2 Min

คน Gen Z ฝั่งตะวันตก หันไปอ่านนิยายโรมานซ์เพิ่มขึ้น แต่บางแนวก็ไม่ถูกใจชาว Woke

2 Min
591 Views
20 Mar 2023

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายอดขายนิยายโรมานซ์ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลสำรวจบ่งชี้ว่ามีการขยายตัวของกลุ่มคนอ่าน จากเดิมที่อยู่ในช่วงอายุ 35-54 ปี ก็กลายเป็น 18-54 ปี ณ ปัจจุบัน แต่พล็อตย่อยของนิยายที่มีเนื้อหากดขี่ทางเพศหรือชนชั้นจะไม่เป็นที่นิยมในกลุ่ม Woke


แม้ว่านิยายโรมานซ์จะขายดีกว่าหนังสืออีกหลายแนวมาแต่ไหนแต่ไร แต่หลังจากปี 2020 เป็นต้นมา กลุ่มคนอ่านนิยายแนวนี้ที่เป็นคน Gen Z มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้จากผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่พบว่าตลาดนิยายโรมานซ์ขยายตัวถึง 110 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเมื่อราวๆ สิบปีก่อน

นอกจากนี้ นักอ่านนิยายโรมานซ์ภาษาอังกฤษที่เป็นคน Gen Z จำนวนมากตอบแบบสอบถามออนไลน์ว่าเหตุผลที่หันมาอ่านนิยายแนวนี้ก็เป็นเพราะตัวละครหรือเรื่องราวต่างๆเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกและช่วงที่ต้องกักตัวเพื่อป้องกันโรคระบาดนิยายแนวนี้สร้างความบันเทิงและช่วยให้หลีกหนีความจริงได้ช่วงหนึ่ง

ส่วนเว็บไซต์ NPR สื่อสาธารณะอเมริกัน รายงานว่า กระแส BookTok หรือการรีวิวหนังสือของกลุ่มผู้ใช้แพลตฟอร์ม TikTok ก็มีส่วนช่วยเพิ่มความนิยมในการอ่านนิยายโรมานซ์ด้วยเช่นกัน โดยเจ้าแม่นิยายโรมานซ์ซึ่งเขียนหนังสือมานานหลายทศวรรษอย่างคอลลีน ฮูเวอร์’ (Colleen Hoover) มีผลงานที่กลับมาติดอันดับขายดีหลังจากที่ TikToker นิยมรีวิวหนังสือของเธอกันมาก

ขณะที่นักวิเคราะห์ของสำนักพิมพ์ Mill and Boon ที่เป็นเจ้าตลาดนิยายโรมานซ์แจกแจงกับ The Economist ว่า นิยายโรมานซ์ที่ขายดีส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของตัวละครหลักที่เป็นคนผิวขาวและเป็นเรื่องราวความรักของชายกับหญิง แต่กลุ่มนักอ่าน Gen Z ตอบรับความหลากหลายของเนื้อหาในนิยายได้มากกว่าคนอ่านยุคก่อนหน้านี้

เพราะนักอ่านที่เป็นคน Gen Z จะไม่บ่นว่ารู้สึกแปลกแยกหรือรับไม่ได้ถ้าหากในหนังสือจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มหลากหลายทางเพศหรือคนหลากหลายเชื้อชาติ ขณะที่พล็อตย่อยของนิยายโรมานซ์ที่เคยได้รับความนิยมในกลุ่มคนอ่านที่สูงวัยกว่า เช่น ตัวละครเอกเป็นชีค (Sheik) แถบๆ ตะวันออกกลาง หรือขุนนางในยุคอดีต จะเป็นแนวที่คน Gen Z เลือกอ่านน้อยที่สุด

เหตุผลที่พล็อตแนวนี้ไม่เป็นที่นิยมก็เพราะคน Gen Z มีความตื่นตัวในประเด็นทางสังคมมากขึ้น ถ้าตัวเอกเป็นชีคก็หนีไม่พ้นจะถูกมองว่าเป็นพวกกดขี่ทางเพศ หรือตัวเอกที่เป็นขุนนางหรือตระกูลผู้ดีที่ร่ำรวยก็อาจถูกตั้งคำถามว่า ความมั่งคั่งเหล่านี้อาจมาจากการค้าทาสและละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต ซึ่งไม่ถูกต้องในสายตาของคน Gen Z ที่ส่วนใหญ่สนับสนุนการเคลื่อนไหว Black Live Matters

แม้แต่นิยายโรมานซ์ที่วางพล็อตให้เป็นเรื่องราวในอดีต ต่อให้เป็นยุคที่ขึ้นชื่อว่าเต็มไปด้วยค่านิยมชายเป็นใหญ่ แต่นิยายที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคน Gen Z ต้องมีตัวละครหลักที่มีความขบถต่อกรอบประเพณีและไม่ยอมปล่อยให้กรอบของสังคมกดทับ

แต่ถ้าถามว่าพล็อตแบบไหนที่คนอ่านนิยายโรมานซ์ยุค Gen Z นิยมมากสุดก็คงตอบได้ยากเพราะพล็อตที่คนกลุ่มนี้อ่านมีความหลากหลายแต่ถ้าดูจากคำค้นที่นิยมกันมากจะเป็นพล็อตเกี่ยวกับเพื่อนที่กลายเป็นคนรักศัตรูที่กลายมาเป็นคนรักโลกหลังภาวะล่มสลายไปจนถึงพล็อตที่ตัวเอกเป็นมหาเศรษฐี

อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกับนิยายโรมานซ์เมื่อ 20-30 ปีก่อน ตัวเอกที่เป็นมหาเศรษฐีมีสินทรัพย์หลักล้านหรือร้อยล้าน (ดอลลาร์) ไม่มีให้เห็นกันแล้วในยุคนี้ ซึ่ง The Economist ชี้ว่า เป็นเพราะในปัจจุบันทั่วโลกกำลังเจอปัญหาเงินเฟ้อกันถ้วนหน้า ถ้าตัวเอกเป็นมหาเศรษฐีหลักร้อยล้านก็อาจจะดูไม่ร่ำรวยสักเท่าไร ทำให้ตัวเอกนิยายโรมานซ์ยุคนี้ต้องยกระดับเป็นมหาเศรษฐีพันล้านแทน

อ้างอิง