจสลาย เป็นประสบการณ์เดียวในชีวิตที่พาคนที่ไม่มีประวัติทางจิตเวชมาหานักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดได้ นั่นก็เพราะว่า พวกเขากำลังสิ้นหวัง

“เมื่อใดก็ตามที่สูญเสียบางสิ่งในชีวิตไป แปลว่าคุณมี ‘ช่องว่าง’ ที่ต้องเติมมันให้เต็มด้วยบางสิ่งบางอย่าง 

“ดังนั้น เมื่อการเลิกราเกิดขึ้น จากแต่ก่อนที่คุณมีแฟนแล้วทุกสุดสัปดาห์พวกคุณตื่นมาแล้วตัดสินใจอย่างเอ้อระเหยว่า วันนี้เราจะทำอะไรกันดีที่รัก ทว่า ตอนนี้คุณตื่นขึ้นมาพบว่าไม่มีกิจวัตรแบบนั้นอีกแล้ว และบางทีเพื่อนของคุณก็เป็นเพื่อนของเขา ทำให้รู้สึกว่าตอนนี้คุณไม่มีเพื่อนด้วยซ้ำ หรือคุณกำลังฟังเพลงที่เคยฟังด้วยกัน ยังใช้ยาสีฟันหลอดเดิม

มีความแตกต่างอย่างมากระหว่าง การอยากให้ความเจ็บปวดทางอารมณ์จบลง กับการตัดสินใจลงมือทำให้มันหยุด 
– หนังสือ How to Fix a Broken Heart ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ

“จนเกิดคำถามว่า ‘แล้วฉันล่ะ’ เสมือนว่าคุณสูญเสียความเป็นตัวตนไป แม้ก่อนหน้านี้กิจกรรมเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว 

“การเลิกราจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ทำให้ครึ่งหนึ่งของคุณเกิดเป็นหลุมลึกแห่งความว่างเปล่าขึ้นมามากมาย ดังนั้น ความเข้าใจต่อการสูญเสีย เข้าถึงช่องว่างเหล่านั้น และรู้วิธีเติมมันให้เต็มจึงสำคัญมาก”

วินช์อธิบายต่อว่า มีงานวิจัยหนึ่งที่ทำการทดสอบว่าจะเกิดขึ้นกับสมองเมื่อคนเราหัวใจสลาย ซึ่งผลลัพธ์ทำให้เขาประหลาดใจมากเพราะผลสแกนสมองด้วยเครื่อง MRI พบว่า คนที่กำลังตกอยู่ในภาวะหัวใจสลายมีผลสแกนสมองไม่แตกต่างกับคนเสพติดเฮโรอีนที่อยู่ในช่วงอาการถอนยาเลยสักนิด 

หมายความว่า หลักการเลิกรา คนที่ตกอยู่ในภาวะหัวใจสลายจะยังคงโหยหาอดีตคนรัก พวกเขาจะรู้สึกดีเมื่อได้เห็นรูปที่เคยถ่ายด้วยกัน ข้อความที่เคยส่งให้กัน 

ทว่า บางคนยังคงหาสาเหตุจากการเลิกรา คร่ำครวญและร้องไห้คิดถึงเขา จนกระทั่งหลับไปก็มี ซึ่งสามารถกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้เพราะเราจะเฉยชากับทุกอย่าง หรือหมกมุ่นกับมันมากไปจนไม่ทำอะไรอย่างอื่น

“ถ้าอย่างนั้นคนที่กำลังอยู่ใน Toxic Relationship ถือว่ามีอาการคล้ายๆ กันด้วยหรือเปล่า ฉันเคยเห็นคนโพสต์ในทวิตเตอร์ว่าคนที่ยังคงอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ เพราะพวกยังหาความสุขได้จากความทุกข์ที่เกิดขึ้น” เราถามต่อ 

“ไม่เลย อาการถอนเฮโรอีนจะเกิดขึ้นเมื่อคุณสูญเสียคนคนนั้นไป แต่สำหรับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนั้นแตกต่างกัน คนที่เป็นพิษจะทำให้คุณรู้สึกว่าทุกอย่างที่ไม่ดีนั้นเป็นความผิดของคุณ 

“ดังนั้น เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์เช่นนี้ มันจึงฝึกให้คุณคิดว่าคุณไม่ดีเสมอ และคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่เลวร้าย มักมีความนับถือตนเองต่ำ เพราะคนรักจะปฏิบัติเหมือนว่าพวกเขาไม่มีอะไรเลย และส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขายังอยู่ต่อก็คือ ความภาคภูมิใจในตนเองต่ำมาก 

“จึงทำให้กลัวที่จะเลิกราหรือจากไปเนื่องจากความไม่มั่นใจที่เป็นผลมาจากความสัมพันธ์เป็นพิษ ทำให้พวกเขาคิดว่าตัวเองไร้ค่า ‘ฉันไม่มีอะไรเลย’ พวกเขามักพร่ำบอกกับตัวเองอย่างนี้ และ ‘คนเดียวที่อดทนฉันได้ก็มีแค่เขาคนเดียว’ เพราะกับดักเหล่านี้ทำให้คนที่อยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษไม่กล้าที่จะเริ่มต้นใหม่” 

‘ความสัมพันธ์เป็นพิษ’ เป็นประสบการณ์ที่แย่มากๆ เพราะคนที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้นจะคิดว่าการได้รับการปฏิบัติที่ดี หลังจากการถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือ ‘ความสุข’ แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ความรู้สึกสุขใจจริงๆ “มันเป็นแค่ความโล่งใจต่างหาก” กาย วินช์ ย้ำ 

“ลองนึกภาพว่า คุณลองเอามือไปอังเปลวเทียนแล้วรู้สึกร้อน นั่นเพราะคุณถูกไฟลน แต่พอชักมือออกคุณจะรู้สึกดีขึ้น แต่เปล่าเลยนั่นไม่ใช่ความสุข คุณแค่ไม่โดนไฟลนก็เท่านั้นเอง” 

ภาวะใจสลาย ส่งผลกระทบต่อสมองและพฤติกรรมของเราในแบบที่รุนแรงและคาดการณ์ไม่ได้  – หนังสือ How to Fix a Broken

Heart ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ ปลดปล่อยฝนแห่งความเสียใจสาดออกมาให้พอ 

กลับมาสู่อีกพฤติกรรมหนึ่งหลังจากที่คนเราต้องพบพานกับการสูญเสีย สิ่งแรกที่มนุษย์แทบทุกคนแสดงออกถึงความเสียใจคือ ‘การร้องไห้’ 

แต่ในสังคมไทยหลายบ้านมักสอนลูกหลานว่า ‘อย่าร้องไห้เพราะจะทำให้คนที่จากไปมีห่วง’ บ้างก็ตำหนิว่า ‘ร้องไปก็ไม่มีประโยชน์’ หรือ ‘ร้องแค่ไหนคนที่จากไปก็ไม่กลับมา’ วินช์ให้มุมมองของเขาเกี่ยวกับหัวข้อนี้ว่า 

“นั่นเป็นสิ่งที่ผิดมากๆ เมื่อมีคนมาบอกว่า อย่าร้องไห้ สังเกตดูสิคุณจะรู้สึกแย่ลงกว่าเดิม เพราะการร้องไห้เป็นปฏิกิริยาที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังมองหาวิธีการบรรเทาความเครียด คนเราจะรู้สึกโล่งใจและสมองจะผ่อนคลายจากการได้ปลดปล่อย ดังนั้น การร้องไห้ไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ”

เขาอธิบายเสริมว่า ให้ลองมองย้อนกลับไปตอนที่คนเรายังเป็นทารก สิ่งเดียวที่เราสามารถใช้สื่อสารกับพ่อแม่หรือคนดูแลได้ คือการร้องไห้ ซึ่งมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ดังนั้น การร้องไห้ คือหนึ่งในวิธีที่คนเราใช้เพื่อพยายามสื่อสารกับคนอื่น 

“และอีกเหตุผลหนึ่ง เมื่อเราสูญเสียคนสำคัญไป แต่หากพวกเขาไม่แสดงออกมาเลย ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะคุณกำลังกดดันตัวเองไม่ให้แสดงความโศกเศร้าออกมา 

“ดังนั้น จงเศร้าตราบที่คุณต้องการเถอะ นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่คุณควรทำแล้ว แต่คนไข้ที่มาหาผมแล้วร้องไห้ พวกเขามักจะกล่าวขอโทษที่ตัวเองร้องไห้เสมอ แล้วผมก็จะบอกว่าไม่เป็นไรเลย คุณทำถูกแล้ว” วินช์กล่าวอย่างตลกร้ายเล็กน้อยในช่วงท้าย

Keep Calm and Carry On ใจเย็นเข้าไว้แล้วก้าวเดินต่อไปแม้ใจจะพัง 

ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปราวเกือบชั่วโมงที่ผู้เขียนคุยกับกาย วินช์ ก่อนเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของบทสนทนา เราจึงขอหยิบอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือ ‘Keep Calm and Carry On’ ขึ้นมาร่วมบทสนทนาด้วย 

โดยเขาได้เริ่มเล่าจากที่มาของวลีนี้พอสังเขปว่า Keep Calm and Carry On เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นชาวเยอรมันทิ้งระเบิดลงลอนดอนทุกคืน ดังนั้นชาวลอนดอนจึงได้รับคำสั่งให้สงบสติอารมณ์และดำเนินชีวิตต่อไป

 พวกเขากำลังสื่อว่าต่อให้เราสูญเสียอะไรไปก็อย่าปล่อยให้ความรู้สึกใดๆ ก็ตามแสดงออกมา แล้วจงใช้ชีวิตที่อยู่รอดมาได้ไปในแต่ละวัน 

“แต่ในมุมมองของผมคิดว่า ‘การใจเย็น’ (keep calm) เป็นกระบวนการที่ช่วยให้เราสามารถเยียวยาความรู้สึกด้วยการใช้เวลาอย่างไม่ต้องรีบร้อน 

“ส่วน ‘การก้าวต่อไป’ (carry on) หมายถึง การดำเนินการเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่พรุ่งนี้ อาทิตย์หน้า มันไม่มีช่วงเวลาตายตัวว่าเมื่อไหร่ 

“ตราบใดที่คุณยังทำการเยียวยาอยู่ และนั่นหมายความว่าคุณกำลังสร้างชีวิตใหม่ ดังนั้น ใจเย็นเข้าไว้แล้วก้าวเดินต่อไป ในมุมมองของผมมันมีประโยชน์เมื่อเราฟุ้งซ่าน”

พูดอีกอย่างก็คือ ที่มาของวลี สำหรับ ดร.วินช์นั้นไม่ถูกต้องนัก เพราะเขาเห็นว่าคนเราไม่สามารถดำเนินชีวิตจากการเพิกเฉยต่อทุกสิ่งที่เข้ามากระทบใจได้ 

จึงตีความวลี ‘Keep calm and carry on – ใจเย็นเข้าไว้แล้วก้าวเดินต่อไป’ ในมุมมองของตัวเองว่า อนุญาตให้ตัวเองเยียวยาใจไปด้วยระหว่างที่เวลาชีวิตกำลังดำเนินต่อไปข้างหน้า ยิ่งเราเยียวยาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ชีวิตใหม่ในวันข้างหน้าก็กำลังรอเราอยู่  

เมื่อสถานที่และผู้คนเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นกับอาการใจสลาย เราจึงต้อง ‘ชำระ’ สายใยและทวงคืนสิ่งต่างๆ กลับมา – หนังสือ How to Fix a Broken Heart ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ

แค่ปล่อยให้ ‘เวลา’ เยียวยา ไม่พอต่อการซ่อมใจหรอกนะ 

‘แค่ให้เวลาเยียวยา แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น’ ประโยคที่เราได้ยินแทบทุกครั้งเมื่อต้องเจอกับความผิดหวัง หรือสูญเสียอะไรบางอย่าง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามในใจว่า “ใช้เวลาเหรอ แล้วต้องนานแค่ไหนถึงจะหาย” จึงไม่พลาดที่จะถามความข้องใจนี้กับนักจิตวิทยานักซ่อมใจที่นั่งอยู่ตรงหน้า

“เป็นเรื่องจริงที่ว่า ‘เวลา’ สามารถช่วยได้ แต่นั่นเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าต้องทำอะไรอีกบ้าง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเขียนหนังสือสองเล่มนี้ขึ้นมา  

“คุณไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากมายขนาดนั้น เช่นเดียวกับกฎการไม่ติดต่อ หลังตกอยู่ในภาวะหัวใจสลายจากการเลิกรา วิธีที่ดีที่สุดคือ เลิกติดต่ออดีตคนรักในทุกช่องทาง กำจัดพวกเขาออกจากหัว (เลยทำให้บางคนเกิดอาการถอนยา)

“แต่ ใช่ ผู้คนมักจะคิดว่า แล้วฉันจะทำอะไรในช่วงสุดสัปดาห์นี้ดีล่ะ จะไปดูหนังกับใคร ไปร้านอาหารกับใคร ถ้ามีเพื่อนไม่มากพอผมแนะนำให้ออกไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ เพื่อเข้าสังคมนะ ไม่ได้หมายความว่าให้ไปเดต (หัวเราะ) วิธีนี้จะเป็นการเยียวยาได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าเพียงแค่รอให้เวลาผ่านไป เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะใช้เวลายาวนานแค่ไหน

“นอกจากนี้ การสนับสนุนทางสังคม (Social support) เป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนเราควรได้รับ เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณกำลังเผชิญกับความเจ็บปวด

 “เช่นวัฒนธรรมส่วนใหญ่เมื่อมีคนเสียชีวิตมักจะมีการจัดพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับชุมชนขึ้น เพื่อให้กำลังใจกัน แต่กับการสูญเสียอื่นๆ อย่างอกหัก (หรือสัตว์เลี้ยงตาย) มักไม่มีคอมมูนิตีที่สนับสนุนความเสียใจของพวกเขา เว้นแต่คุณจะพูดคุยเรื่องเหล่านั้นกับเพื่อนสนิท 

การทิ้งเครื่องเตือนใจไป สะท้อนให้เห็นถึงความเต็มใจ
ที่จะปล่อยวางและความพร้อมในการก้าวเดินต่อไป – หนังสือ How to Fix a Broken Heart ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ

“ทว่าบางครั้ง ผู้คนที่กำลังอยู่ในภาวะหัวใจสลายก็อาจรบกวนเพื่อนของพวกเขามากเกินไป บางคนพูดเรื่องเดิมๆ กับเพื่อนของเขามากว่าสองเดือนแล้วแต่ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น ผมจึงอยากให้ระวังเรื่องความกรุณาและความเหนื่อยล้าของพวกเขาเอาไว้ด้วย

“เนื่องจากการให้การสนับสนุนทางสังคมนั้น ต้องใช้ทักษะการฟัง ความเข้าใจ และการปลอบโยน รวมถึงการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ กับเพื่อนบางคนคุณอาจจะพูดคุยกับพวกเขาได้เป็นชั่วโมง 

“แต่กับเพื่อนบางคนอาจจะเหมาะกับการไปทำกิจกรรมด้วย เช่น ไปดูหนัง กินข้าว ดังนั้นเราจึงต้องมีเพื่อนที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ที่ต่างกัน”

โดยสรุปคือ ถ้าปล่อยให้เพียง ‘เวลาเยียวยา’ อาจจะยาวนานจนเราไม่สามารถจินตนาการได้ว่าหลุมในใจจะถูกเติมเต็มเมื่อไหร่ หรือมันจะถูกเติมหรือไม่ การสนับสนุนทางสังคมจากคนรอบข้างด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ เพราะทุกคนจะมาร่วมด้วยช่วยกันเติมเต็มหลุมนั้นด้วยกันกับเรา 

ไม่มีแนวทางที่ถูกต้องที่สุด มีแต่วิธีไหนเหมาะสมกับปัญหาที่สุด

“ผมไม่มีแนวทางที่ชัดเจน และไม่เชื่อว่ามีวิธีที่ถูกต้องที่สุด เพราะสิ่งที่ดีกับบางคนอาจไม่ดีสำหรับคุณก็ได้ สมมติว่าคุณใช้วิธีพฤติกรรมบำบัดเท่านั้น คุณจะเห็นเฉพาะคนที่ต้องการการบำบัดด้วยวิธีนี้ แน่นอนว่ามันดีสำหรับบางคน ไม่ใช่ทุกคน

“และนั่นเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาที่คุณมีในขณะนี้ แต่หากผมเจอคุณในอีก 5 ปีข้างหน้า อาจจะเป็นแนวทางที่ไม่เหมือนเดิมเพราะคุณก็จะมีปัญหาที่เปลี่ยนไปตามช่วงชีวิตที่แตกต่างกัน 

“ดังนั้น สำหรับผมคือการเรียนรู้ทักษะและเครื่องมือต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้เลือกแนวทางที่เหมาะสมกับแต่ละคน และช่วยเหลือพวกเขาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

จากความปรารถนาที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ทางใจนี้ กาย วินช์จึงขลุกตัวอยู่ที่ห้องสมุดทุกสัปดาห์เพื่ออ่านงานวิจัย ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ สังเกตผู้คนว่าเขาทำอะไร แล้วเข้าไปพูดคุยกับพวกเขา 

ด้วยเหตุนี้เขาจึงใช้เวลาถึง 6 ปีในการเรียนปริญญาเอก เพราะต้องการศึกษาพฤติกรรมและเข้าใจผู้คนให้ได้มากที่สุด 

‘หัวใจของเราบุบสลาย แต่เราไม่จำเป็นต้องแตกสลายไปพร้อมกับมัน’ – หนังสือ How to Fix a Broken Heart ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ

“แม้ว่าจะเรียนจบแล้วผมก็ยังคงเรียนรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในทุกๆ วันอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (Lifelong learning) พราะมนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ตัวตนของพวกเรายังขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเรา ที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

“คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าใครบางคนต้องการอะไรในช่วงเวลาหนึ่ง โดยพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา พวกเขาเป็นใคร สามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร เพราะคนเราเปลี่ยนแปลงและเติบโตในทุกๆ นาทีด้วยความหวัง แต่บางครั้งก็เลือกเดินไปในทิศทางอื่น 

“จึงสำคัญมากที่ผู้คนจำเป็นต้องรู้ว่ามีเครื่องมืออีกหลายอย่างที่สามารถช่วยคุณได้ เพื่อการเยียวยารักษาหัวใจคุณให้ไวขึ้น เพราะฉะนั้นโปรดอ่านหนังสือเล่มนี้ สิ่งที่ผมแนะนำสามารถช่วยคุณได้ มันจะทำให้คุณเจ็บปวดน้อยลงด้วยการลงมือปฏิบัติ ผมเชื่อว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้น”

เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะต้องเผชิญกับ ‘ภาวะหัวใจสลาย’ อีกสักกี่ครั้งในชีวิต แต่หากเรารู้วิธีและเครื่องมือในการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากภาวะนี้ ผู้เขียนก็เชื่ออย่างที่ ดร.กาย วินช์ เชื่อ ว่าเราจะตั้งรับมันได้ดีขึ้น และใช้เวลาในการเยียวยาสั้นลงในทุกครั้ง