Select Paragraph To Read
- อังกฤษจะยกเลิกการค้าเสื้อจากขนสัตว์หรือไม่
- สินค้าบางชิ้น มาจากการล่าอย่างผิดกฎหมาย
- แนวโน้มการแบนสินค้าจากสัตว์
- โควิด-19 อาจเปลี่ยนแนวโน้มการค้าขนสัตว์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอังกฤษเริ่มพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลแบนการค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมขนสัตว์ พวกเขามองว่า สินค้าที่ทำมาจากขนสัตว์เป็นสินค้าที่เกิดขึ้นจากความ “ทารุณโหดร้าย” ที่มนุษย์ได้กระทำต่อสัตว์ และถือเป็นเรื่องที่ล้าสมัยมากๆ ในศตวรรษที่ 21
ในรายงานข่าวพบว่าชาวอังกฤษ 72% คิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า “ควรแบน” และประชาชนอีก 93% ประกาศเจตนารมณ์ว่า จะไม่ใส่เสื้อที่ทำมาจากขนสัตว์โดยเด็ดขาด
หากว่ากันในเชิงสถิติแล้ว จะพบว่า ทุกๆ ปี จะมีสัตว์มากกว่า 100 ล้านตัว อาทิ มิงค์ สุนัขจิ้งจอก สุนัข แร็กคูน กระต่าย ถูกฆ่าเพื่อเอาขนมาทำเป็นสินค้าแฟชั่น
และเฉลี่ยแล้วในทุกๆ หนึ่งวินาทีจะมีสัตว์สามตัวที่ต้องอุทิศชีวิตเพื่อกลายเป็นสินค้าสนองความต้องการของมนุษย์ไปอย่างน่าเศร้า
ซึ่งหัวเรือใหญ่ของการรณรงค์ในเรื่องนี้ ก็เป็นองค์กรที่เราคุ้นหูกันดีอย่าง PETA (องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ที่มักเคลื่อนไหวด้วยกิจกรรมสุดโต่ง อาทิ เปลื้องผ้าประท้วงการค้าเสื้อขนสัตว์) ร่วมด้วยองค์กรเล็กใหญ่และกลุ่มทำแคมเปญอีกหลาย อาทิ Humane Society International, RSPCA, Four Paws UK ที่ช่วยกันออกมาทำงานสื่อสาร
จนกลายเป็นกระแสลุกโชนผ่านแคมเปญ #FurFreeBritain ที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษไม่อาจปฏิเสธ
“เสียงของประชาชน” ที่ดังเกินครึ่งค่อนประเทศได้
อังกฤษจะยกเลิกการค้าเสื้อจากขนสัตว์หรือไม่
อันที่จริงประเทศอังกฤษได้ยกเลิกการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนในอุตสาหกรรมแฟชั่นหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์มานานกว่า 20 ปีแล้ว
แต่ปัญหาที่ประชาชน “ยังต้อง” ออกมาเรียกร้อง เพราะปัจจุบันอังกฤษยังนำเข้าสินค้าที่ทำจากสัตว์มาขายในประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีที่มาจาก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส โปแลนด์ รวมถึงประเทศจีน
ประมาณการณ์ว่า อังกฤษมีรายได้จากการค้าและนำเข้าอุตสาหกรรมขนสัตว์กว่า 800 ล้านปอนด์ต่อปีเลยทีเดียว
ซึ่งนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของประเทศออกมาแถลง (แก้ต่าง) ในเรื่องนี้ ว่า ประเทศอังกฤษได้แบนการทำฟาร์มขนสัตว์ในประเทศมานานแล้ว และ “คิดว่าเราคงจะยกระดับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ในอนาคต” โดยทิ้งท้ายว่า “อย่างเหมาะสม”
ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีบทสรุปต่อไปอย่างไร
สินค้าบางชิ้น มาจากการล่าอย่างผิดกฎหมาย
การแบนสินค้าที่มาจากขนสัตว์นั้น นอกจากจะเรียกร้องต่อการทารุณกรรมสัตว์แล้ว ในบางมิติ ยังหมายถึงแหล่งที่มาของสินค้าบางชิ้นอาจได้มาด้วยความไม่ชอบมาพากล
บ่อยครั้งที่การนำเข้า มาจากการล่าและค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย เช่นในกรณีสัตว์บางชนิดที่ไม่ได้มีฟาร์มเลี้ยงอย่างถูกกฎหมาย อาทิ เสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ที่ห้ามมีการค้าไม่ว่าจากกรณีใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็ยังพบว่ามีสินค้าจากหนังเสือวางขายอยู่ทั่วไป เช่นเดียวกับรองเท้าหนังยีราฟ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตขึ้นมาจากการล่ามากกว่าฟาร์มเพาะเลี้ยง
และถึงแม้จะอ้างว่าการล่านั้นเป็นเรื่องชอบธรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายของบางประเทศและบางรัฐก็ตาม แต่ก็ไม่มีอะไรมายืนยันได้เลยว่า ต้นทางของสินค้านั้นจะมาจากการล่าที่ถูกกฎหมายทั้งหมด
ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีถึงเงินหมุนเวียนในธุรกิจการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย (ที่มีมูลค่ามากมายเทียบเท่าการค้าอาวุธสงครามและยาเสพติด) ที่คอยดึงดูดให้คนยังหันเหชีวิตมาประกอบอาชีพ (ผิดกฎหมาย) ทางนี้
แนวโน้มการแบนสินค้าจากสัตว์
ประเด็นการ “แบน” สินค้าที่ทำมาจากสัตว์ นอกจากอังกฤษแล้วยังมีหลายชาติในยุโรป ยกเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ผ่านการขับเคลื่อนทางตัวบทกฎหมายอย่างน่าสนใจ
เป็นต้นว่า รัฐบาลในฮังการีได้ประกาศห้ามการเลี้ยงสัตว์บางชนิดเพื่อป้อนอุตสาหกรรมขนสัตว์ รัฐบาลไอร์แลนด์ก็ได้ให้คำมั่นว่าจะออกกฎหมายในเรื่องเดียวกันนี้ให้แล้วเสร็จในปีนี้ ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสจะยุติการทำฟาร์มตัวมิงค์ในปี 2025
ขณะที่ประเทศบัลแกเรีย เอสโตเนีย ลิทัวเนีย มอนเตเนโกร โปแลนด์ และยูเครน กำลังพิจารณาเรื่องการห้ามทำฟาร์มขนสัตว์ และในฟินแลนด์พรรคการเมืองส่วนใหญ่ของรัฐบาลผสมเพิ่งประกาศสนับสนุนการห้ามทำฟาร์มขนสัตว์
ในสหรัฐอเมริกา แคลิฟอร์เนีย กลายเป็นรัฐแรกของประเทศที่ห้ามขายขนสัตว์อย่างถาวรไปตั้งแต่ปี 2019
จากตัวอย่างที่ว่ามา ถือเป็นทิศทางสำคัญที่จะนำไปสู่การ “เปลี่ยน” อุตสาหกรรมนี้อย่างน่าสนใจ

มิงค์ในฟาร์มประเทศเดนมาร์ก l chicagotribune
โควิด-19 อาจเปลี่ยนแนวโน้มการค้าขนสัตว์
อย่างไรก็ตาม เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโควิด-19 ก็อาจเป็นอีกปัจจัยน่าสนใจที่ทำให้อุตสาหกรรมสินค้าจากขนสัตว์มีแนวโน้มลดลงในอนาคต
เนื่องจากในปีที่ผ่านมา พบว่ามีมิงค์ หนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจที่ถูกเลี้ยงเพื่อป้อนอุตสาหกรรมขนสัตว์ติดเชื้อโควิด-19 กันยกฝูงในฟาร์มเพาะเลี้ยงหลายแห่ง มีรายงานติดเชื้อทั้งในเนเธอร์แลนด์ สเปน สหรัฐ เดนมาร์ก สวีเดน ไอร์แลนด์ จนเป็นเหตุให้เจ้าของฟาร์มแทบทุกแห่งต้อง “ฆ่า” มิงค์ในฟาร์มทิ้งทั้งหมด นำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนไม่น้อย
ขณะเดียวในทางปฏิบัติก็เหมือนการปิดอุตสาหกรรมการค้าขนสัตว์ไปโดยปริยาย เพราะมีเจ้าของฟาร์มหลายๆ แห่ง เกิดอาการถอดใจสำหรับการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
อ้างอิง:
- Euro News. 72% of Brits want the ‘Cruel and Outdated’ fur trade to be banned. http://bit.ly/2Nsb4bX
- National Geographic. What the mink COVID-19 outbreaks taught us about pandemics. http://on.natgeo.com/391wAvC