คุณรู้ไหมว่าเมื่อปี 2008 ทามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ หนึ่งในนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เคยท้าเดิมพันโดยมีเงินเดิมพันถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ว่า ถ้าใครก็ตามสามารถหากองทุนรวมหรือเฮดจ์ฟันด์ใดๆ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนชนะ ‘กองทุนดัชนี’ ได้ ก็เอาเงินก้อนนี้ไปเลย
มีผู้กล้าเดิมพันกับบัฟเฟตต์ 1 เจ้า คือบริษัทบริหารสินทรัพย์นามว่า Protégé Partners โดยทาง Protégé Partners ได้เลือกเฮดจ์ฟันด์ มา 5 กองทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อ
การเดิมพันได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2017 ผลคือ บัฟเฟตต์ชนะเดิมพันอย่างขาดลอย ผลตอบแทนของกองทุนดัชนีสูงกว่าพวกเฮดจ์ฟันด์แบบเทียบไม่ได้
ถ้าคุณไม่คุ้นเคยกับการลงทุนเลย คุณอาจสงสัยว่า ‘กองทุนดัชนี’ นี่มันคืออะไร มีดียังไง เจ้าแห่งนักลงทุนอย่างบัฟเฟตต์ถึงเลือกที่จะถือหางในการเดิมพัน
และมากกว่านั้น เขาไม่ได้แค่ถือหาง ‘กองทุนดัชนี’ ในการเดิมพันนี้เท่านั้น แต่เขาแนะนำให้นักลงทุนหน้าใหม่ที่ต้องการจะสร้างรายได้ไว้ใช้ในตอนเกษียณนั้นลงทุนในกองทุนแบบนี้ให้หมด
‘กองทุนดัชนี’ นั้นก็คือ กองทุนรวมประเภทที่จะไม่มีการทำการเลือกถือหุ้นเป็นตัวๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่กองทุนจะกระจายเงินลงทุนไปในหุ้นทุกตัวตามสัดส่วนของขนาดบริษัทในตลาดหุ้น (เช่นบริษัท A มีมูลค่าคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ ของบริษัททั้งหมดในตลาดหุ้น กองทุนก็จะเอาเงิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของกองทุนไปลงทุน) ซึ่งมันจะทำให้ผลตอบแทนออกมามีกราฟหน้าตาเหมือน ‘ดัชนีตลาดหุ้น’ เพราะดัชนีตลาดหุ้นก็ถูกคำนวณมาด้วยวิธีการแบบเดียวกัน
ซึ่งก็แน่นอน ดัชนีตลาดหุ้นก็มีหลายดัชนีในโลก ทุกตลาดหุ้นมีดัชนีของตัวเอง และในอเมริกาที่มี 3 ตลาดหุ้นก็ล้วนมีดัชนีประจำตัวกันหมด แต่สิ่งที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ แนะนำก็คือ ให้ซื้อกองทุนที่ลงทุนตามดัชนี S&P 500 ซึ่งก็คือดัชนีที่บ่งชี้สภาพตลาดหุ้นของอเมริกาผ่าน 500 บริษัทในอเมริกา ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดจากทุกตลาดในอเมริกา
ทั้งหมดอาจฟังดูซับซ้อน แต่ถ้าจะให้พูดง่ายๆ ที่สุดก็คือ บัฟเฟตต์แนะนำว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือการกระจายการลงทุนกับมันไปให้หมดทุกบริษัทที่ใหญ่ๆ นั่นแหละ อย่าไปเลือกลงทุนมันแค่บางบริษัท เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าหุ้นบริษัทไหนจะขึ้นจะลงในระยะยาว ดังนั้นซื้อหุ้นไปให้หมดทุกบริษัทคือเซฟสุด และวิธีที่ง่ายที่สุดในการจะทำแบบนี้ก็คือไปลงทุนในกองทุนดัชนี S&P 500
มาถึงตรงนี้เราอาจจะสงสัยว่า ทำไมสุดยอดนัก ‘เลือกหุ้น’ ของโลกที่เลือกหุ้นเก่งจนมาเป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับท็อปของโลกถึงมาแนะนำว่าเวลาเราลงทุน เราอย่าไปเลือกหุ้นเป็นตัวๆ เลย?
คำตอบคือ บัฟเฟตต์ตระหนักดีว่าสำหรับคนทั่วๆ ไป การเป็นนักลงทุนที่เก่งมันเป็นสิ่งที่ยากแสนยาก และพูดง่ายๆ คือ เขาคิดว่าคนทั่วๆ ไปนั้นไม่ได้มีวิสัยทัศน์และประสบการณ์เพียงพอที่จะเลือกหุ้นเองได้ โดยเฉพาะตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ซึ่งเป็นเวลาที่โดยทั่วไปก็ถือว่าควรจะเริ่มลงทุนแล้ว
เท่านั้นยังไม่พอ สำหรับคนที่พอจะมีเงินจำนวนมากในอเมริกา ทั่วๆ ไปที่มีเงินมากพอ แต่ไม่ได้มีความรู้ทางการเงินมากมาย พวกเขาก็มักจะมีการจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน หรือไม่เอาเงินไปลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ (ซึ่งก็คือกองทุนที่บริหารแบบอิสระที่ไม่เปิดขายให้นักลงทุนรายย่อย) เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด
สำหรับบัฟเฟตต์ เขามองว่าสิ่งเหล่านี้นี่แหละที่จะทำให้นักลงทุนไม่ได้ผลตอบแทนสูงสุด การไปจ้างที่ปรึกษาทางการเงินก็คือ ต้องไปเสียค่าปรึกษามากมายให้กับคนเหล่านี้ การเอาเงินไปให้เฮดจ์ฟันด์ลงทุนให้นั้นก็ต้องไปเจอค่าธรรมเนียมบริหารกองทุนแบบมหาโหดกว่ากองทุนรวมทั่วๆ ไปอีก (ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ คนที่จะเป็นผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ได้นั้นต้องเป็นนักลงทุนมือทอง ซึ่งก็ต้องได้รับผลตอบแทนค่าจัดการกองทุนมากกว่าผู้จัดการกองทุนปกติ)
พูดง่ายๆ คือ ถึงกองทุนพวกนี้จะสร้างผลตอบแทนเยอะ แต่คุณก็จะโดนกินส่วนแบ่งผลตอบแทนไปเยอะเช่นกันกว่ามันจะมาถึงมือคุณ และในระยะยาว ไอ้ที่คุณโดนกินส่วนแบ่งไปน่ะมันไม่น้อย
และนี่คือเหตุผลที่บัฟเฟตต์ชนะเดิมพันที่เล่ามาข้างต้น
อันที่จริงแล้ว ถ้าจะเอาให้เป๊ะ สิ่งที่บัฟเฟตต์แนะนำให้นักลงทุนหน้าใหม่ลงทุนกันยาวๆ ก็คือกองทุนดัชนี S&P 500 ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำโดยเฉพาะ (เพราะบางกองก็มีค่าธรรมเนียมสูง) ซึ่งนั่นก็ชัดเจนมากๆ ว่าตัวบัฟเฟตต์เองนั้นคิดว่าสิ่งที่จะมาแย่งผลตอบแทนของเราไปก็คือไอ้ค่าธรรมเนียม หรือพวกค่าจ้างนักลงทุนมือเซียนมาบริหารกองทุนนี่แหละ
และการที่กองทุนดัชนีสามารถมีค่าธรรมเนียมต่ำได้ ก็เพราะมันแทบไม่ต้องการอะไรเลยในการบริหาร มันไม่ต้องการทีมนักวิเคราะห์ใหญ่ๆ ที่ต้องมาแบ่งกันดูตลาดแต่ละตลาด แบ่งกันดูหุ้นเป็นกลุ่มๆ (เพราะคนเดียวดูไม่มีทางไหว) เพื่อให้การเลือกหุ้นของกองทุนเป็นไปได้ดีที่สุด เพราะก็ดังที่บอก กองทุนดัชนีนั้นจะเลือกลงทุนในบริษัทใดแค่ไหนก็แค่ต้องดูสัดส่วนของมูลค่าบริษัทในตลาดโดยรวมเท่านั้นเอง ซึ่งในทางการลงทุนมันจะมีคำเรียกแนวการลงทุนแบบนี้ว่า Passive Investment คือการลงทุนเชิงรับ หรือการลงทุนโดยไม่ต้องคิด โครงสร้างตลาดมายังไง ก็ลงทุนไปตามนั้น ซึ่งมันต่างจากการเก็งเลือกหุ้นเป็นตัวๆ เพื่อหวังให้ได้ตัวที่โตที่สุดซึ่งจะเรียกว่า Active Investment หรือการลงทุนเชิงรุก
จริงๆ แล้ว หลังจากที่บัฟเฟตต์ได้ท้าเดิมพันว่า ‘กองทุนดัชนี’ นั้นแน่กว่าพวกกองทุนแบบอื่นเป็นไหนๆ ในแง่การให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน กองทุนดัชนีสารพัดก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด และนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ จำนวนมากก็เลือกจะลงทุนแนวนี้กัน และจริงๆ แล้วเศรษฐี Gen Y หน้าใหม่ในอเมริกาหลายๆ คนที่ทำงานเก็บเงิน และลงทุนจนสามารถ ‘เกษียณตอนอายุ 30’ ก็ออกมายืนยันแล้วว่า วิธีการบริหารเงินแบบนี้เวิร์ค
ซึ่งจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นมามากมายบนโลกนับแต่ตอนนั้นก็ไม่ใช่แค่กองทุนดัชนีเท่านั้น แต่เป็นตัวดัชนีเองด้วย ทุกวันนี้ดัชนีหุ้นที่มีในโลกนั้นก็มีมากไปกว่าจำนวนหุ้นที่มีขายๆ กันทุกตลาดในอเมริกาเรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าพอกองทุนดัชนีฮิต ก็มีการทำดัชนีกันมาสารพัด และก็มีกองทุนจำนวนมากลงทุนตามดัชนีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีของแต่ละภาคอุตสาหกรรม ดัชนีรวมฮิตประเทศที่ตลาดหุ้นกำลังโต (หรือที่เรียกว่า ‘ตลาดเกิดใหม่’) ดัชนีรวมฮิตหุ้นบริษัทจีนที่อยู่ในตลาดทั่วโลก ดัชนีรวมหุ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดัชนีหุ้นทั้งโลก ฯลฯ
แต่สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ สิ่งที่บัฟเฟตต์แนะนำให้ลงทุนไม่ใช่กองทุนดัชนีอะไรก็ได้ เขาแนะนำให้ลงทุนกับกองทุนดัชนี S&P 500 โดยเฉพาะ เพราะนั่นคือการเดิมพันกับเศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมแบบไม่แบ่งแยก พูดง่ายๆ คือ บัฟเฟตต์เชื่อในตลาดหุ้นอเมริกาที่ส่งเขาให้เป็นเศรษฐีจนทุกวันนี้ และถ้าเศรษฐกิจอเมริกายังโตได้ต่อไป (ดังที่มันโตมาเป็นร้อยปี) ดัชนีที่เป็นตัวชี้วัดสภาพตลาดหุ้นอเมริกาในภาพกว้างมันก็ย่อมจะโตต่อไปแบบไม่ต้องคิดอะไรมากได้แน่ๆ ในระยะยาว
ซึ่งการไม่ต้องคิดอะไรมากนี้ถือเป็นเรื่องดีสำหรับคนที่ลงทุนไปด้วยทำงานไปด้วย เพราะมันไม่ต้องดูจังหวะว่าตอนไหนควรจะซื้อกองทุนดี เพราะมูลค่าของหน่วยลงทุนในกองทุนดัชนีโดยธรรมมันจะขึ้นช้าๆ แต่ชัวร์ไปเรื่อยๆ มูลค่าจะไม่แกว่งไปมามากแบบหน่วยลงทุนในกองทุนหุ้นปกติ (ไม่ต้องไปพูดถึงหุ้นเป็นตัวๆ ที่แกว่งมากกว่านั้นอยู่แล้ว)
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจคิดว่าทั้งหมดมันเป็นเรื่องของอเมริกา มันเป็นการลงทุนในหุ้นอเมริกา เราลงไม่ได้หรอก แต่ข้อเท็จจริงคือ กองทุนรวมในไทยก็มีที่ลงทุนแบบที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ว่าไว้ เช่น กองทุนเปิดแอสเซทพลัสเอสแอนด์พี 500 (ASP-S&P 500) ของ บลจ. แอสเซทพลัส, กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500) ของ บลจ. ไทยพาณิชย์, กองทุนเปิดเค หุ้นยูเอส พาสซีฟ (K-US500X) ของ บลจ. กสิกรไทย, กองทุนเปิดทหารไทย US500 Equity index (TMBUS500) ของ บลจ. ทหารไทย, กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส อิควิตี้ ฟันด์ (TISCOUS-A) ของ บลจ. ทิสโก้
กองทุนที่ว่ามาทั้งหมดนั้นเอาเงินไปลงทุนตามดัชนี S&P 500 ในอเมริกาอีกที และมันก็จะให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่บัฟเฟตต์ว่าไว้
ถ้าคุณไม่คุ้นเคยกับการลงทุน คุณอาจจะคิดว่าคุณไม่มีเงินจะเปิดพอร์ตใหญ่โตหรอก แต่จริงๆ คุณก็สามารถจะเริ่มลงทุนได้ด้วยเงินเพียง 500 บาท หรือกระทั่งน้อยกว่านั้น ได้ด้วยซ้ำ
ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนมีแค่บัตรประชาชน สมุดบัญชีธนาคาร เดินไปธนาคาร กรอกเอกสาร แล้วคุณก็เริ่มลงทุนได้เลย
แต่ถ้าสมัยนี้ มันง่ายกว่านั้นไปอีก เพราะถ้าคุณมี ‘แอปธนาคาร’ แนวโน้มคือเขาจะอำนวยความสะดวกให้คุณสามารถเอาเงินจากบัญชีธนาคารไปลงทุนในกองทุนที่อยู่ในเครือข่ายธนาคารได้เลย ซึ่งก็อย่างที่พูดด้านบน เอาจริงๆ ธนาคารในไทยใหญ่ๆ แทบทั้งหมด มีบริการลงทุนใน S&P 500 ทั้งนั้น และการลงทุนขั้นต่ำของบางธนาคาร ลงทุนแค่ 1 บาทเขายังให้เลย ถ้าลงทุนผ่านแอป เพราะเขาถือว่ามันไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร
และบางที การลงทุนตามที่หนึ่งในนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลกแนะนำว่า ควรจะทำเพื่อเงินไว้ใช้ตอนเกษียณก็น่าจะเป็นการทดลองที่ไม่เลวนะ
อ้างอิง
- CNBC. The Buffett Challenge, hedge funds vs. index funds, 9 years on.
- https://cnb.cx/3ooRfkz
- CNBC. Warren Buffett says index funds make the best retirement sense ‘practically all the time’. https://cnb.cx/3orwzIJ
- MarketWatch. 5 Warren Buffett quotes for anyone who thinks they can pick stocks and get rich like he did. https://on.mktw.net/3BuoISL
- Financial Times. Why Warren Buffett is right, but so wrong. https://on.ft.com/3zv9yuI
- Investopedia. Buffett’s Bet with the Hedge Funds: And the Winner Is … https://bit.ly/3PV8WnP