Select Paragraph To Read
- อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
- กู้เงิน IMF ต้องทำยังไงบ้าง?
อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
ภาวะเศรษฐกิจล่มสลายของศรีลังกาได้กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตา เพราะทำให้ประชาชนโกรธแค้นจนต้องลุกฮือขับไล่ผู้นำประเทศ และแนวโน้มว่ารัฐบาลใหม่ต้องเจรจากู้เงินเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทำให้นักวิชาการไทยระบุว่า ก่อนหน้านี้ ‘รัฐบาลไทย’ ก็เคยต้องขอกู้เงินจาก IMF เช่นกัน และ 5 รัฐบาลนั้นอยู่ในสมัยที่มีนายกรัฐมนตรียศ ‘พลเอก’ ทั้งสิ้น
————————————————–
“ไทยเคยกู้ IMF ทั้งหมด 5 ครั้ง ทุกครั้งมี ‘พลเอก’ เป็นนายกฯ”
ประโยคนี้คือข้อความในทวิตเตอร์ของ ‘ผศ.ดร.กานดา นาคน้อย’ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเนคติคัต (University of Connecticut) สหรัฐอเมริกา และเป็นนักวิชาการไทยที่พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองทั้งของไทยและต่างประเทศ โดยล่าสุดได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในศรีลังกาและไทย
ข้อมูลดังกล่าวก็ปรากฏในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่นกัน โดยระบุว่า ไทยเคยกู้เงินจาก IMF มาแล้ว 5 ครั้ง ซึ่งตรงกับที่ ผศ.ดร.กานดา ระบุไว้ และแต่ละครั้งก็มีจำนวนเงินกู้แตกต่างกันไป
การกู้ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 2521 ยุค พลเอก เกรียงศักด์ ชมะนันทน์ ส่วนการกู้ครั้งที่ 2-4 เกิดขึ้นในปี 2524, 2525 และ 2528 ยุค พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และการกู้ครั้งที่ 5 เกิดขึ้นในปี 2540 ยุค พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
แต่ที่ ธปท. ย้ำในเว็บไซต์คือเงินกู้ IMF ครั้งสุดท้ายที่ได้รับความช่วยเหลือเมื่อปี 2540 ไทยสามารถชำระคืนเงินกู้ครบทั้งจำนวนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นการชำระคืนก่อนกำหนดถึง 2 ปี และในปัจจุบันไทยไม่มีภาระหนี้คงค้างกับกองทุนการเงินฯ แล้ว
กู้เงิน IMF ต้องทำยังไงบ้าง?
การกู้เงินจาก IMF ซึ่งสถาบันการเงินการลงทุน SBK Gold เรียกว่า ‘การรับความช่วยเหลือทางการเงิน’ ภายใต้โครงการเงินกู้ทั้ง 5 ครั้ง คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,431 ล้าน SDRs หรือประมาณ 209,806 ล้านบาท (1 ดอลลาร์ เท่ากับ 0.71 SDRs)
แล้ว SDRs คืออะไร? ถ้าจะอธิบายสั้นๆ SDRs คือ สิทธิพิเศษถอนเงิน หรือ Special Drawing Rights หรือสิ่งที่ IMF สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นกลไกในการเสริมเงินสำรองระหว่างประเทศให้กับประเทศสมาชิก โดยมูลค่าของ SDR จะคำนวณจาก 5 สกุลเงินหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร เยน ปอนด์ และหยวน
ส่วนกลไกการนำไปใช้ ประเทศสมาชิกจะนำ SDR ที่ได้รับไปแลกเป็นเงินสกุลหลักกับประเทศสมาชิกที่สมัครใจผ่านกลไกที่ IMF เป็นตัวกลาง
กรณีของไทยอ้างอิง SDR กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับเงินบาทต่างกันไปตามยุคสมัย ทำให้การคำนวณเงินกู้ยืมจาก IMF ที่แท้จริงต้องอ้างอิงอัตราค่าเงินในสมัยนั้น
– ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2521 จำนวน 42.25 ล้าน SDR (ประมาณ 2,143 ล้านบาท)
– ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2524 จำนวน 814.5 ล้าน SDR ประมาณ 38,566 ล้านบาท (โดยเบิกถอนจริงเพียงแค่ 345 ล้าน SDR หรือประมาณ 16,336 ล้านบาท)
– ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2525 จำนวน 271.5 ล้าน SDR หรือประมาณ 12,855 ล้านบาท
– ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2528 จำนวน 400 ล้าน SDR ประมาณ 18,915 ล้านบาท (แต่เบิกจริงเพียง 260 ล้าน SDR หรือประมาณ 12,310 ล้านบาท)
– ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2546 จำนวน 2,900 ล้าน SDR ประมาณ 137,314 ล้านบาท (แต่เบิกจริงแค่ 2,500 ล้าน SDR หรือประมาณ 118,374 ล้านบาท)
อ้างอิง
- Twitter. KandaInThai. https://bit.ly/3OTSbZY
- BOT. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF). https://bit.ly/3aroFM6
- BOT. ทำความเข้าใจสิทธิพิเศษถอนเงิน Special Drawing Tights (SDRs). https://bit.ly/3avsqQS
- SBK Gold. IMF คืออะไร? มีผลอย่างไรต่อการลงทุนทองคำของคุณ. https://bit.ly/3yup2xp