ผลสำรวจชี้ว่า Gen Z จากประเทศร่ำรวยดื่มเหล้าน้อยลง แต่ Gen Z จากประเทศยากจนดื่มเยอะขึ้น
‘น้ำเมา’ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วในอดีตไม่ค่อยมีคอนเซ็ปต์ว่าสิ่งเหล่านี้ ‘เด็กห้ามกิน’ เพราะเราจะเห็นได้ว่าตั้งแต่นักปรัชญาศตวรรษที่ 17 อย่าง จอห์น ล็อค (John Locke) ก็จะมีการเสนอว่า เด็กๆ ควรจะกินเบียร์ หรือกระทั่งฝรั่งเศสนั้นก็ยังฝึกให้เด็กประถมกินไวน์มาจนถึงปลายศตวรรษที่ 20 เพราะถือว่าเป็นการ ‘เรียนรู้วัฒนธรรมชาติ’
แน่นอนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โลกนี้ก็เริ่มมีมาตรฐานว่าอายุขั้นต่ำของเด็กที่บริโภคเครื่องดื่มมึนเมาได้ก็จะเป็น 18 ปี โดยเด็กๆ ที่ต้องการจะ ‘ขบถ’ ก็จะพยายาม ‘แอบ’ กินตอนอายุน้อยกว่านั้น
แต่สิ่งเหล่านี้อาจกำลังเปลี่ยนไป
ทั้งนี้ ประเทศรวยๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย สวีเดน ญี่ปุ่น รายงานตรงกันหมดว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ของพวกเขามีพฤติกรรมนิยมชมชอบในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ‘ลดลง’ เยอะมาก
แน่นอน อะไรพวกนี้จะวัดจากพฤติกรรม ‘ดื่มก่อนวัยอันควร’ ของคนวัยรุ่นตอนต้นไปจนถึง 18 ปี ซึ่งแม้ว่าจะ ‘ผิดกฎหมาย’ แต่ก็พบได้ทั่วโลก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในรอบประมาณ 10-20 ปีที่ผ่านมา บรรดาประเทศรวยๆ นั้นพบพฤติกรรม ‘ดื่มก่อนวัยอันควร’ ลดลงเกินครึ่งแทบทั้งหมด และนั่นหมายความว่าคนรุ่นใหม่ๆ ที่โตมานี้ จะเติบโตมาเป็น ‘ผู้บริโภค’ น้ำเมาที่น้อยลง และนั่นหมายถึง ‘ตลาดน้ำเมา’ ที่ลดลงด้วย
แน่นอนว่าองค์กรอย่าง สสส. อาจจะดีใจ แต่อีกด้านในประเทศที่มี ‘วัฒนธรรมและอุตสาหกรรมน้ำเมา’ เขาปวดหัวกันมากๆ ที่ฝรั่งเศสปวดหัวมาพักใหญ่แล้วว่า วัฒนธรรมไวน์อันน่าภาคภูมิใจจะดำเนินต่อไปได้ยังไงถ้าคนรุ่นใหม่ๆ กินไวน์กันน้อยขนาดนี้ เยอรมนีก็เช่นกัน เขาปวดหัวว่าถ้าคนรุ่นใหม่ๆ กินเบียร์กันน้อยลง วัฒนธรรมดื่มเบียร์ของเยอรมันก็คงจะไปต่อไม่ได้ ส่วนญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมน้ำเมาคราฟต์ๆ เขาเดินเกมเร็ว และเริ่มมีนโยบายสนับสนุนให้คนกินน้ำเมากันมากขึ้นแล้ว
ซึ่งก็แน่นอนอีกว่า บรรดา ‘ผู้มีศีลธรรม’ ชาวไทยก็อาจงงว่า อะไรคือ ‘ปัญหา’ ตรงนี้? คนเมาน้อยลงไม่ดีหรือ? คำตอบคือ ในหลายๆ ประเทศอุตสาหกรรมน้ำเมามันใหญ่มาก และโยงกับธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่สร้างรายได้ให้คนมากมาย และการจะปล่อยให้ธุรกิจพวกนี้ล้มตายไปอย่างไม่ไยดีนั้นก็ไม่ใช่จริตของ ‘รัฐ’ ที่ดี เพราะที่พังจะไม่ใช่แค่ครอบครัวจำนวนมาก แต่มันรวมถึงอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (ซึ่งยุคหลังๆ คนจะฮิตเรียกว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์) ที่ปลุกปั้นมานานจะล้มลงไปดื้อๆ ด้วย
ที่น่าสนใจคือ ประเด็นพวกนี้เขาก็กำลังศึกษาอยู่อย่างจริงจังว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะ ‘นักวิจัย’ จากชาติต่างๆ ก็เพิ่งได้มาแลกเปลี่ยนกัน และเห็นแพตเทิร์นตรงกันว่า คนรุ่นใหม่ๆ กิน ‘น้ำเมา’ น้อยลงเรื่อยๆ ด้วยบางเหตุผล ที่ไม่มีใครรู้ชัดว่าคืออะไร
แต่อีกด้าน ที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏการณ์พวกนี้อาจจำกัดอยู่ใน ‘ประเทศร่ำรวย’ หรือโลกตะวันตก (บวกญี่ปุ่น) เท่านั้น เพราะนอกโลกตะวันตก ปรากฏการณ์มันแทบจะตรงข้าม ที่ไนจีเรียและเวียดนามมีรายงานตรงกันว่าคนเริ่ม ‘ดื่มตั้งแต่อายุน้อย’ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในจีนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมๆ ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แบบที่เรียกว่าเริ่มทำให้แบรนด์น้ำเมาในโลกตะวันตกหันมาพึ่งตลาดจีนแทนตลาดตะวันตก ที่หดตัวไปเรื่อยๆ แล้วด้วย
ก็น่าสนใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนรุ่นใหม่ๆ ประเทศร่ำรวยถึงเลี่ยงน้ำเมากันมากขึ้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่ๆ ในประเทศ ‘กำลังพัฒนา’ นั้นกลับมีแนวโน้มตรงกันข้าม
ซึ่งคำตอบแบบจริงจังก็คงจะเป็นปริศนาอยู่ ว่าแต่คิดว่าเหตุผลมันคืออะไรกันบ้าง?
อ้างอิง
- The Conversation. As young people in rich countries drink less alcohol, elsewhere youth drinking is on the rise – podcast. https://bit.ly/3W40VzY
- Rachel Laudan. ‘Plain and Simple:’ The Ideal Diet for a Child According to John Locke. https://bit.ly/3HAJ9QL
- Culture Trip. Why French Schoolchildren Used To Drink Wine Between Lessons. https://bit.ly/3YijxOA
- The Local. German teenagers drinking less alcohol: Study. https://bit.ly/3uJ2veS
- VNExpress. Vietnamese youth starting to drink way too early. https://bit.ly/3j198Xv
- The Straits Times. China’s alcohol intake on the rise, thanks to growing affluence, more adventurous drinkers. https://bit.ly/3HyWl8Y