พูดถึงกวางโจว บางคนก็อาจนึกถึงความเป็นนครหลวงของอาหารกวางตุ้ง บ้างก็อาจนึกถึงความเป็นศูนย์กลางสินค้าจีนสารพัด แต่ในความเป็นจริง เมืองนี้มีลักษณะพิเศษอีกอย่าง คือย่านที่เรียกว่า “Little Africa” ที่เป็นบ้านของคนแอฟริกานับแสนคน
และนี่ทำให้กวางโจวเป็นเมืองที่มีชุมชนแอฟริกันโพ้นทะเลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
คำถามคือ ทำไมชาวแอฟริกันจำนวนมากถึงมาอยู่ในกวางโจว?
‘แอฟริกันดรีม’ ทุกวันนี้หากมองแอฟริกาในสายตาของนักลงทุน นับเป็นทวีปที่มีโอกาสเติบโตได้มาก แต่ถ้ามองในสายตาของคนแอฟริกันเอง นี่คือทวีปที “ไร้อนาคต” มาช้านาน เพราะการเมืองก็แย่ เศรษฐกิจก็ซบเซา
ด้วยเหตุนี้ คนแอฟริกาที่อยากมีอนาคตทางเศรษฐกิจจึงเดินทางออกนอกประเทศกันหมด ซึ่งในสมัยก่อนโน้น ในช่วงเศรษฐกิจไทยบูมๆ คนแอฟริกันมาไทยกันเยอะอยู่ แต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ไทยก็ไม่ได้มีเสน่ห์ในการสร้างอนาคตเท่าไร
และในช่วงนั้นจีนก็เริ่ม “เปิดประเทศ” มากขึ้น และเริ่มมาเล่นบทบาท “โรงงานของโลก” ที่จะผลิตของราคาถูกไปขายทั่วโลก และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่คนแอฟริกันจำนวนไม่น้อยเริ่มเข้าไปที่จีน
เวลานั้นคนแอฟริกันส่วนใหญ่ไปอยู่ที่เมืองกวางโจว ซึ่งคนแอฟริกาที่ว่านี้ก็เรียกได้ว่าทั้งทวีป เพราะมีตั้งแต่ไนจีเรีย มาลี ยันแอฟริกาใต้ ราวกับถนนทุกสายมุ่งสู่กวางโจว เพราะนี่เป็นเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการค้ามาช้านานแล้ว
เป็นศูนย์กลางแค่ไหน? ใครพอรู้เรื่องจีนก็คงรู้ว่า ทัวร์พ่อค้าแม่ค้าที่ไปจีนเพื่อหาสินค้ากลับมาขายไทยก็คือไปกวางโจวนี่แหละ
หนุ่มใหญ่แอฟริกันกับสาวจีน
การเข้าไปจีนส่วนใหญ่ของคนแอฟริกันคือเข้าไปด้วยวีซ่าท่องเที่ยว เพราะรัฐบาลจีนออกวีซ่าธุรกิจให้ยาก
คนแอฟริกันที่ไปจีนพวกนี้บอกตรงๆ ว่า “ไม่ใช่ธรรมดา” เพราะมีตังค์ค่าตั๋วเครื่องบีนมาจีน ก็นับเป็น “คนมีเงิน” แล้วในมาตรฐานทวีปยากจนที่สุดอย่างแอฟริกา
คนพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าผู้ชายวัยกลางคนที่ต้องการมาทำการค้าขาย ไม่ใช่วัยรุ่นที่บินมา “ตายเอาดาบหน้า” ดังนั้นคนพวกนี้ไม่ได้มาเป็นแรงงานระดับล่าง แต่มาเพื่อเป็นผู้ประกอบการ
ปัญหาคือการเข้ามาแบบนี้ไม่สามารถเช่าที่เปิดร้านได้ เพราะไม่มีเจ้าของที่ไหนจะอยากให้คนที่ถือวีซ่าท่องเที่ยวเช่าที่เปิดร้าน เพราะไม่อยากมีปัญหากับทางการ
ขีดจำกัดในแง่นี้ กระตุ้นให้พวกหนุ่มใหญ่แอฟริกันกลุ่มนี้ “พบรัก” กับสาวจีนบ้านนอกที่เข้ามาแสวงโชคหางานทำในเมืองใหญ่ ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าคนจีนจากมณฑลบ้านนอกจนๆ นั้นเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ๆ เป็นปกติ และอย่างดีพวกเธอก็มักได้เป็น “สาวโรงงาน” โดยสาวๆ พวกนี้หนุ่มๆ จีนที่มีเงินก็ไม่สนพวกเธอหรอก เพราะถือเป็นชนชั้นล่างกว่าในทางเศรษฐกิจ
แต่พวกเธอมี “ทางเลือก” ในการคบหากับพวกหนุ่มใหญ่แอฟริกันที่มีเงินและต้องการ “พาร์ทเนอร์” ทั้งในทางธุรกิจและชีวิต
หรือพูดง่ายๆ คนแอฟริกันต้องการจะแต่งเมียคนจีนเพื่อให้เมียคนจีนเป็น “นายหน้า” ทางธุรกิจต่างๆ ให้ เพราะพวกเขาทำเองไม่ได้
ดังนั้น นี่จึงเป็นทางออกที่ “วิน-วิน” ทั้งสองฝ่าย สาวจีนบ้านนอกได้สามีที่มีเงิน ส่วนเจ้าบ่าวแอฟริกาก็ได้ลู่ทางในการทำธุรกิจและได้เมียไปพร้อมกัน
คนแอฟริกันในแผ่นดินจีน
ความสัมพันธ์ระหว่างชายชาวแอฟริกันกับสาวจีนนั้นเป็นแบบนี้มายาวนานจนเกิดย่าน Little Africa ด้วย สาวจีนบ้านนอกที่อัปเกรดจากสาวโรงงานมาเป็น “อาเจ๊” เจ้าของร้านก็มีลูกกับสามีแอฟริกา
อย่างไรก็ดี เด็ก “ลูกครึ่ง” กลุ่มนี้ก็มีปัญหาตั้งแต่เกิด เพราะในทางเทคนิค พ่อของเด็กกลุ่มนี้จำนวนมากเป็นพวก “เข้าเมืองผิดกฎหมาย” ดังนั้น ลูกๆ จึงมักจะถูกขึ้นทะเบียนเป็นชื่อแม่ และเท่านั้นไม่พอ เด็กๆ เหล่านี้นั้นมีสถานะทางกฎหมายเป็น “คนจีน” ด้วย เพราะเอกสารจีนต้องระบุเชื้อชาติเพียงหนึ่งเดียว “ลูกครึ่ง” ไม่ใช่ตัวเลือก ดังนั้นในระดับทางการ จีน จึงเหมือนปฏิเสธการดำรงอยู่ของ “ลูกครึ่ง” กลุ่มนี้
และนี่ก็ยังไม่ต้องนับว่าจีนนั้นต่างจากประเทศตะวันตก การมี “สองสัญชาติ” เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คุณเป็นคนจีนพร้อมๆ คนชาติอื่นไม่ได้ และนี่ทำให้เด็กๆ พวกนี้ต้องตัดขาดจากสัญชาติของพ่อชาวแอฟริกาโดยสิ้นเชิง
แต่ถามว่าการที่มีเมียมีลูกที่มีสัญชาติจีนนั้นทำให้ชาวแอฟริกันเหล่านี้ย้ายสัญชาติเป็นจีนได้ง่ายไหม? คำตอบคือไม่
จีนไม่ใช่ประเทศที่จะให้สัญชาติคนที่ไม่ได้มีเชื้อสายจีนง่ายๆ และนี่ก็เป็นเรื่องปกติมากๆ ในชาติเอเชีย เพราะไม่ใช่แค่จีน ประเทศเจริญอย่างญี่ปุ่น หรือกระทั่งไทยก็เป็น
ดังนั้นคนแอฟริกันพวกนี้อยากลงหลักปักฐานที่จีนก็ไม่ได้ และต้องเข้าใจว่าจีนนั้นไม่ให้กระทั่ง “วีซ่าถาวร” หรือสถานะ Permanent Resident กับคนกลุ่มนี้ที่มีลูกมีเมียในแผ่นดินจีนด้วยซ้ำ และคนพวกนี้ก็ต้องต่อวีซ่าเรื่อยๆ ไม่ว่าจะว่าจะเป็นวีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่าธุรกิจ หรือบางคนก็อยู่ดื้อๆ โดยไม่มีวีซ่า
ซึ่งทางการจีนเองก็มีการปราบคนแอฟริกันที่อยู่โดยไม่มีวีซ่าเป็นระยะ และที่เป็นเรื่องเป็นราวก็มีในปี 2009 เมื่อชายแอฟริกันหนีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจนต้องตกตึกตาย และทำให้เกิดจลาจลคนแอฟริกันเป็นครั้งแรกในแผ่นดินจีน
ดังนั้นชีวิตคนแอฟริกันบนแผ่นดินจีนจึงลำบากมาก แต่พวกเขาก็ยอมลำบากขนาดนี้ก็เพราะการกลับไปแอฟริกานั้นแย่เสียยิ่งกว่า เพราะมัน “ไม่มีอนาคต”
ซึ่งก็ต้องย้ำ คนแอฟริกันกลุ่มนี้ไม่ใช่คน “ไม่มีเงิน” คนพวกนี้ถือว่ามีเงินในแอฟริกา แต่เห็นประเทศและทวีปตัวเองไม่มีอนาคต ก็เลยมาหาช่องทางทำธุรกิจที่จีน
อย่างไรก็ดี คนที่ตามเรื่องเศรษฐกิจรู้กัน จีนช่วงหลังๆ ค่าแรงสูงขึ้นมาก และไม่ใช่ดินแดนแห่งแรงงานราคาถูกเหมือน 20 ปีก่อนอีกแล้ว นอกจากนี้สถานะที่ชาวแอฟริกาหลายคนมาที่จีนก็เพื่อเป็น “พ่อค้าคนกลาง” ส่งสินค้าไปแอฟริกา แต่ระบบพวกนี้ก็ถูกทำลายอย่างต่อเนื่องโดยแพลตฟอร์มอย่าง Alibaba ที่เน้นทำลาย “พ่อค้าคนกลาง” และให้คนทั่วโลกสั่งสินค้าจากจีนได้โดยตรง นี่ทำให้คนจากทางแอฟริกาสั่งสินค้าจากทาง Alibaba ได้โดยไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางแอฟริกาในจีน และทำให้หนุ่มแอฟริกาหลายๆ คนสิ้นหวังทางธุรกิจบนแผ่นดินจีนจนต้องยอม “กลับบ้าน” กระทั่งหลายๆ คนก็ทิ้งลูกเมียไว้ที่จีนดื้อๆ งงๆ แบบอยู่ดีๆ หายตัวไปแล้วติดต่อไม่ได้ก็มี
เรียกได้ว่า “บ้านแตก” ไปหลายบ้านเลยสำหรับครอบครัว “แอฟริกัน-จีน” แต่นั่นยังไม่ใช่หายนะต่อชุมชนแอฟริกันในแผ่นดินจีนเท่าโควิด-19
โควิด-19 กับความล่มสลายของชุมชน
โควิด-19 ทำให้เกิดปรากฏการณ์หลายอย่าง ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งก็คือการข้ามดินแดนต่างๆ ต้องยุติลง และคนที่ไม่ได้มีสถานะของผู้พักพิงถาวรในแทบทุกประเทศก็ต้องกลับประเทศตัวเอง ซึ่งนี่รวมถึงคนแอฟริกันแทบทั้งหมดที่มีลูกเมียอยู่ที่จีนด้วย
นอกจากนี้ ย่าน Little Africa ที่กวางโจวก็มีสถานะย่ำแย่ เพราะโควิด-19 หลายด้าน เพราะส่วนหนึ่งย่านนี้เน้นขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวอยู่แล้ว พอโควิด-19 มา การท่องเที่ยวก็พังเละ ร้านก็เจ๊งกันระเนระนาดแบบไม่ต้องแปลกใจ
แต่อีกด้าน ก็มีการพบ “คลัสเตอร์” ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นคนแอฟริกันในย่านนี้ด้วย และเมื่อข่าวสะพัดออกไป คนจีนที่ไม่ได้นิยมชมชอบคนแอฟริกันอยู่แล้ว ก็มองคนแอฟริกันเป็น “ตัวเชื้อโรค” เลย (อันนี้เราคงเข้าใจไม่ยาก เพราะเทียบกับสถานการณ์ที่โรคนี้ระบาดในหมู่แรงงานต่างด้าวในบ้านเราได้เลย) และทำให้คนแอฟริกันที่ปกติถูก “เหยียด” อยู่แล้ว ยิ่งโดนหนัก
ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ คนแอฟริกันหลายๆ คนก็ทนไม่ไหว ยอมกลับประเทศตัวเอง อีกหลายๆ คนก็จำใจต้องกลับ เพราะทางการจีนไม่ต่อวีซ่าให้
มีการประเมินกันว่าแค่กลางปี 2020 หลังจากโควิด-19 ผ่านมาครึ่งปี คนใน Little Africa ลดลงถึง 70% หรือจากประมาณสองแสนคน เหลือแค่ไม่กี่หมื่นคน ก็ไม่น่าจะแปลกใจนักที่หลังจากนั้นคนจะมีแต่จะลดลง ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอีก และก็ไม่มีใครรู้ว่านี่อาจเป็น “อวสาน” ของชุมชนคนแอฟริกาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแห่งนี้อย่างถาวรหรือไม่
ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าชุมชน Little Africa จะหายไปแบบไม่เหลือร่องรอย เพราะถึงแม้ว่า “พ่อ” จะกลับประเทศ แต่เหล่าลูกๆ ที่เป็นลูกครึ่งแอฟริกา-จีนก็ยังอยู่และจะเติบใหญ่ต่อไปในแผ่นดินจีน
สังคมจีนก็ต้องเผชิญหน้ากับ “ความหลากหลาย” มากขึ้น เพราะลูกครึ่งคนจีนแอฟริกันเหล่านี้ ในทางกฎหมายเป็นคนจีนเต็มที่ และคนเหล่านี้ก็ค่อยๆ ต่อสู้เพื่อมีที่ทางของตัวเองมากขึ้นในฐานะประชาชนคนหนึ่งในแผ่นดินจีน
อ้างอิง:
- SCMP. Afro-Chinese marriages boom in Guangzhou: but will it be ’til death do us part’? . https://bit.ly/2PrSEZq
- SCMP. Coronavirus: Guangzhou cases prompt shutdown in ‘Little Africa’ trading hub. https://bit.ly/3lN03yN
- Nikkei Asia. China’s ‘Little Africa’ shrinks 70% as coronavirus leaves its mark. https://s.nikkei.com/3lOhEWY
- CNN. Covid-19 drove hundreds of Africans out of Guangzhou. A generation of mixed-race children is their legacy. https://cnn.it/31ei2ET