5 Min

GLASS แพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย NFT สำหรับงาน Video บนบล็อคเชน Solana

5 Min
89 Views
17 Oct 2022

ในปัจจุบัน เวลาเราเข้าไปดู ตลาดซื้อขาย NFT เจ้าดังๆ ต่าง เช่น Opensea, Rarible, Lookrare หรือ Magic Eden ส่วนใหญ่ เรามักจะเห็นงาน NFT ประเภท ภาพกราฟฟิกคอมพิวเตอร์ เป็นส่วนใหญ่ จนทำให้ งานอาร์ท หรือ คอนเทนต์ประเภทอื่นๆ ถูกกลบ ลดความน่าสนใจไปหมด ซึ่งจากการที่ NFT นั้น สามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลายทาง เชื่อว่า หลายคน คงมีความคิดในหัวว่า มันน่าจะมี ตลาด NFT สำหรับงานอาร์ทประเภทใด ประเภทหนึ่งโดยเฉพาะนะ และนั่นแหละครับ คือ ที่มาของแพลตฟอร์ม GLASS (https://glass.xyz/) ที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นตลาดซื้อขาย NFT สำหรับงานทางด้าน Video เท่านั้น เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม การสร้างคอนเทนต์ การสร้างงานอาร์ท ที่ใช้กล้องถ่ายวีดีโอ สร้างงานภาพเคลื่อนไหว ที่เกิดจากการถ่ายทำจริงๆ

GLASS เป็นตลาด NFT สำหรับงานวีดีโอ ที่อยู่บน Solana บล็อกเชน โดยการซื้อขาย บน GLASS จะใช้เหรียญ SOL ซึ่งเป็นเหรียญประจำ Solana ในการซื้อขาย โดย Glass วางตัวเองไว้ว่า จะเป็นที่ที่ งานวีดีโอต่างๆ มีมูลค่าขึ้น ตามที่มันควรจะเป็น

“Glass is where videos are valued for what they’re worth”

 โดยแพลตฟอร์ม GLASS มี ขั้นตอนการใช้งานง่ายๆ 3 ขั้นตอน ได้แก่

1. Create นั่นคือ เมื่อเราสร้างสรรค์งาน Video ขึ้นมา เราสามาถนำมา Mint เป็น NFT แล้วขายบน GLASS ได้ โดยสิ่งที่แตกต่างจาก ตลาด NFT อื่นๆ คือ งานวีดีโอของเรา สามารถ Mint เป็น NFT ได้จำนวนหลายชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่บน GLASS งานวีดีโอต่างๆ จะถูก Mint เป็น NFT จำนวน 50 ชิ้น ซึ่งเราสามารถตั้งราคาขายได้ ว่าจะขายในราคากี่ SOL ซึ่งเมื่อขายหมด ทาง GLASS จะเก็บค่า Fee 10% ที่เหลืออีก 90% ก็จะเป็นรายได้ของเจ้าของวีดีโอไปเลย

2. Collect นั่นคือ การที่จะดูงานวีดีโอใดๆ เราต้องซื้อ NFT ของงานชิ้นนั้น เราถึงจะมีสิทธิได้ดู ดังนั้น การซื้อ NFT บน GLASS หมายถึงการซื้อสิทธิในการเสพ ในการรับชม งานคอนเทนต์ งานวีดีโอนั้นๆ และถ้าเราชอบงานนั้นๆ เราสามารถเก็บสะสม NFT นั้นไว้กับตัวได้

3. Sell นั่นคือ เมื่อเราเสพงานวีดีโอนั้นจนพอใจ เราสามารถขายสิทธิในการชมวีดีโอนั้นๆต่อได้ ซึ่งเมื่อเราดูวีดีโอนั้นจบ เราก็จะรู้ว่างานนั้นๆดีแค่ไหน เราก็สามารถตั้งราคาขายต่อ ตามคุณภาพของงานนั้น ซึ่งแน่นอนว่า ถ้างานวีดีโอนั้น คุณภาพดี ย่อมมีคนอยากเข้ามาดูมาก แม้ว่าเราจะตั้งราคาสูง ก็ย่อมมีคนที่พร้อมจะจ่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้ ราคา NFT ของงานวีดีโอนั้นๆสูงขึ้นตามคุณภาพของงานนั่นเอง  โดยทุกๆครั้งที่มีการซื้อขาย เปลี่ยนมือ ของ NFT ผู้ขาย NFT นั้นๆ จะเสียค่า Fee 10% ซึ่ง 2% จะไปเป็นรายได้ให้แก่ GLASS ในขณะที่ 8% จะเป็นรายได้ให้แก่ เจ้าของผลงานนั้นๆ

ดังนั้น เจ้าของผลงาน ที่นำงานวีดีโอของตน เข้ามา Mint เป็น NFT บน GLASS จะมีรายได้จากการขาย NFT ครั้งแรก หรือ Primary Sale ซึ่งจะได้รับเงินเต็มๆ 90% ของรายรับจากการขายทั้งหมด และจะมีรายได้ เป็นค่า Royalty Fee 2% จากการซื้อขายเปลี่ยนมือ NFT ใน Secondary Sale ด้วย

เนื่องจาก GLASS พึ่งเปิดตัวมาได้ไม่กี่อาทิตย์ ในปัจจุบัน งานวีดีโอส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปของ มิวสิควีดีโอ แต่แน่นอนว่า งานด้านวีดีโอภาพเคลื่อนไหว สามารถถูกสร้างสรรค์เป็นคอนเทนต์ได้อีกหลากหลายประเภท เช่น วีดีโอ Class การเรียนการสอนในเรื่องต่างๆ, หนังสั้น Short Film, ภาพยนตร์, ละครซีรีย์ เป็นตอนๆ, สารคดี Documentary

เมื่อเรากดเข้าไปดูงานวีดีโอที่เราสนใจ เราจะสามารถดู Preview ได้สั้นๆ

เมื่อดู Preview เสร็จ จะขึ้นตัวหนังสือว่า ถ้าอยากดูวีดีโอชิ้นดีเต็มๆ ต้องซื้อ NFT เท่านั้นถึงจะดูได้

ซึ่งสำหรับงานวีดีโอชิ้นนี้ มีการ Mint NFT ขึ้นมาสำหรับงานวีดีโอนี้ทั้งสิ้น 50 ชิ้น โดยการขายครั้งแรก หรือ Primary Sale ถูกขายหมดแล้ว ด้านบนถึงขึ้นว่า Sold Out ซึ่งถ้าเราต้องการซื้อ NFT ต้องซื้อในส่วน Secondary Market ซึ่งในปัจจุบัน ราคาต่ำสุด หรือ Floor Price อยู่ที่ 1.5 SOL

การซื้อขาย NFT บน Secondary Market มีการบอกอย่างชัดเจนว่า จะมีค่า Fee 10% โดย 2% จะเข้าตัวแพลตฟอร์ม หรือ GLASS ในขณะที่ อีก 8% จะเข้าทางเจ้าของผลงาน หรือ Creator Royalty

ด้านล่างของแต่ละคอนเทนต์บน GLASS จะมีการโชว์ภาพวงกลมที่เรียกว่า The Circle ซึ่งในวงกลมนี้จะแสดงรูปภาพโปรไฟล์ของเจ้าของ NFT ของคอนเทนต์นี้ โดยผู้ที่ถือ NFT ในจำนวนที่มาก ก็จะมีวงกลมที่ใหญ่กว่า คนที่ถือ NFT ในจำนวนน้อยกว่า

สิ่งที่ GLASS แตกต่างจาก ตลาดซื้อขาย NFT เจ้าดังอื่นๆ คือ GLASS มีการเปิดให้มีการ Comment ในงานวีดีโอต่างๆได้ด้วย ซึ่งทำให้ ผู้ที่ดูงานวีดีโอนั้นๆแล้ว สามารถมาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี ซึ่งถือว่าแฟร์ และดีมากๆ งานวีดีโอที่ดี ได้รับการ Comment ในแง่ดีมากๆย่อมส่งผลให้ NFT ของงานนั้นๆขายดี

สำหรับ การขาย NFT ของงานวีดีโอ ครั้งแรก หรือ Primary Sale นั้น GLASS จะแสดงไว้ในส่วนของ NEXT UP โดยจะมีการนับเวลาถอยหลัง จนกว่าจะถึงวันเปิดขาย ซึ่งจะมีการแสดงรายละเอียดต่างๆไว้ เช่น งานวีดีโอ 30 Days Cross Country จะเปิดขาย Primary Sale โดยขาย NFT จำนวน 50 ชิ้น ราคาชิ้นละ 0.5 SOL และ งานมิวสิควีดีโอ Routine จะเปิดขาย Primary Sale โดยขาย NFT จำนวน 50 ชิ้น ราคาชิ้นละ 0.5 SOL

เมื่อเรากดเข้ามาดูรายละเอียด จะเห็นว่า งานวีดีโอ 30 Days Cross Country นี้ เป็นตอนแรก EP 01 แสดงว่า งานวีดีโอชิ้นนี้ จะมีตามมาอีกหลายตอน เป็นงานคอนเทนต์ประเภท ซีรีย์ แน่นอนว่านี่คือโอกาส ที่จะทำให้คนที่ชอบถ่ายทำวีดีโอ มีทางเลือกมากขึ้น จากเดิม ที่ เอางานวีดีโอไปลงได้แค่ ยูทูป แลัวรอรายได้จากส่วนแบ่งค่าโฆษณา ตอนนี้เราสามารถทำมา Mint เป็น NFT บน Glass และสร้างรายได้ ได้จากการขาย NFT และส่วนแบ่งค่า Fee เมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ NFT ของเรา

สิ่งที่น่าสนใจ ที่ GLASS ทำออกมาได้ดี คือ การมีตาราง Trending ที่ นอกจากจะแสดงว่า งานวีดีโอชิ้นไหน ทำเงินได้มากที่สุด และ ตารางที่แสดงว่า Creator คนไหน ทำเงินได้มากที่สุด ความน่าสนใจคือ GLASS มีตาราง ที่แสดงให้ทุกคนเห็นด้วยว่า นักสะสมคนไหน ทำกำไร จาก NFT Video บน GLASS ได้มากที่สุดด้วย ตรงนี้ทำให้ งานคอนเทนต์วีดีโอ กลายเป็นช่องทางใหม่ ในการเก็งกำไรสำหรับนักลงทุน งานวีดีโอที่คุณภาพดี เมื่อมีคนเข้ามาเก็งกำไรมาก ย่อมทำให้ราคาสูงขึ้นได้ไม่ยาก ก็จะเป็นการสร้างรายได้ และสนับสนุนเจ้าของผลงานวีดีโอที่มีคุณภาพในท้ายที่สุด

ในความคิดเห็นส่วนตัว ผมคิดว่า Business Model ของ GLASS นั้นน่าสนใจมาก มีโอกาสในการต่อยอดได้อีกหลายทาง เช่น ผมคิดว่า ในอนาคต เมื่อมีผู้เข้ามาใช้ แพลตฟอร์มมากขึ้น มีคนสร้างสรรค์ผลงาน มีงานวีดีโอมากขึ้น มีคนเข้ามาซื้อ NFT เพื่อเสพงานวีดีโอมากขึ้น อาจจะมีการเพิ่มฟังก์ชั่น Pay to View เสริมขึ้นมาก็ได้ กล่าวคือ จ่ายเงิน เพื่อดูอย่างเดียว อาจจะจ่ายเงินเพื่อดูครั้งเดียว หรือ ดูได้วันเดียว โดยไม่ได้ซื้อ NFT ไม่ได้เป็นเจ้าของ NFT ซึ่งรายได้ตรงนี้ สามารถนำมาแจกจ่ายเป็น รายได้ให้กับเจ้าของ NFT เพิ่มมูลค่า ให้กับ NFT ได้อีก หรือ ในวันที่มีคอนเทนต์อยู่บน GLASS มากๆ อาจจะเปิดเป็นระบบจ่ายรายเดือน หรือ รายปี เหมือน Netflix แล้ว สามารถดูได้ทุกอย่างบน GLASS และนำรายได้จากตรงนี้ไปแจกจ่ายให้กับเจ้าของ NFT ตามยอดวิว หรือ ยอดคนดูในงานวีดีโอนั้นๆได้

ท้ายที่สุด จะเห็นได้ว่า การนำเทคโนโลยีในโลกบล็อคเชน มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจต่างๆในโลกปัจจุบันนั้น อยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้นเอง อย่างเช่นในกรณี ของ NFT เรายังปลดล็อคความสามารถของ NFT ได้ไม่ถึงเสี้ยวเดียวด้วยซ้ำ อนาคตยังคงเปิดกว้าง สำหรับ ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่เห็นโอกาสทางธุรกิจ ให้นำ NFT มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจต่างๆ

.

ผศ.ดร.ณพล หงสกุลวสุ

อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

093-059-6767

[email protected]