2 Min

ทำไมถึงห้ามโจมตีโรงพยาบาลพลเรือน? รู้จัก ‘อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 4’ กับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่กลายเป็นข้อพิพาทล่าสุดระหว่างไทย-กัมพูชา

2 Min
11 Views
24 Jul 2025

อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) คือหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์สำคัญที่สุดในการจำกัดความป่าเถื่อนของสงคราม ด้วยการคุ้มครองผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการสู้รบอย่าง พลเรือน แพทย์ เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ และผู้ที่ไม่สามารถสู้รบได้ ไม่ว่าจะเป็น ทหารที่บาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเชลยศึก

อนุสัญญาเจนีวาถือเป็นแกนหลักของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ห้ามการโจมตีในภาวะสงคราม ซึ่งมีทั้งหมด 4 ฉบับ และพิธีสารเพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ

โดยฉบับที่ 1 จะเน้นการคุ้มครองทหารที่บาดเจ็บและเจ้าหน้าที่แพทย์ในสนามรบ

ฉบับที่ 2 เน้นคุ้มครองทหารบาดเจ็บในสงครามทางทะเล

ฉบับที่ 3 คุ้มครองเชลยศึกไม่ให้ถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม

และฉบับที่ 4 มุ่งเน้นไปที่การคุ้มครอง ‘พลเรือน’ ในเขตสงครามหรือในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง

โดยอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการปกป้องประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องในศึกสงคราม รวมไปถึงการมีข้อห้ามที่ระบุชัดในมาตรา 18 ‘การคุ้มครองโรงพยาบาลพลเรือน’ ที่ว่าโรงพยาบาลพลเรือนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ รวมถึงสตรีมีครรภ์และผู้สูงอายุจะต้องได้รับการคุ้มครอง เคารพในทุกสถานการณ์ และจะต้องไม่ตกเป็นเป้าของการโจมตี

โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในภาคีที่ได้ลงนามในอนุสัญญาเจนีวา 4 ฉบับ เมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยมีภาคีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา

ทั้งนี้หากประเทศภาคีมีการโจมตีละเมิดอนุสัญญาจะเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงคราม (War Crimes) ซึ่งมีผลทางกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจถูกดำเนินคดีโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) 

อย่างไรก็ดีเหตุที่อนุสัญญาเจนีวาถูกยกมาพูดถึงอีกครั้งในสังคมไทย สืบเนื่องมาจากกรณีตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 เวลา 08.20 น. ได้เกิดเหตุการณ์ทหารกัมพูชาเปิดฉากยิงฝั่งไทย และเกิดการยิงปะทะตลอดมาจนเวลา 11.54 น. เหตุการณ์รุนแรงขึ้น เมื่อกองกำลังฝั่งกัมพูชาได้ใช้จรวดหลายลำกล้อง BM-21 โจมตีโรงพยาบาลพนมดงรัก อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลพลเรือน และถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ห้ามละเมิดในอนุสัญญาเจนีวา ด้วยเหตุนี้ทำให้การกระทำของกองกำลังกัมพูชามีส่วนเข้าข่ายการละเมิดอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง 

อ้างอิง:

  • อนุสัญญาเจนีวา ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949
    https://tinyurl.com/25ed94e2
  • กัมพูชาเจตนาโจมตี รพ.พนมดงรัก-เข้าข่ายละเมิดอนุสัญญาเจนีวา https://tinyurl.com/bdhs2dad