บริการแบบใดเอาแต่มอง เมื่อพนักงาน Gen Z ไม่ทักทายลูกค้า มันจึงเกิดความตึงระหว่างวัยขึ้นมาอีกเรื่อง
ลูกค้าบางคนอาจพึงพอใจเมื่อพนักงานของร้านยิ้มแย้ม กล่าวคำทักทาย ถามไถ่ความต้องการ แนะนำโน่นนี่นั่นในร้านให้อย่างละเอียดถี่ยิบ แต่ในทางกลับกันบางคนก็อาจมีมุมที่รู้สึกว่า “อย่ามายุ่งกับฉัน” ขอดูเมนูหรือเลือกสินค้าเงียบๆ ได้ไหม โปรโมชงโปรโมชันสมาชิกอะไรไม่ต้องมาบอกหรอก
แต่เรื่องราวที่ดูเหมือนจะเป็นความรู้สึกส่วนตัว เหตุผลใครเหตุผลมัน กลับกลายเป็นประเด็นสาธารณะขึ้นมาได้ เมื่อมีผู้ใช้ X (Twitter) รายหนึ่ง โพสต์ข้อความเชิงติติงไปว่า ไม่ชอบการบริการของเด็กสมัยนี้เลย ที่เอาแต่มองอย่างเดียว งานบริการมันต้องกล่าวคำทักทายลูกค้าด้วยสิ มันถึงจะเรียกว่าการทำธุรกิจจริงๆ
และเรื่องที่ดูไม่เป็นเรื่องนี่ล่ะ ดันมียอดการอ่านมากกว่า 1.7 ล้านครั้ง รีโพสต์อีกพันกว่าครั้ง และข้อความตอบกลับอีกเกือบ 200 ข้อความ จนมีสื่อต่างประเทศหลายๆ แห่งหยิบมาเป็นประเด็นนำเสนอ พลางวิพากษ์วิจารณ์ว่า มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่นะ กลายเป็นวิวาทะที่แบ่งคนออกเป็นสองฟากฝั่ง ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับต้นโพสต์ และฝั่งที่คิดว่าพี่คิดมากไปหรือเปล่า
ด้านฝั่งที่เห็นด้วยกับเจ้าของโพสต์ ก็จะมองว่าพฤติกรรมของพนักงาน Gen Z ที่ทำงานบริการควรมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากกว่านี้ มันยากนักหรือไงกับแค่กล่าวคำทักทาย บ้างก็ว่าการเอาแต่มองเป็นเรื่องไร้มารยาท หรือไม่ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอย่างสุดโต่ง เกิดมาทั้งชีวิตไม่เคยพบเจออะไรอย่างนี้มาก่อน ถึงขั้นเลยเถิดไปกล่าวหาว่า Gen Z เป็นวัยที่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่แคร์คนอื่น และบ้างก็ว่าไม่อยากกลับไปเข้าร้านที่มีพนักงานเป็นคนวัยนี้อีก ว่ากันไปต่างๆ นานา ตามแต่ใครจะจินตนาการหาเหตุมาได้
เช่นกันในฝั่งที่เห็นต่างก็ยกเหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาหักล้าง หลักๆ จะมาในอารมณ์ของคนที่อยากอยู่อย่างสงบ ไม่ชอบให้บริกรเข้ามายุ่งวุ่นวายอะไรมากนัก คุยกันเมื่อตอนที่ต้องสั่งอาหารหรือเมื่อเลือกสิ่งที่ต้องการเสร็จแล้วก็พอ
หรือในอีกมุมหนึ่งตามรายงานของสื่ออย่าง New York Post พวกเขาลงรายละเอียดในประเด็นที่ว่า หนุ่มสาว Gen Z มักระบายความอีเหละเขละขละของลูกค้าขี้วีนชอบเอาแต่ใจอยู่บ่อยๆ สิ่งนั้นจึงกลายเป็นเชื้อไฟให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยอยากจะสุงสิงกับมนุษย์ป้าสักเท่าไหร่ ก็เป็นเหตุผลที่น่าคิดเช่นกัน
รวมถึงประเด็นที่มองอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างเข้าอกเข้าใจว่า Gen Z เกิดมาในสังคมก้มหน้า (ผู้ใหญ่เองก็เป็นไม่ต่างกัน) เขาใช้ชีวิตมาแบบนั้น จะไปคาดหวังอะไรมากกว่านั้นได้อย่างไร ซ้ำยังเจอวิกฤตโควิด-19 มากักขังให้ต้องกักตัวอยู่อย่างขาดปฏิสัมพันธ์อีก หากคนรุ่นใหม่จะเกร็งหรือกลัวที่จะทักทายคนแปลกหน้าก็คงไม่แปลกกระไรหรอก
เรื่องราวที่ยกมานี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่ถูกพูดถึง ก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นมาบ้างแล้ว และสุดท้ายเรื่องราวมันก็ลงเอยที่ความเห็นส่วนตัวและความต้องการของตนเป็นหลัก
แต่ถึงต่างฝั่งต่างมีเหตุผลของกันและกัน ประเด็นของเรื่องนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สร้างความตึงเครียดระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ จากที่คนรุ่นเก่ารู้สึกว่ามารยาทในการให้บริการลดลง และคาดหวังให้พนักงานบริการมีการทักทายและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างเป็นมิตร ในขณะที่คนรุ่นใหม่บางคนมองว่าการทักทายด้วยวาจาอาจเป็นการรบกวนหรือไม่จำเป็น
เป็นความแตกต่างที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในค่านิยมและพฤติกรรมทางสังคมระหว่างรุ่นที่คงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันต่อไป
อ้างอิง:
- Beware the ‘Gen Z gaze’: Young service workers’ refusal to greet customers is setting off older generations https://nypost.com/2025/06/18/lifestyle/rude-gen-z-gaze-among-young-service-workers-upsets-older-generations/
- ‘Appalled’: This is what’s wrong with Gen Z workers https://www.news.com.au/finance/work/at-work/appalled-this-is-whats-wrong-with-gen-z-workers/news-story/
- ‘Judged’: 27yo reveals retail trend https://www.news.com.au/lifestyle/real-life/news-life/judged-27yo-reveals-retail-trend/news-story