เราอาจจะต้องเข้าใจกันก่อนว่า ความรู้สึกว่างเปล่า (emptiness) อาจมาจากหลายความรู้สึกไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเหงาความรู้โดดเดี่ยวความรู้สึกสับสนหลงทางความรู้สึกว่าไม่มีเป้าหมายหรือการขาดแรงบันดาลใจในชีวิตประเด็นเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความรู้สึกว่างเปล่าในจิตใจเราได้ทั้งสิ้นซึ่งมันสามารถเกิดขึ้นได้ชั่วครั้งชั่วคราวหรือบางครั้งมันก็มาพร้อมกับปัญหาทางสุขภาพจิตได้เหมือนกัน
แล้วการที่รู้สึกว่างเปล่าเป็นเวลานาน หรือเป็นอยู่ตลอด มันเกิดขึ้นได้ไหม? จากข้อมูลที่เราศึกษามาเราก็ขอตอบว่ามันเกิดขึ้นได้และก็อาจจะมาจากหลายปัจจัย
อย่างที่เราเคยระบุไปว่า การขาดเป้าหมาย การขาดแรงบันดาลใจ หรือถ้าเราคุ้นปากกันว่า ‘อยู่ไปวันๆ’ ถ้าเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมาและยังจัดการมันไม่ได้สักทีก็จะยิ่งทำให้เรารู้สึกว่างเปล่ามากขึ้นไปเรื่อยๆเป็นระยะเวลานานได้
หรืออย่างปมในใจที่อยู่ในอดีต ถ้าในบางครั้งที่เราแก้มันไม่ได้ หรือแกะมันไม่ออก มันก็มีความเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน
ส่วนของไลฟ์สไตล์ หรือแนวความคิดต่างๆ ก็ส่งผลถึงเรื่องนี้โดยตรง อาทิ การเล่นโซเชียล มีเดียมากเกินไป ไม่ยอมเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดความมั่นใจ หรือเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดี อย่างเช่น การขาดความสัมพันธ์ที่เราสามารถยึดโยงจิตใจได้ก็ส่งผลต่อเรื่องนี้เช่นกัน
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นเลยว่าเรื่องความสับสนเรื่องของตัวตนเป็นปัจจัยสำคัญในแง่ของความว่างเปล่า อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของอายุโดยตรง แต่ก็เข้าใจได้ที่เด็กวัยรุ่นก็อาจจะเผชิญปัญหาเรื่องของตัวตนจนเกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมา
คำถามคือ แล้วเราจะจัดการอย่างได้บ้าง?
ทาง PsychCentral เวบไซต์ด้านจิตวิทยาก็แนะนำไว้หลายวิธีการ ซึ่งในขั้นตอนแรกเราอาจต้องแนะนำก่อนว่า ถ้ารู้สึกว่างเปล่าจนมันเริ่มทำร้ายจิตใจ การไปหาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญไว้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าคาดเดาไปเอง แต่อย่าเข้าใจผิดว่า ความรู้สึกว่างเปล่ามันไม่ได้แปลว่าเราต้องเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป เพราะฉะนั้นถ้าไม่มั่นใจในส่วนนี้ เราแนะนำว่าลองไปปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญดีกว่า
ก่อนอื่นเลย เราอาจจะต้องทำความรู้จักตัวเองก่อน ทำความรู้จักกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ลองใจดีกับตัวเองให้มากขึ้น ใจเย็นกับตัวเองให้มากขึ้น อย่าลืมว่า เราเองก็ทำเต็มที่ในแบบฉบับของตัวเองแล้ว หาต้นตอของความรู้สึกต่างๆ ให้เจอ แล้วเราจะจัดการมันได้ดีขึ้น
อีกวิธีการคือการให้เวลากับตัวเองเพราะมันเป็นเรื่องปกติมากที่เรามักจะยุ่งอยู่กับชีวิตจนเริ่มมองข้ามความรู้สึกตัวเองลองแบ่งเวลาให้กับตัวเองบ้างทำความรู้จักกับความรู้สึกตัวเองบางทีการนั่งสมาธิการเขียนการจดบันทึกก็เป็นการพาเรากลับมาให้โฟกัสกับความรู้สึกตัวเองได้อีกครั้ง
อาจจะเริ่มกับคำถามพื้นฐานเหล่านี้
- ช่วงหลังเราตัดสินตัวเอง หรือคนอื่นบ่อยไปไหม
- พูดสิ่งดีๆ กับตัวเองบ้างหรือเปล่า
- มีกิจกรรมอะไรที่เราทำเพื่อเลี่ยงความรู้สึกอยู่หรือเปล่า
- โทษตัวเองบ่อยไหม
- เรายังสามารถยืนยันความคิดเห็นตัวเอง และยังเคารพในความคิดเห็นคนอื่นอยู่หรือเปล่า
- พยายามที่จะพิสูจน์หรือเอาชนะอะไรอยู่หรือเปล่า
คำถามพื้นฐานเหล่านี้จะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญก็อย่าลืมแวะไปหาเพื่อน ออกไปเจอเพื่อนฝูง และฝึกฝนการดูแลจิตใจตัวเองอยู่เสมอด้วยนะ เชื่อเลยว่าอาจจะพอบรรเทาความว่างเปล่าในจิตใจคุณได้บ้าง
อ้างอิง
- PsychCentre. Feeling Empty? What It Means and What to Do. https://bit.ly/3XizqE2