Greenwashing เช็กก่อนใช้ ถ้าไม่อยากถูกตบตาด้วยการ ‘ฟอกเขียว’

2 Min
1428 Views
11 Feb 2021

ขณะนี้กำลังเป็นกระแสมาแรงสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มหันมาสนใจเสื้อผ้ายั่งยืนกันมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เทรนด์สิ่งแวดล้อมก็เป็นที่พูดถึงกันมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในปัจจุบันมีหลายบริษัท หลายแบรนด์ ที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดีว่า ฉันใส่ใจ มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงมีแต่ ‘เปลือกเขียว’ ที่หุ้มตัวเองไว้ เพราะข้างในอาจผ่านกระบวนการใช้สารเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยที่คนทั่วไปไม่รู้

อ้าว! แล้วอย่างนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าที่เลือกจะไม่ผ่าน ‘การฟอกเขียว’ (Greenwashing)

งั้นเรามาทำความเข้าใจให้รู้เท่าทันกันดีกว่า

จับโกหกการ ‘ฟอกเขียว’

ตัวอย่างการใช้บรรจุภัณฑ์เรียบง่าย

ตัวอย่างการใช้บรรจุภัณฑ์เรียบง่าย | glamourmagazine.com

การฟอกเขียวจะตบตาเราได้มี 5 ประเภทหลักๆ ได้แก่

  1. การโฆษณาจนเกินจริงว่า ผลิตภัณฑ์ของตัวเองประกอบด้วยสารจากธรรมชาติล้วนๆ แต่แท้จริงแล้วมีสารพิษปนอยู่ เช่น สารปรอท สารกันเสียฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้น (มักใช้ผสมในเครื่องสำอาง แชมพู) อีกทั้งส่วนใหญ่ยังชอบใช้ภาพที่มีสีเขียวคลีนๆ และบรรจุภัณฑ์ที่ดูเรียบง่าย
  2. การติดฉลากรับรองคุณภาพหรือใช้คำว่า ‘ออร์แกนิก 100%’ แต่ที่แท้ไม่ได้มีคุณภาพตามคำแอบอ้าง รวมถึงปราศจากการตรวจสอบรับรองใดๆ
  3. การบิดเบือนข้อมูลในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือเป็นการปกปิดข้อมูลให้เห็นเพียงส่วนที่ส่งผลในทางบวกต่อองค์กรอย่างเดียว
  4. การประกาศว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่อ้างอิงจากมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000) ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย
  5. การแสดงให้เห็นถึงการลงทุนในเทคโนโลยีระบบบำบัดของเสียที่เหนือกว่ามาตรฐาน แต่กลับไม่ได้บำบัดได้ดีเหมือนที่บอกไว้ 
ตัวอย่างฉลากรับรองคุณภาพ

ตัวอย่างฉลากรับรองคุณภาพ | buzzbinpadillaco.com

เปลี่ยนเขายาก เปลี่ยนตัวเองดีกว่า

ท่ามกลางแบรนด์ที่ออกตัวว่ารักษ์โลกจำนวนมากนี้ เราคงไม่สามารถเปลี่ยนกระบวนการผลิตของเขาได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้คือ

  • อ่านฉลากหลังผลิตภัณฑ์ หรือศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดๆ ตรวจสอบว่าไม่ทำลายธรรมชาติจริงๆ รวมถึงสังเกตสัญลักษณ์ขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหรือมาตรฐานด้านออร์แกนิกต่างๆ
  • หันมาใช้ผลิตภัณฑ์โฮมเมดหรือท้องถิ่นที่เราพอจะสอบถามถึงกระบวนการผลิตได้ เพราะอะไรที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน มักแอบอ้างให้หลงเชื่อได้ง่าย
  • เรียนรู้และพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ และหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ต่างๆ ที่เข้าข่ายวิธีการฟอกเขียวด้วย

อย่างไรก็ดี หวังว่าคำแนะนำของเราสามารถช่วยให้เหล่าสายกรีนทั้งหลายไม่ถูกหลอกลวงอีกต่อไป เราจะได้มาร่วมใส่ใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกโดยไม่ถูกตบตาไปด้วยกัน

อ้างอิง: