รู้ไหม ตอนนี้โลกยามราตรีสว่างขึ้น 4 เท่า แมลงและสัตว์โลกกำลังประสาทเสียและถูกฆ่า เพราะแสงไฟที่มนุษย์สร้าง

4 Min
1041 Views
05 Oct 2021

ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่มักถูกละเลยและโดนมองข้ามอยู่เสมอ คือเราอยู่ในโลกที่กลางคืนสว่างจ้าไปด้วยแสงไฟในจำนวนที่มากเกินพอดี จนอาจกล่าวได้ว่าผู้คนในเมืองใหญ่คงหลงลืมกันไปแล้วว่าดาวบนท้องฟ้านั้นระยิบระยับพร่างพราวงดงามขนาดไหน

แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความโรแมนติกที่หายไป ทว่ามันคืออีกหนึ่งในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เลยทีเดียว

กลางคืนสว่างขึ้น 400%

กลางคืนสว่างขึ้นแค่ไหน นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้นำข้อมูลจากแสงไฟที่ดาวเทียมจับได้มาให้คำตอบว่า โลกยามค่ำคืนสว่างขึ้น 49% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเมื่อ 25 ปีก่อน

แต่ตัวเลขที่ว่าก็มาจากข้อมูลที่ดาวเทียม “จับได้” เท่านั้น แสงไฟบางประเภทโดยเฉพาะที่ปล่อยออกมาจากหลอดไฟแบบที่เรียกว่า LED เซนเซอร์ของดาวเทียมยังตรวจจับและวัดค่าไม่ได้ ทำให้ข้อมูลจริงๆ ยังไม่แน่นักว่าโลกยามค่ำคืนสว่างขึ้นเท่าไร

แต่หากเมื่อนำมาคำนวณจากปริมาณการใช้ไฟที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว แสงไฟยามค่ำคืนจากทั่วโลกอาจสว่างมากถึง 270% หรืออาจจะมากถึง 400% ในบางภูมิภาค เมื่อเทียบเมื่อ 25 ปีก่อน

นักวิจัยพบว่า ปริมาณแสงเพิ่มขึ้นอย่างมากในเอเชีย อเมริกาใต้ โอเชียเนีย และแอฟริกา ตามที่เห็นโดยดาวเทียม ขณะที่ในยุโรป แสงที่ตรวจจับได้เพิ่มขึ้นจนถึงราวปี 2010 และค่อยๆ ลดลง ในขณะที่ในอเมริกาเหนือดูเหมือนจะลดลงเช่นกัน

อันที่จริงแสงไฟแบบ LED ที่เราหันมาใช้ในปัจจุบัน ถือเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์มากในด้านการประหยัดพลังงาน และให้แสงสว่างที่มากกว่าหลอดไฟแบบในอดีต นั่นก็ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เมื่อยามมีเหตุให้ต้องไปไหนมาไหนยามค่ำคืน หรือมีบ้านอยู่ท้ายซอยที่แลดูเปลี่ยวเหงา

แต่ก็อีกนั่นแหละ ความสว่างที่มากเกินไป กลับกลายเป็นการฆ่าความมืด แล้วนำมาซึ่งปัญหาชวนหัวอีกหลายประการ

แสงไฟภายในเมือง | the conversation

แมลงนับล้านพากันล้มตาย

ปัญหาใหญ่ๆ ของแสงไฟที่พูดถึงเรื่องการสูญพันธุ์นั้นได้เกิดขึ้นแล้วกับบรรดาแมลงทั่วทั้งโลก

ในสหราชอาณาจักรพบว่า ผีเสื้อกลางคืนหายไปในพื้นที่ที่มีแสงไฟมากกว่าพื้นที่มืด

ความสว่างของแสงไฟยังขัดขวางการหาคู่ของแมลงบางชนิดพันธุ์ ที่เห็นได้ชัดคือหิ่งห้อยที่ใช้แสงสว่างตามธรรมชาติส่งสัญญาณระหว่างการจับคู่ผสมพันธุ์ แมลงบางชนิดใช้แสงสะท้อนในการหาตำแหน่งของแหล่งน้ำ

พัฒนาการของแมลงวัยอ่อน เช่น จักจั่น ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสงเช่นกัน โดยแสงไฟจะเปลี่ยนการรับรู้กลางวันกลางคืนของแมลงเหล่านั้น

นักวิจัยพบว่า หากเทียบกับปัญหาวิกฤตโลกร้อนแล้วแมลงและสัตว์ต่างๆ ยังสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่าการเปลี่ยนวัฏจักรกลางวันและกลางคืนซึ่งคงที่มาตลอดการวิวัฒนาการตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต

แมลงแทบทุกชนิดบนโลกเป็นเหยื่อที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น แต่แสงที่สว่างเกินไปกำลังทำให้สมดุลของห่วงโซ่อาหารพังทลายลง หากแมลงหลงบินวนอยู่กับหลอดไฟ เราจะพบแมงมุม ค้างคาว หนู นก จิ้งจก และคางคก หาอาหารอยู่รอบดวงไฟเหล่านั้น

การที่แมลงถูกล่ามากเกินไปจะทำให้ประชากรแมลงลดลงอย่างรวดเร็วจนถึงขั้นสูญพันธุ์ และจะเกิดวิกฤตต่อสายพันธุ์นักล่าอื่นๆ ที่จะไม่มีแมลงกินในอนาคต

แมลงเล่นไฟ | the conversation

ปลาการ์ตูนก็ไม่รอด

แสงไฟตามรีสอร์ตริมทะเล สะพานทางเดิน ยังมีส่วนทำให้สัตว์ใต้น้ำที่แสนสวยงามอย่างปลาการ์ตูนมีปัญหาเรื่องพัฒนาการ

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปลาการ์ตูนวัยเด็กในแนวปะการังแถบเฟรนช์โปลินีเซีย (หมู่เกาะในแปซิฟิกใต้ เขตปกครองของฝรั่งเศส) มีอายุสั้นลง 36% เมื่ออาศัยอยู่ท่ามกลางแสงไฟที่สว่างไสวในยามราตรี

โดยพื้นที่รอบๆ เฟรนช์โปลินีเซียนั้นเป็นที่ตั้งของโรงแรมหรูหลายแห่งที่มีบังกะโลลอยน้ำ และยังชอบเปิดไฟไว้ตลอดทั้งคืน

การที่แสงไฟคอยส่องสว่างราวสปอตไลท์ในโรงละคร ส่งผลให้ปลาการ์ตูนตกเป็นเป้าสายตาของสัตว์ผู้ล่าในแนวปะการังได้ง่าย พวกมันต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อหนีผู้ล่า ตลอดจนเกิดอาการที่เรียกว่า “ภาวะตื่นตัว” เมื่อพบกับแสงไฟ

การใช้แรงมากกว่าปกติ ย่อมส่งผลต่อสภาพและขนาดของร่างกายทำให้พวกมันเติบโตช้ากว่าปกติถึง 40%

ฟ้ามืดจึงเห็นดาวสวย

นอกจากปัญหาที่เกิดกับสิ่งมีชีวิตร่วมโลกแล้ว ก็ยังมีเรื่องของคน – คนเมืองบางคนอาจกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ เพราะแสงสว่างที่ส่องแยงตาจากภายนอกห้อง หรือนั่นก็อาจทำให้คนเมืองพลาดโอกาสศึกษาวิชาดาราศาสตร์ไปโดยปริยาย

ปัญหาของเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในหลายระดับ ไล่มาตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างการปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น การออกแบบอุปกรณ์ครอบหลอดไฟเพื่อให้แสงกระจายลงพื้นเพียงด้านเดียว การออกแบบเมืองและระบบแสงสว่างให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพการใช้งานแบบพอดีๆ ไม่ต้องมากจนเกินไป

หรือแค่ลดงบประมาณและการสร้างเสาไฟประดับลวดลายป่าหิมพานต์แบบตั้งเสาติดๆ กันลงบ้าง ไม่สร้างในจุดที่ยังไม่มีถนนบ้าง ก็คงช่วยได้แยะทีเดียว

หรือจะออกแบบเมืองและการท่องเที่ยวเสียใหม่ ทำเป็น “เขตอนุรักษ์ฟ้ามืด” ให้คนมานอนดูดาว ก็เป็นประโยชน์ในแง่หารายได้เข้าประเทศได้อีกเหมือนกัน

เชื่อเถอะว่าแสงยามค่ำคืนจากธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่งนั้นดีทั้งต่อคน ต่อสัตว์ ต่อสิ่งแวดล้อม ต่องบประมาณ และการเรียนรู้ได้อย่างมากมายมหาศาลเลยทีเดียว

ป.ล. ก่อนเลื่อนไปอ่านเรื่องอื่นๆ อยากชวนอ่านบทความเก่าที่เราเลยลงไว้ เรื่อง “เขตอนุรักษ์ฟ้ามืด – พื้นที่ของคนชอบดูดาวและห่วงใยโลก” แล้วจะรู้ว่าภายใต้ความมืดสนิท มีเรื่องราวให้เรียนรู้อีกมากมาย : https://www.facebook.com/brandthink.me/posts/2484883891837148

อ้างอิง

  • Forbes. Global Light Pollution Has Increased By Up To 400% In The Last 25 Years And It’s Quickly Getting Worse Say Scientists. https://bit.ly/2XZGrzV
  • The Guardian. Light pollution is key ‘bringer of insect apocalypse’ https://bit.ly/3bHSQt1
    The Guardian. Young clownfish on coastal reefs dying faster due to exposure to artificial light, study finds. https://bit.ly/3wgJ9wI