3 Min

เธอเองก็เป็นเจ้าของสถิติโลกลง Guinness Book ได้นะ ถ้ามีเงินสัก 35,000 บาท กับไอเดีย ‘อิหยังวะ’ ที่ยังไม่มีใครทำ

3 Min
1987 Views
24 Apr 2023

ช่วงหลังๆ เราน่าจะเห็นการบันทึกสถิติ ‘Guinness Book’ ในเรื่องที่ฟังแล้วบางคนอาจร้องว่าอิหยังวะจำนวนมาก ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมถึงมีการทำสถิติโลก ในเรื่องแปลกๆ ที่ไม่รู้ทำไปทำไม (นอกจากทำไปลง Guinness Book) กันเยอะนักหนา?

จริงๆ เรื่องพวกนี้มีคำอธิบาย แต่เราต้องย้อนไปที่ตัว Guinness Book ก่อน

ครั้งแรก The Guinness Book of Records ซึ่งเป็นหนังสือระดับตำนาน เกิดขึ้นในปี 1955 และมีการตีพิมพ์ทุกปีเพื่อบันทึกสถิติโลกต่างๆ และมันก็ขายดีในระดับที่ถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่ขายดีที่สุดตลอดกาลด้วยซ้ำ

แต่แล้วโลกก็เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต หนังสือหรือนิตยสารต่างๆ ยอดขายตกไปพักหนึ่ง แต่สำหรับ The Guinness Book of Records นี่คือจุดจบเพราะคนไม่รู้จะจ่ายเงินซื้อหนังสือที่บอกแค่สถิติโลกในราคาเป็นพันบาทไปทำไม ในเมื่อค้นเอาในอินเทอร์เน็ตหรือเสิร์ชใน Google ก็ได้

ผลก็คือ ยอดขายหนังสือที่เคยเป็นแหล่งรายได้หลักก็ลดลงเรื่อยๆ จนในปี 1999 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น Guinness World Records เพื่อเข้าสู่ยุคที่หนังสือจะไม่ใช่สื่อหลักแล้ว และโมเดลธุรกิจก็ปรับไปเรื่อยๆ จนราวปี 2008 จึงมาลงตัวกับโมเดลธุรกิจปัจจุบัน นั่นคือการรับจ้างสร้างสถิติโลก

จากที่สมัยก่อน The Guinness Book of Records เป็นบริษัทที่จะไปค้นหาสถิติจากทั่วทุกมุมโลกมาตีพิมพ์ลงในหนังสือ แต่มายุคนี้  Guinness World Records เป็นบริษัทที่ไม่หาสถิติใหม่อีกแล้ว บริษัทจะรอให้คนมานำเสนอการทำลายสถิติเก่า หรือเสนอสถิติใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย โดยค่าเสนอประมาณ 170 บาท (5 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

หลังจากเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ทำให้วันๆ หนึ่ง Guinness World Records ต้องรับการเสนอชื่อท้าชิงสถิติเป็นร้อย สัปดาห์ละเป็นพัน ปีหนึ่งเป็นหลายหมื่น ซึ่งในทางทฤษฎี บริษัทยินดีจะให้คนสร้างและทำลายสถิติได้ฟรี แต่ต้องตามคิวซึ่งยาวมาก

มันจึงมีระบบจ่ายค่าทางด่วนหรือเรียกกันติดปากว่า ‘fast track’ โดยถ้าต้องการให้ทีมงานอ่านใบสมัครเร็วๆ แบบภายใน 5 วันทำการ ก็ต้องจ่ายประมาณ 30,000 บาท สำหรับการสมัครทำลายสถิติโลกเก่า และจ่าย 35,000 บาท สำหรับการทำลายสถิติโลกใหม่

ในทางปฏิบัติ ทุกคนต้องการลัดคิวกันหมด ดังนั้นถ้าคุณไม่เสียเงินให้ทีมงาน ใบสมัครทำลายสถิติโลกของคุณจะไปไม่ถึงไหน เพราะจะถูกคนที่จ่ายเงินซื้อคิวด่วนลัดคิวไปเรื่อยๆ สุดท้าย คุณก็ต้องยอมจ่ายเงินเพื่อลัดคิว

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการจ่ายเท่านั้น เพราะ Guinness World Records ยังมีบริการเสริมยิบย่อยสารพัดตั้งแต่การเตรียมตัว การโค้ช การให้คำปรึกษา ฯลฯ เพื่อให้ผู้สมัครทำลายสถิติโลกได้จริงๆ พูดง่ายๆ คือถ้าจะเอาบริการเสริมเต็มๆ ก็อาจเสียเงินเป็นล้านได้เลย

อ่านมาถึงตรงนี้ ในทางทฤษฎี Guinness World Records พร้อมจะวัดและบันทึกสถิติโลกของคุณให้ฟรีๆ แต่คิวมันยาวมาก คุณต้องเสียเงินให้เขามาวัด และถ้าคุณอยากจะทำลายสถิติชัวร์ๆ คุณก็จะต้องเสียเงินเพื่อประสานงานกับเขาถึงวิธีเตรียมตัวจะทำลายสถิติ เพราะเขามีข้อมูลยาวนานอยู่แล้วว่าสถิติต่างๆ นั้นจะทำลายได้ยังไง

แต่พวกสถิติใหม่ๆ แบบอิหยังวะที่เปิดให้คนหรือองค์กรใดก็ตามสร้างสถิติที่คงไม่มีใครอยากทำลายขึ้น ซึ่งผู้คนและองค์กรก็จะได้โปรโมตฟรี ทาง Guinness World Records ด้วย

ถ้ามาดูในกรณีสถิติแปลกๆ ของไทย ก็มีค่าใช้จ่ายหลักหลายหมื่น ขั้นต่ำคือ ต้องเสียเงินค่าเสนอสถิติใหม่ 170 บาท และเสียค่าลัดคิวให้เขาอ่านใบสมัครอีก 35,000 บาท ค่าโค้ชคงไม่ต้องเสีย แต่ประเด็นคือคุณต้องเสนออะไรที่มันดูเว่อร์และบ้าพอที่เขาจะยอมรับว่ามันเป็นสถิติโลกแม้ว่ามันจะดูประหลาดแค่ไหน ที่เหลือก็คือความสิ้นเปลืองของการทำลายสถิติที่ถ้าพูดในสำนวน  อาจารย์แดง ก็คงต้องถามว่ามึงทำไปเพื่ออะไร?”

ทั้งนี้ Guinness World Records มีสถิติโลกในมือประมาณ 40,000 สถิติ และเวลาทำหนังสือจะลงแค่ราวๆ 4,000 สถิติเท่านั้น หรือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด และมากกว่านั้น สถิติทั้งหมดก็ไม่ได้นำขึ้นบนเว็บไซต์ เป็นแค่ราวๆ 1 ใน 3 ของสถิติโลกเท่านั้นที่จะอยู่บนเว็บไซต์โดยพิจารณาจากสถิติที่น่าตื่นเต้นคนจะสนใจกันเท่านั้นจึงได้ขึ้นเว็บไซต์

ส่วนพวกสถิติแบบอิหยังวะทั้งหลายที่ขยันทำกันขึ้นมา ก็อาจไม่ปรากฏ เพราะข้อมูลที่ควรรู้ รู้แล้วมีประโยชน์กับชีวิตมันเยอะพออยู่แล้ว

อ้างอิง