15 Min

จากไทยไปเม็กซิโกแบบไม่ใช้เครื่องบินวันที่ 174 คุยกับ ‘ทัช Unless You Try’ ผู้ชายที่เดินทางเพื่อเป็นเพื่อนกับคนทั้งโลก

15 Min
418 Views
17 Feb 2025

ถ้าเราบอกใครสักคนว่าเรากำลังจะเดินทางไปเม็กซิโก
คงมีไม่กี่คนนักที่จะตั้งคำถามว่าไปอย่างไร เพราะเป็นอันรู้กันดีว่าแม้จะใช้เวลาสักหน่อย

แต่การนั่งเครื่องบินและเสียสละเวลาประมาณ 20 ชั่วโมงก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ชายคนนี้

‘ทัช-ธีรัช วัฒนกิจรุ่งโรจน์’ ชายหนุ่มที่อยู่ระหว่างการเดินทางจากประเทศไทยผ่านกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นครอบครัวอุปถัมป์ของตัวเองเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเม็กซิโก โดยไม่ใช้เครื่องบิน

นอกจากจะเป็นนักเดินทางแล้ว ทัชยังมีแฟนเพจในชื่อ ‘Unless You Try’ ที่เปิดขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างการทำวิทยานิพนธ์และการตั้งคำถามถึงการแสวงหาตัวตน แต่ในท้ายที่สุดเพจนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ให้เขาลองทำอะไรใหม่ๆ ทั้งการเดินทางผ่านไทย-เมียนมา-อินเดีย-เนปาล โดยไม่ใช้เครื่องบิน และการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงตอนเหนือของประเทศไทย โดยไม่มีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียว ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียง-ตั้งคำถามของสังคมออนไลน์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ไม่ว่าการเดินทางที่ผ่านมาจะนำพาทัชไปเจอกับอะไร แต่ในวันนี้ที่ BrandThink ได้มีโอกาสต่อสายทางไกลไปยังประเทศบัลแกเรีย เพื่อพูดคุยกับทัชถึงการเดินทางที่ผ่านมา รวมถึงครั้งล่าสุดที่ยังไม่ถึงจุดหมาย แววตาของเขาตอนที่เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้เราฟัง ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นและมั่นใจ ราวกับว่าเหตุการณ์ไม่คาดคิดคือมิตรแท้ในการเดินทางของผู้ชายคนนี้

เรานัดวิดีโอคอลกันในช่วง 9 โมงเช้าของประเทศบัลแกเรีย แม้ว่าออกจะเป็นเวลาที่เช้าไปหน่อยสำหรับนักเดินทาง แต่พอเราให้เขาอัปเดตการเดินทางว่าตอนนี้เขากำลังอยู่ที่ไหนและแพลนจะทำอะไรอยู่บ้าง ทัชก็ใช้เวลาไม่นานนักในการเรียบเรียงเรื่องราว ก่อนจะออกปากเล่าถึงคืนสุดทรหดที่ผ่านมา

“ตอนนี้ทัชอยู่บัลแกเรีย อยู่เมืองที่มีชื่อว่า ‘เวลิโก ทาร์โนโว’ ( Област Велико Търново) เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของบัลแกเรีย และเป็นเมืองหลวงเก่าเมื่อหลายร้อยปีก่อน เพิ่งจะโบกรถจาก ‘โซเฟีย’ (София) มา ซึ่งโซเฟียเป็นเมืองหลวงบัลแกเรีย ที่อยู่ห่างออกไปสักพัก ทัชโบกรถมากับเพื่อนชาวมาเลเซียอีกคนหนึ่งที่เพิ่งเจอกันเมื่อสองวันก่อน แล้วก็โบกตั้งแต่ประมาณ 10 มาถึงประมาณ 6 โมง ใช้เวลา 8 ชั่วโมง เป็นการโบกรถที่ยากที่สุดเท่าที่เคยโบกมา”

แค่คำถามแรกทัชก็เล่าถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการก้าวเข้ามาในพรมแดนบัลแกเรียที่ไม่ตรงกับที่เคยคิดไว้ให้เราฟังทันที

“นึกว่าอยู่ยุโรปแล้วจะง่าย เลยเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เพิ่งจะรู้ว่า เออไม่ง่ายว่ะ ยืนรอรถอยู่ 3 ชั่วโมง ไม่มีใครแคร์ รถน่าจะขับผ่านเป็นพันคัน จนมาเจอคนที่น่ารักมากๆ หนึ่งคน แล้วเขาก็พามาส่งถึงที่เลย”

ทัชบอกเราว่าได้เตรียมตัวมาประมาณหนึ่ง และรู้ว่าการโบกรถที่ประเทศบัลแกเรียนั้นคงไม่ง่ายมากนัก แต่ในบางสถานการณ์เราต้องการคนน่ารักแค่เพียงคนเดียวเพื่อทำให้เราไปถึงจุดหมาย และเขาก็ได้เจอคนคนนั้นเมื่อคืนนี้

“ตอนนี้ก็เลยมาอยู่ที่ตรงนี้ แล้วก็กําลังจะข้ามประเทศไปให้ถึงโรแมเนีย ซึ่งจะเริ่มโบกต่อวันพรุ่งนี้ วันนี้จะเดินเที่ยวหนึ่งวัน”

ไทย-เมียนมา-อินเดีย-เนปาล
จุดเริ่มต้นจากธีสิส สู่การค้นพบชีวิตและตัวตน

หลายคนอาจเคยเห็นเรื่องราวของทัชผ่านตามาบ้าง ด้วยความที่เขาไม่ใช่แค่แบ็กแพ็กเกอร์ แต่ยังพ่วงตำแหน่งคอนเทนต์ครีเอเตอร์เจ้าของเพจ ‘Unless You Try’ เอาไว้ด้วย

“Unless You Try เป็นวิทยานิพนธ์ช่วงมหาวิทยาลัย ซึ่งวิทยานิพนธ์นี้จะต้องหาปัญหาของสังคม แล้วเอาการออกแบบเข้ามาช่วย พยายามที่จะทําให้มันดีขึ้น แล้วตอนนั้นเราอายุประมาณ 21-22 ปี เราก็มองว่าปัญหาที่เรารู้สึกว่าใหญ่สําหรับคนรอบตัวเราที่สุดในตอนนั้นก็คือ ‘Identity Crisis’ (การแสวงหาตัวตน) ก็คือการไม่รู้ว่าจบไปแล้วจะเอายังไงต่อกับชีวิต จบไปแล้วอยากจะทําอะไรต่อ เรามีความสุขกับเรื่องอะไร เรารู้สึกว่ามันน่าจะทําอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะทําให้คนรู้จักตัวเองมากขึ้นได้”

ทัชเล่าให้ฟังต่อว่าเขาเชื่อว่าการค้นพบตัวเองเป็นกระบวนการระยะยาวที่ต้องค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ จึงเกิดขึ้นมาเป็นโปรเจกต์ Unless You Try ที่อยากจะให้ผู้คนออกไปลองทําอะไรใหม่ๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะค้นเจอสิ่งที่ตัวเองชอบหรือสนใจ ซึ่งชื่อ Unless You Try นี้ ก็มาจากภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลกับเขาในช่วงเวลานั้น

“หนังชื่อ ‘Room’ (2015) เป็นเหมือนผู้หญิงวัยรุ่นโดนลักพาตัวไปขัง แล้วไปคลอดลูกอยู่ในห้อง ลูกของผู้หญิงคนนี้เกิดมาก็อยู่ในห้อง ทั้งโลกของเขามีแค่ห้องสี่เหลี่ยมที่มีหน้าต่างอยู่ข้างบน ท้องฟ้าเป็นแค่สี่เหลี่ยมเล็กๆ อยู่บนกรอบหน้าต่าง สําหรับเด็กเขาไม่เคยเห็นโลกภายนอก เขาไม่รู้ว่าเขาจะใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ยังไง แต่ว่าสิ่งที่เขาต้องทําก็แค่ลองไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะเจอสิ่งที่เขาต้องการหรือสิ่งที่เขาชอบ ก็เลยออกมาเป็นคํานี้แหละ Unless You Try”

ดูเหมือนว่าคำนี้จะไม่ได้ทำงานกับทัชแค่ตอนทำวิทยานิพนธ์ แต่เมื่อเขาเรียนจบและยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อกับชีวิต ก็เป็นจุดที่ทำให้เขาได้ออกไปลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

“ตอนนั้นก็ดูหนังเรื่อง ‘The Secret Life of Walter Mitty’ (2013) แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย! อันนี้เราไม่เคยทํา เราไม่เคยออกไปเที่ยวแบกเป้คนเดียว แบบไม่วางแผน แบบมันๆ”

จึงเกิดเป็นทริปแรกอย่างการเดินทางไปเมียนมา-อินเดีย-เนปาล แบบไม่ใช้เครื่องบิน ซึ่งแม้ว่าการเดินทางครั้งนั้นจะไปจบที่การนั่งเครื่องบินหนึ่งครั้งจากเมียนมาไปอินเดีย เนื่องด้วยปัญหาเกี่ยวกับชายแดน แต่ทัชก็บอกว่าได้เรียนรู้อะไรมากมายจากตอนนั้น และเปรียบเทียบมันเหมือนกับการเคาะกะลา ที่ทำให้เขารู้ว่าโลกนั้นยิ่งใหญ่ และเปลี่ยนชีวิตของทัชไปเลย 

“ทริปนั้นก็เหมือนจะแอบได้คําตอบด้วยซ้ําว่า อยากจะใช้ชีวิตยังไง ได้คำตอบว่าเราชอบการเปิดโลกว่ะ รู้สึกว่าการออกเดินทางเพื่อสำรวจโลก คือการใช้ชีวิตในแบบของเรา”

ใครจะรู้ว่าสารตั้งต้นในการออกมาทำอะไรใหม่ๆ ของทัช คือภาพยนตร์เพียงสองเรื่อง และการมีวินัยในการทำคอนเทนต์ของเขา ก็มีแรงบันดาลใจเล็กๆ มาจากภาพยนต์เช่นกัน

“เรื่องที่สามคิดว่าเป็น ‘Into the Wild’ (2007) เรื่องนี้เขาทิ้งทุกอย่างแล้วก็ออกไปใช้ชีวิตคนเดียวข้างนอก เผาเงิน เผารถ ทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัว ทิ้งทุกอย่างแล้วก็ออกไปเข้าป่าตะลุยไปเรื่อยๆ แบบไม่มีจุดหมาย (* มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์) แล้วตอนจบมันโดดเดี่ยวอยู่ที่รถบ้านกลางหุบเขา ไม่มีใครเลย แล้วก็กําลังจะตาย เราก็เพิ่งจะมารู้ว่าความสุขของชีวิต บางทีมันไม่ใช่แค่การเดินทางไปเรื่อยๆ 

เรารู้สึกชอบประโยคสุดท้ายสุด ๆ ‘Happiness Is Only Real When Shared’ คือความสุขที่แท้จริง มันเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณได้แบ่งปันมัน ถึงแม้เราจะชอบใช้ชีวิตโลดโผน ชอบเดินทาง ชอบเปิดโลกอะไรยังไงก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราต้องใช้ชีวิตแบบนี้คนเดียว เรารู้สึกว่านั่นก็อาจจะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง”

ทัชขยายความคำว่าความสุขที่แท้จริงของเขาไว้ โดยยกตัวอย่างการเดินทางคนเดียวในช่วงที่ผ่านมา ว่าในท้ายที่สุดแล้วทัชได้พบกับมิตรภาพระหว่างทาง ทั้งจากคนที่บังเอิญเจอ และจากผู้ติดตามที่กลายมาเป็นกําลังใจหลักในการทำให้เขามีแรงนั่งตัดวิดีโอ รวมถึงยังคงออกเดินทางต่อไป

‘#ขอทานทัวร์’
บททดสอบความเชื่อ ที่ทำให้ตัวตนแข็งแกร่ง

การเดินทางไปเมียนมา-อินเดีย-เนปาลในครั้งนั้น สร้างฐานผู้ติดตามให้ทัชและ Unless You Try มากกว่า 20,000 คน ซึ่งอีกหนึ่งจุดเรียนรู้ของทัชเองก็เริ่มขึ้นหลังจากนั้น 

“การเที่ยวของเรามันค่อนข้างจะเอ็กซ์ตรีม ไม่นั่งเครื่องบินไปเลยสองเดือน ซึ่งสําหรับหลายๆ คนแล้ว มันเป็นอะไรที่ดูแหกกฎ แหกกรอบสิ่งที่คนไทยทั่วไปทํามากๆ แล้วสิ่งแรกที่คนจะคิดขึ้นในหัวคือ ‘มึงรวยถึงทําอย่างนี้ได้’”

ทัชไม่ได้ปฏิเสธการเกิดมาในชนชั้นกลางระดับบนของตัวเอง แต่การเผชิญกับคอมเมนต์แนวนี้อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เขาเองก็ตั้งคำถามกลายๆ ว่าหากไม่มีเงินเลยสักบาท จะยังสามารถเดินทางได้อยู่หรือไม่

“เรารู้ว่าถ้าไม่มีเงินแล้วอยู่ๆ ไปขอเขา นั่นก็ไม่ใช่ทางของเรา เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราอยากจะพิสูจน์ให้คนเห็นคือ ถ้าคุณมีความรู้ความสามารถ คุณมีอะไรติดตัว อย่างเช่นเราเล่นกีตาร์ได้ เราวาดรูปได้มีสกิลเหล่านี้ติดตัว เอาไปแลกกับการเดินทางได้ไหม 

“มันคือการแลกเปลี่ยนโดยที่ไม่เอาเงินเป็นตัวกลาง แต่เอาความสามารถของเราเป็นการแลกเปลี่ยนแทน”

จากการตั้งคำถามง่ายๆ กับตัวเอง และเริ่มด้วยการโบกรถออกนอกบ้าน ก่อนจะไปเล่นดนตรีเปิดหมวกที่เยาวราช ส่งให้ทัชและเพื่อนอีก 1 คน เดินทางขึ้นไปทางเหนือของประเทศไทย และใช้ชีวิตได้ถึง 2 สัปดาห์

“เราพกกระดาษสีน้ําไปแล้วก็วาดรูปแลก เราวิ่งเข้าไปหาคน ทุกคนมีความสุขกับการรับสิ่งนี้ แลกเปลี่ยนสิ่งนี้ไหม ซึ่งเรารู้สึกว่าเกือบทุกคนแฮปปี้กับสิ่งที่เราทํา เราสนุกกับสิ่งที่เราทํามากๆ งานศิลปะ งานดนตรีเป็นงานที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ มันแล้วแต่คนจะให้ ซึ่งเราขอแลกเปลี่ยนกับอาหาร เรารู้สึกว่าเราพิสูจน์ให้คนเห็นว่ามันแลกเปลี่ยนได้”

แต่แล้วทริปนั้นก็มีสิ่งที่ทัชไม่เคยคาดคิดเกิดขึ้น โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่เขาลงรูปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรูปเริงร่ากับการได้นอนในห้องพักเตียงใหญ่ที่เจ้าของที่พักเอื้อเฟื้อให้ แลกกับการช่วยทำงานเล็กๆ น้อย พร้อมเริ่มต้นแคปชันด้วยประโยคที่ว่า ‘ใครว่าออกเดินทางไม่มีตังจะนอนสบายไม่ได้?’

“สุดท้ายก็เลยโดนดราม่า กลายเป็น #ขอทานทัวร์ เราก็โดนคนถกเถียงกันทั้งประเทศ”

ที่ทัชเลือกใช้คำว่าถกเถียง ก็เพราะมีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ ซึ่งหากไม่นับคนที่เข้ามาคอมเมนต์วิจารณ์อย่างไม่สร้างสรรค์นัก เราก็ได้พบว่ามันเป็นพื้นที่แชร์ความคิดเห็นระหว่างกลุ่มคนที่มองว่าการขออาหารและที่พักฟรีเป็นการเบียดเบียนคนทำธุรกิจ และกลุ่มคนที่มองว่าเงินตราไม่ใช่ของเพียงอย่างเดียวที่สามารถใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าได้

“สุดท้ายเราก็ออกมาขอโทษนะ หลังจากโดนดราม่า เราออกมาขอโทษ แต่เราไม่ได้ขอโทษในสิ่งที่เราทํา แต่เราขอโทษในวิธีการสื่อสารของเราในตอนนั้น ซึ่งผู้ติดตามส่วนใหญ่ ณ ตอนนั้นเป็นเพื่อนเรา เราเลยเหมือนคุยกับเพื่อน แล้วเราอาจจะทําให้คนที่ไม่รู้จักเราดีพอ เข้าใจผิดได้”

พอเราถามว่าเมื่อการเดินทางของเขาถูกคนบนโซเชียลมีเดียตั้งคำถามมากมาย มันสั่นคลอนหรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อบางอย่างของเขาบ้างหรือไม่

“ไม่สั่นคลอน”

ทัชตอบอย่างไม่คิด พ่วงด้วยน้ำเสียงมั่นใจ ก่อนจะอธิบายเสริม

“บอกเลยว่าไม่สั่นคลอนแก่นแท้ของความเป็นตัวเรา และสิ่งที่เราทํามาตลอด แต่เป็นผลดีด้วยซ้ําเพราะมันทําให้เรา รู้สึกว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่เรา เรามีคนติดตามดูเราอยู่ เพราะฉะนั้นเราอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ เราต้องปรับตัวตาม สื่อสารออกไปแบบระมัดระวังมากขึ้น แล้วก็พยายามจะทําอะไรดีๆ คุณต้องคิดถึงด้วยว่าผลของการกระทําของคุณ ผลของการเดินทาง หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ มันมีคนที่ได้รับผลกระทบในหลายๆ รูปแบบ”

เขาบอกว่าตัวเองไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์ แต่เมื่อมีผู้ติดตามมากขึ้น ทำให้เขาได้ทำความเข้าใจว่าพื้นที่การสื่อสารนี้เป็นของสารธารณะ และอาจไม่ได้มีคนเห็นด้วยกับเราเสมอไป ทัชขยายความว่าจากคอมเมนต์เป็นหมื่นๆ บนโลกออนไลน์ที่ส่งหาเขาในช่วงเวลานั้น บางคนด่าลามไปถึงเพื่อน ถึงครอบครัวของทัช ทำให้ทัชเชื่อว่าคำพูดหลายๆ อย่างสามารถทำลายชีวิตคนได้จริงๆ ดังนั้นทุกคนจึงควรเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แค่เขาได้เรียนรู้วิธีปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร แต่ทุกคนที่ใช้โซเชียลมีเดียก็ควรจะเรียนรู้ว่าการสื่อสารอย่างสนุกปาก สนุกมือ ก็ทําลายชีวิตคนได้เช่นเดียวกัน

‘จากไทยไปเม็กซิโกแบบไม่ใช้เครื่องบิน’
การเดินทางครั้งใหม่ ที่นิยามได้ว่ากลมกล่อมที่สุด

นี่น่าจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ได้สั่นคลอนความเชื่อในการเดินทางของทัชเลย เพราะถ้าใครเป็นสายท่องเที่ยว หรือติดตามคอนเทนต์เดินทางในแอปพลิเคชันวิดีโอต่างๆ คงจะพอได้เห็นคลิปที่ขึ้นต้นด้วยประโยคที่ว่า ‘จากไทยไปเม็กซิโกแบบไม่ใช้เครื่องบิน’ กันมาบ้างแล้ว และนี่คือการเดินทางล่าสุดของทัชที่ดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยความสุข ถ้าสังเกตจากแววตาตอนที่เขาเล่าจุดเริ่มต้นให้เราฟัง

“ตั้งแต่ทริปแรกที่เราไปเมียนมา-อินเดีย-เนปาล เรารู้สึกว่าเราชอบการเดินทางคนเดียว เราได้เรียนรู้ เราชอบมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ตอนนั้นเรียนจบอายุ 23-24 ปี ตอนนี้ทัชอายุ 30 เหมือนแบบฉันต้องเลือกเส้นทางชีวิตจริงๆ แล้ว พอเราไม่เคยวิ่งตามเงินมาก่อน เราวิ่งตามความสุข เราวิ่งตามสิ่งที่เราต้องการในชีวิต มันมีสองเส้นทางให้เลือก คือฉันจะเลือกเงิน และความสบาย ณ ตอนนั้นที่มีอยู่แล้ว กับอีกทางหนึ่งคือ ไอ้ความฝันที่เรายังอยากทํามานานแล้วเรายังไม่เคยได้ทํา”

ถึงตรงนี้คงไม่ต้องเฉลยว่าทัชเลือกเส้นทางไหน

“โลกนี้ใหญ่เกินกว่าที่เราจะเรียนรู้ได้ทั้งหมดก่อนที่เราจะตาย เพราะฉะนั้นความฝันคือการเรียนรู้ การเดินทางรอบโลกเพื่อให้เรียนรู้มากที่สุด”

ทัชยกตัวอย่างอายุขัยของคนที่มักจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ปี ดังนั้นช่วงอายุ 30 จึงเปรียบเสมือนครึ่งชีวิตของพวกเราแล้ว

“ถ้าเราอยากเดินทางเที่ยวรอบโลกภายในชาตินี้ของเราอะ ถ้างั้นสามสิบเราก็ต้องพยายามเดินทางให้ได้ครึ่งโลกหรือเปล่า”

ครึ่งโลกที่ว่านี้ ทัชขยายความว่าไม่ใช่ครึ่งโลกที่หมายถึงหนึ่งร้อยกว่าประเทศ เพราะอาจเป็นสิ่งที่เขายังทำไม่ได้ในขณะนี้

“ถ้าอย่างนั้นอย่างน้อยครึ่งโลกโดยระยะทางแล้วกัน แล้วเม็กซิโกก็ดันอยู่ครึ่งโลกพอดีจากประเทศไทย ห่างกัน 12 ชั่วโมง ที่นี่เที่ยงวัน ที่นู่นเที่ยงคืน แล้วอีกอย่างหนึ่งที่เราเลือกเม็กซิโกก็คือเราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เม็กซิโกเมื่อสิบสี่ปีก่อน เรามีโฮสต์พ่อ โฮสต์แม่ เรามีคนที่เรารักแล้วก็คนที่รักเราอยู่ที่นู่น เราไม่ได้กลับไปหาเขามาสิบสี่ปีแล้ว เราบินไปครึ่งโลกไม่ไหวมาตลอด จนตอนนี้ถามว่ามีเงินบินไปหาเขาไหม มีนะ บินไปหาเขาได้เลย แต่เท่ากับว่าเราไม่ได้ใช้ชีวิตตามความฝันของเรา”

พอเราถามถึงครอบครัวอุปถัมป์ที่เขาพูดถึง ทัชบอกว่าได้มีการติดต่อพูดคุยกัน ทุกคนรู้ว่าทัชกำลังเดินทางไปหา แต่อาจจะใช้เวลานานกว่าปกติสักหน่อย ซึ่งโฮสต์แฟมิลี่เองก็เข้าใจ และคอยติดตามความเคลื่อนไหวผ่านทาง Instagram Story ของทัชอยู่ตลอด

“เขาติดตามดูอยู่ แล้วก็ตื่นเต้นกับการเดินทางของเราไปหาเขาด้วยวิธีการนี้มากๆ

แต่เขาก็พิมพ์หาเราเป็นระยะๆ ว่าคิดถึงแล้วแบบอยากเจอเรา ทริปนี้ก็เลยกลายเป็นการเดินทางกลับไปหาครอบครัวที่สองของทัช (Journey Back to My Second Family)”

นอกจากทำไมถึงต้องเป็นประเทศเม็กซิโกแล้ว มีอีกหนึ่งคำถามยอดนิยมที่เรามักจะพบได้ตามคอมเมนต์ของคลิปที่ทัชทำ นั่นก็คือ ‘ทำไมไม่เลือกเส้นทางที่สั้นที่สุด?’

“สั้นและเร็วที่สุดก็คือบินถูกไหม เราเลือกที่จะไม่บินเพราะการบินคือการทิ้งโอกาสในการสัมผัสเรื่องราวระหว่างทาง คือการเดินทางจากจุดเอไปจุดบีแล้วจบ”

ทัชไม่นิยามตัวเองเป็นนักท่องเที่ยว นั่นจึงทำให้การเดินทางของเขาห่างไกลจากคำว่าสบาย

“สิ่งที่ทัชทําไม่ใช่การท่องเที่ยว สิ่งที่ทัชทำคือการเดินทาง และส่วนตัวคิดว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะรู้สึกว่าสําหรับเรา การท่องเที่ยว เราตีความว่ามันคือการไปพักผ่อน แต่ของทัช คือการเดินทาง คือตั้งเป้าไว้แต่แรกว่าไม่ได้ไปเพื่อพักผ่อน แน่นอนว่าพักผ่อนเป็นจุดหนึ่งที่เราจะได้สัมผัสสิ่งนั้นระหว่างการเดินทาง แต่ว่าเป้าหมายหลักคือการไปเรียนรู้โดยตรงเลย”

พอเราได้เข้าใจถึงแก่นแท้ในการเดินทางของทัช จึงได้เข้าใจสิ่งที่เขาพยายามจะอธิบายทั้งหมดหลังจากนั้น

“จากไทยไปเม็กซิโก ถ้าจะไม่บินก็มีเส้นทางที่สั้นกว่านี้อีกเยอะ หลายเส้นทางมากๆ แต่เราเลือกเส้นทางที่ไม่ใช่ยาวที่สุดหรอก แต่ก็ค่อนข้างจะแวะไปนู่นไปนี่ ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ที่คนพูดถึงบ่อยที่สุดอย่างแรกก็คือ ทําไมไม่ทะลุขึ้นลาวไปที่จีน ทําไมถึงวนเข้ากัมพูชา ไปเวียดนาม แล้วค่อยเข้าจีน คือมันอ้อมอ่ะ ซึ่งทัชมีคําตอบที่ดีให้ได้ว่า ก็เพราะว่าเคยไปลาวแล้ว แต่ไม่เคยไปกัมพูชาและเวียดนาม สองประเทศนี้ไม่เคยไป ก็เลยเลือกสองประเทศนี้เพื่อที่จะไปเรียนรู้”

ตั้งแต่วันแรกที่ออกเดินทางจนถึงวันที่ 174 ทัชเดินทางผ่านมาแล้วทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม จีน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน ตุรกี กรีซ และบัลแกเรีย เป็นประเทศล่าสุด ซึ่งถือได้ว่าทัชได้ผ่านความยากมาเกือบจะครึ่งทางของการเดินทางแล้ว

ถ้าดูจากประเทศที่เขาผ่านมา หลายๆ คนอาจยังจินตนาการภาพความยากไม่ออก แต่ทัชบอกว่ามีหลายสิ่งที่อยู่นอกเหนือแผนการคร่าวๆ ที่เขาเตรียมไว้

นี่คือภาพแผนการแรกของทัช แต่นอกจากจะโดนขโมยกระเป๋า (ที่มีพาสปอร์ตอยู่ข้างใน) ตั้งแต่เริ่มทริปที่กัมพูชาแล้ว ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมาย

“ตอนแรกเราจะข้ามไปเติร์กเมนิสถาน แล้วเข้าอิหร่าน สุดท้ายเราเข้าเติร์กเมนิสถานแล้วกลายเป็นว่ามันใช้เงินเยอะไปหน่อย เพราะอยู่ดีๆ ประเทศเติร์กเมนิสถานก็เลิกให้ทรานซิตวีซ่าเรา เราก็เลยเปลี่ยนแผนมาเป็นอัฟกานิสถานซึ่งถูกกว่า แล้วดูจะได้ประสบการณ์เต็มที่กว่า เทียบกับจํานวนเงินและเวลาที่ใช้

“สองก็คือเราโดนปฏิเสธที่พรมแดนจอร์เจีย ไม่ให้เข้าประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่าเราไม่มีเงินสดหรือว่าไม่มีการจองโรงแรมมา ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการทําแบบแบ็กแพ็กเกอร์อยู่แล้วเพราะเราไม่สามารถวางแผนอะไรได้”

แต่ทัชบอกเราว่าทุกครั้งที่เจอเรื่องยากลำบาก มันจะกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีที่เอาไปเล่าต่อได้ในอนาคต ซึ่งเราก็ออกจะเห็นด้วย เพราะตอนที่ทัชเล่าให้ฟังอยู่นี่ เขาก็ดูมีท่าทีสนุกและตื่นเต้นกับมันอย่างเห็นได้ชัด อย่างการที่เขาเลือกเปลี่ยนจากเติร์กเมนิสถาน เป็นการไปอัฟกานิสถาน ก็ทำให้เขาได้พบเจอกับกลุ่มตาลีบัน และกลายเป็นความทรงจำที่น่าจะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว 

“เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เอาจริงๆ ตอนเราโพสต์คอนเทนต์ลงไป เราแอบห่วงนิดนึง แล้วก็แอบหมายเหตุเอาไว้ด้วยซ้ําว่า อันนี้เป็นการเล่าเรื่องราว เป็นการแชร์ประสบการณ์ในฐานะนักเดินทาง แล้วจากการที่เราได้ไปเดินทางตรงนั้น ได้เรียนรู้ ณ ประเทศอัฟกานิสถาน ก็ต้องบอกว่า เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเราในหลายๆ มุม เราจะไม่พูดเรื่องสงครามเพราะสงครามมันเป็นช่วงเวลาพิเศษที่คนอย่างเราคงเข้าใจเขาไม่ได้ ไปพูดแทนเขาไม่ได้ว่าเขาอยู่ในอยู่ในจุดแบบไหนทําไมเขาถึงตัดสินใจทําอะไรแบบนั้น”

ทัชเล่าอย่างคนที่เข้าใจว่าตัวเองเคยผิดพลาดด้านการสื่อสาร และจากขอทานทัวร์ในวันนั้น เขาได้กลายเป็นคนที่รอบคอบด้านข้อมูลมากขึ้นก่อนที่จะถ่ายทอดทุกเรื่องราวให้เราได้เห็นกัน และนอกจากการได้พบเจอกับกลุ่มตาลีบันแล้ว ทัชได้ผูกมิตรกับเพื่อนระหว่างทางมากมาย ที่เจ้าตัวยอมรับว่ามันคือสเน่ห์ในการเดินทางรูปแบบนี้

“ทริปนี้จริงๆ มีอยู่ประมาณ 2 คอนเซ็ปต์ คอนเซ็ปต์แรกคือเก็บเงินล้านแรกได้ตอนอายุ 29 แล้วผลาญให้หมดตอนอายุ 30 เพราะว่าทริปนี้เราวางบัดเจ็ตไว้ล้านนึง แล้วก็ไม่รู้ว่าจะใช้หมดหรือต้องใช้เท่าไหร่ ส่วนสองก็คือเรารู้สึกว่าจุดเด่นของการเดินทางของเราคือการไปเป็นเพื่อนกับคนทั้งโลก ทุกคนน่ะไม่ว่าจะห่วยแตกขนาดไหนก็มีเรื่องดีๆ อยู่กับคนนั้น”

อาจฟังดูเหมือนคำตอบโลกสวย แต่ต้องบอกว่าจากมุมมองของเราที่ได้ฟังทัชพูด เรารับรู้ได้เลยว่าเขาเชื่อในด้านดีของมนุษย์อย่างสุดหัวใจ

“เราเลยวิ่งออกเดินทางไปบนโลกใบนี้ เพื่อที่จะไปขุดเอาเรื่องเหล่านั้นออกมา วิ่งเปิดด้านดีๆ เข้าหากันและกัน แล้วพอเราเดินทางด้วยวิธีคิดแบบนั้น พอเราเปิดด้านดีให้เขาดูก่อน ส่วนใหญ่คือเราจะได้เห็นด้านดีๆ ของเขากลับมา

มันก็เลยกลายเป็นประสบการณ์ที่โคตรจะเวอร์วังอลังการ ใช้คํานี้ได้เลย ว่ามันว้าวมากๆ แม้กระทั่งกับตัวเราเอง มันสวยงามจนเสียน้ําตามาแล้ว 2-3 ครั้งในทริปนี้ เพราะผู้คน เพราะความสวยงามของผู้คนและโลกใบนี้ แต่มันเริ่มต้นจากวิธีคิด ว่าเราเชื่อ เรามีความหวัง เรามีความเชื่อในตัวมนุษย์ และโลกใบนี้มากๆ นั่นคือสาเหตุที่เราตัดสินใจในการเดินทาง”

พอเห็นว่าเขามุ่งมั่นขนาดนี้ เราเลยอดถามไม่ได้ว่าจะมีอะไรมาหยุดเขาจากการเดินทางครั้งนี้ได้ไหม

“แพสชันหรือว่าใจเราจะไม่ใช่สิ่งที่เราหยุดเรา แต่เหตุการณ์ที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง นั่นคือสิ่งที่สามารถหยุดเราได้ แต่คิดว่าเกิดขึ้นได้ค่อนข้างจะยาก เพราะว่าทัชมีความคิดที่ว่า There’s Always a Way (มันมีหนทางเสมอ) อยู่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะหาทางออกมาจากมัน แล้วทําเป้าหมายให้สําเร็จให้ได้”

การเดินทางครั้งนี้ทัชบอกว่ามันกลมกล่อมที่สุดในช่วงวัย 30 ปี ด้วยความที่เขาเคยผ่านมาทั้งทริปที่ลำบากที่สุด อย่างการพยายามจะโบกรถ หรือนอนโรงแรมคืนละ 50 บาท รวมถึงทริปที่ประหยัดที่สุด อย่างการไม่ใช้เงินสักบาทเดียว 

“ประสบการณ์ที่ได้มาจากการตะลุยใช้ชีวิตทริปแรก และความผิดพลาดในการสื่อสารในทริปที่สอง เราเอามาปรับใช้ในทริปที่สามเราก็เลยแบบเข้ากับคนได้ง่ายมากขึ้น แล้วสองทริปแรกทําให้เราเปิดโลกเจอกับคนหลายๆ คัลเจอร์ มันก็เอามาปรับใช้ว่าเราเข้ากับคนได้ง่ายมากขึ้นในทริปนี้ มันก็สมูทมากขึ้น กลมกล่อม แล้วก็รู้สึกว่าเป็นทริปที่เหมาะสมกับวัยสามสิบ”

‘Unless You Try’
ส่งต่อพลังในการลองใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

เราบอกทัชว่าสิ่งที่ทัชทำมันอาจไม่ได้ทำงานกับคนที่ไม่เห็นด้วยในไลฟ์สไตล์แบบนี้มากนัก แต่คนสำคัญที่เราอยากให้ทัชสื่อสารด้วยในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์คือกลุ่มคนที่ติดตามคอนเทนต์ของทัชเข้าใจเขา และอาจจะใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนก็ได้บนโลก แต่กำลังมองเห็นข้อจำกัดในชีวิตตัวเอง ว่าทัชอยากจะบอกอะไรกับกลุ่มคนเหล่านั้นที่คิดและอยากทำอะไรบางอย่าง แต่ยังไม่ได้เริ่มก้าวแรกอย่างที่เขาได้เริ่มไปแล้ววันนี้

“อย่างที่บอกว่าเราเข้าใจว่าต้นทุนทุกคนต่างกันจริงๆ ทุกคนต้องออกแบบวิธีการใช้ชีวิต หรือว่าการเดินทางของตัวเองขึ้นมาให้ได้ คราวนี้พอหลายๆ คนเลือกที่จะเอาข้อจํากัดของตัวเองต้านขึ้นมาเป็นอันแรก มันเลยยากที่จะก้าวขาออกไปด้วยจากข้อจํากัดนั้น แต่ทัชเอาสิ่งที่อยากทําตั้งเป็นหลัก โดยไม่ได้มองมาก่อนด้วยซ้ําว่าเป็นไปได้หรือเปล่า แล้วทัชถึงจะมามองหาทาง

ทัชเชื่ออย่างเต็มที่จริงๆ ว่า ทุกคนสามารถออกแบบทริปในรูปแบบของตัวเองได้ และสามารถเรียนรู้ในรูปแบบของตัวเองได้จริงๆ คุณเดินทางได้ ในรูปแบบของตัวเอง ในความพอดีของตัวเอง ในช่วงเวลาของตัวเอง ทุกอย่างมันเริ่มจากก้าวเล็กๆ เพราะฉะนั้นก็เลยอยากให้ทุกคนตามหาสิ่งที่ตัวเองอยากทําก่อน ว่าอยากจะทําอะไรกันแน่ พอได้สิ่งที่ตัวเองอยากทําแล้ว ก็มองหาทางเพื่อที่จะทําสิ่งนั้นให้มันเกิด แล้วสามก็คือก้าวแรกออกไปให้ได้เพราะก้าวแรกคือก้าวที่สําคัญและยากที่สุด”

ก้าวแรกของทัชเองก็ใช่เวลาเช่นกัน เพราะเขาเล่าให้ฟังว่าทำงานเป็นฟรีแลนซ์มาโดยตลอด และอยู่ในวังวนของการพัฒนาตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อเวลาผ่านไปจากวัย 20 ปี จนถึง 30 ปี เขาหันหลังไปและพบว่าความพยายามของเขาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มันสร้างเบาะรองหลังให้ตัวเขาเอง

“พอมาถึงวัย 30 ปี เราจะยอมทิ้งทุกอย่างที่สร้างขึ้นมาตอนนี้ เพื่อไปใช้ชีวิตตามฝันในการเดินทางรอบโลกไหม ปรากฏว่าหันหลังไป มันเหมือนมีเบาะคอยรอรับเราอยู่ เบาะนี้เบาะที่เราสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองกับมือนะไม่ใช่เบาะที่ครอบครัวสร้างขึ้นมาให้เรา ฟูกอันนี้เราสร้างขึ้นมากับมือเป็นระยะเวลาเป็นสิบกว่าปี เพื่อสร้างภูมิขึ้นมาว่าต่อให้เราทิ้งหลายๆ อย่างเพื่อตามฝันในวันนี้ แล้วกลับมาเราจะมีอะไรรองรับเรา”

เราแอบถามทัชว่าอย่างนั้นแสดงว่าเขาแอบคิดมาตลอดหรือเปล่าว่ามันจะต้องมีวันที่ออกเดินทางอย่างวันนี้ แต่ทัชกลับตอบว่าเขาไม่ได้คิดเลย เพียงมองหาว่าความสุขในการใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน แต่ไม่เคยวิ่งตามเงิน และเขาเองก็รู้ว่าหลายๆ คนอาจมีข้อจำกัดและไม่พร้อมลุกขึ้นมาอย่างที่เขาทำ แต่ทัชเสริมว่าการที่เขาขยันตัดวิดีโอทุกวัน แบ่งปันรายละเอียดทุกอย่างให้ชัดเจนที่สุดอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นไปได้ แล้วก็เป็นไปได้อย่างสวยงามด้วย

“ตอนนี้ทัชเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในหนังชีวิตของตัวเองอยู่ ซึ่งเราสร้างมันขึ้นมาเอง ไม่ต้องรอให้ใครสร้างหนังขึ้นมาให้เราหรอก สร้างขึ้นมาเองนี่แหละ เที่ยวเอง ทําเอง ตัดเอง โชว์เอง เป็นพระเอกหนังของชีวิตตัวเองที่สวยงาม แล้วก็พอมันสวย พอตัวเองมีความสุข มีความสุขกับตัวเองปุ๊บ คนรู้สึกได้ว่าคนมันสัมผัสสิ่งนั้นได้ คนมันก็มีความสุขไปกับเรา มันก็เลยวนกลับไปตอบโควทที่หนังเรื่อง Into the Wild (2007) ให้เราได้ว่า Happiness Is Only Real When Shared”

และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของความสุขที่ทัชแชร์ให้เราเช่นกัน

ตอนที่เราลงบทความสัมภาษณ์นี้ ทัชน่าจะกำลังเดินทางจากไทยไปเม็กซิโกแบบไม่ใช้เครื่องบินเข้าวันที่ 180 กว่าๆ และไม่ว่าเขาจะอยู่บนส่วนไหนของแผนที่โลก เราเชื่อว่าหมุดหมายของเขาจะยังคงเดิม

ติดตามการเดินทางของทัชต่อได้ที่:

https://www.tiktok.com/@touchunlessyoutry 

https://www.instagram.com/touchhhh/