3 Min

รู้ไหม “คนเก็บขยะ” ไม่ใช่ “งานกระจอก” ในโลกตะวันตก เงินเดือนเฉลี่ยเกิน 100,000 บาท มากกว่าคนจบ ป.ตรี

3 Min
5108 Views
04 Oct 2021

Select Paragraph To Read

  • ‘คนเก็บขยะ’ อาชีพหลักแสนต่อเดือนในโลกตะวันตก
  • เก็บขยะคืองานใช้ทักษะ
  • ช่องว่างของคนเก็บขยะในไทยและตะวันตก

สำหรับคนไทยจำนวนมาก ตอนเด็กๆ พ่อแม่อาจชอบขู่ว่า “ถ้าไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ อีกหน่อยต้องไปเก็บขยะ”

หลายๆ คนก็อาจนึกว่าพ่อแม่รุ่นหลังๆ คงไม่สอนลูกแบบนี้แล้ว จนกระทั่งมี “ดราม่า” ล่าสุดที่มีพ่อ “สอนลูก” โดยให้ไปเก็บขยะจน “ทัวร์ลง”

หลายๆ คนก็เลยตระหนักว่า นี่ขนาดปี 2021 แล้ว “พ่อแม่สมัยนี้” ก็ยังสอนลูกกันแบบนี้อยู่

แน่นอน ตรงนี้เราจะพูดก็ได้ว่าสังคมไทยมีการกดกัน เหยียดกัน เพื่อจะการันตีว่าสังคมจะมี “นรก” เอาไว้ขู่และสั่งสอนคนให้อยู่กับร่องกับรอยตลอดเวลา

แต่ตรงนี้เราอยากจะพูดเรื่อง “คนเก็บขยะ

‘คนเก็บขยะ’ อาชีพหลักแสนต่อเดือนในโลกตะวันตก

ในสังคมไทย การเป็น “คนเก็บขยะ” เป็นอาชีพที่ดูไม่ดีเลย มันเป็นงานที่ “สกปรกและอันตราย” แถมรายได้ก็น้อย

ในสังคมตะวันตกก็คล้ายๆ กัน ลักษณะงานของคนเก็บขยะก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไร แต่ความต่างคือ รายได้เขาสูงมาก และสูงระดับที่ว่า ได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยคนจบปริญญาตรีอีก

ซึ่งถ้าจะเล่าให้พอเห็นภาพ ในประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตก รายได้ของ “คนเก็บขยะ” เฉลี่ยคือปีละกว่า 1 ล้านบาทไทย หรือถ้าคิดเป็น “เงินเดือน” แล้วจะอยู่ราวๆ 100,000 กว่าบาท ซึ่งต้องเน้นว่านี่คือ “รายได้เฉลี่ย” เพราะคนเก็บขยะในบางพื้นที่ทำรายได้พีคๆ เช่น คนเก็บขยะในมหานครนิวยอร์ก อาจทำเงินได้ถึงราวเดือนละ 250,000 บาทเลยทีเดียว

และนี่ไม่ใช่รายได้ที่น้อยๆ เลย เพราะในอเมริกาเอง สมมติว่าคุณ “เรียนไม่จบ” แล้วไป “ทำงานระดับล่าง” แบบเป็นแคชเชียร์ รายได้ที่คุณคาดหวังได้แบบเฉลี่ยๆ คือประมาณ 60,000-70,000 บาทต่อเดือน ส่วนถ้าคุณจบปริญญาตรี รายได้เฉลี่ยที่คุณคาดหวังได้จะอยู่ที่ประมาณ 70,000-80,000 บาทต่อเดือน

ดังนั้นในบริบทแบบนี้ รายได้ของคนเก็บขยะที่ได้เฉลี่ยปีละ 100,000 กว่าบาท มันไม่ใช่ “งานกระจอก” เลย มันเป็นรายได้ดีแท้ๆ ในระดับที่อาจทำให้คนเรียนจบมหาวิทยาลัยถามตัวเองเลยว่า “นี่เราเรียนจบมาเพื่อรับเงินเดือนน้อยกว่าคนเก็บขยะทำไมกัน? ”

ก็นั่นน่ะสิครับ ทำไมล่ะ?

เก็บขยะคืองานใช้ทักษะ

ในตะวันตก แม้ว่าอาชีพคนเก็บขยะนั้นจะไม่ได้โดน “ดูถูก” แบบคนไทย แต่มันก็ไม่ใช่อาชีพที่พึงประสงค์เท่าไร เพราะมันก็ยัง “สกปรกและอันตราย” อยู่

กล่าวคือ ไม่ว่าสังคมจะเจริญแค่ไหน “ขยะก็ยังคงเป็นขยะ” และคนก็ไม่อยากยุ่งกับขยะ มันจึงเป็นขยะ และทำให้อาชีพของ “คนเก็บขยะ” ไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วๆ ไปจะอยากทำกันนัก

ด้วยเหตุนี้คนทั่วๆ ไปจึงหลีกเลี่ยงไม่อยากทำ แม้มันจะสุจริตและสร้างรายได้ดีแค่ไหน และคนไม่น้อยที่อยู่ในอาชีพนี้ก็มักจะเป็น “คนที่ไม่มีโอกาสเลือกงาน” เท่าใดนัก เช่น ผู้อพยพทั้งหลาย หรือคนที่ขาดทั้งการศึกษาและทักษะด้านงานบริการที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์

ทีนี้ แม้ว่านี่จะไม่ใช่ “งานอันพึงประสงค์” เท่าไร แต่มันคือ “งานใช้ทักษะ” ไง ในทางปฏิบัติการเป็น “คนเก็บขยะ” ในโลกตะวันตกคือ “คนขับรถขยะ” ซึ่งรถขยะนี่มันคือรถที่มีลักษณะเฉพาะ คนต้องขับเป็น และคุมเครื่องจักรเป็น

อธิบายมาถึงตรงนี้คงจะพอเห็นภาพว่า ในขณะที่งาน “เก็บขยะ” นั้นไม่ใช่งานที่ใครๆ จะอยากทำ แต่ในบรรดาคนที่ “ยอมทำ” ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทักษะเพียงพอเช่นกัน

ดังนั้นมันทำให้ “แรงงานคนเก็บขยะ” ขาดแคลน และในสถานการณ์ตลาดแรงงานที่มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพียงพอแบบนี้ ถ้าค่าแรงจะสูงดังที่เล่ามา ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

ช่องว่างของคนเก็บขยะในไทยและตะวันตก

แม้ว่างานแบบ “คนเก็บขยะ” จะรายได้ดีกว่าการเป็นแคชเชียร์ เด็กเสิร์ฟ หรือกระทั่งบาร์เทนเดอร์แน่ๆ แต่คนทั่วๆ ไปก็ดูจะเลือกทำงานกลุ่มหลังมากกว่าจะเป็น “คนเก็บขยะ” เพราะอย่างน้อยๆ เวลา “มีเดต” การบอกอาชีพตัวเองของคนในอาชีพรายได้ต่ำเหล่านี้ก็ดูจะกระอักกระอ่วนน้อยกว่าการต้องบอกว่าตัวเองเป็น “คนเก็บขยะ”

ดังนั้น โดยสรุปแล้ว การเป็น “คนเก็บขยะ” ไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์ในทางสังคมในโลกตะวันตกแน่นอน นี่ไม่ได้ต่างจากไทย แต่จุดที่ต่างจริงจังก็คือ ในความเป็นงานอันตรายเสี่ยงภัยที่คนไม่อยากทำกันที่ต้องการทักษะด้วย มันทำให้พวกเขาได้ค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อระดับเด็กปริญญาตรีส่วนใหญ่เห็นรายได้แล้วก็ได้แต่มองตาปริบๆ

และสถานะแบบนี้ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่พ่อแม่ตะวันตกนั้นคงไม่สอนลูกแน่ๆ “ถ้าไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ อีกหน่อยต้องไปเก็บขยะ”

อาจไม่ใช่เพราะเขาไม่ดูถูกคนครับ แต่น่าจะเพราะว่า “คนเก็บขยะ” มีแนวโน้มที่จะ “รวย” กว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่มากกว่า

อ้างอิง: