เมื่อกบใกล้สูญพันธุ์ เราจะตายเพราะยุงกันมากขึ้น จินตนาการกันออกไหม ถ้าโลกนี้ไม่มี ‘กบ’ มันจะเป็นอย่างไร

2 Min
845 Views
10 Oct 2022

ที่ต้องถามแบบนี้ก็เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่บรรดากบและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกำลังเผชิญพบกับวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อยู่นั่นเอง

โดยต้นตอการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กบมาจากเพชฌฆาตเงียบอย่างเชื้อราไคทริด (Chytridiomycosis) ที่ชื่อว่า Bd

ในบันทึกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ระบุว่าบรรพบุรุษของเชื้อราชนิดนี้เกิดขึ้นในประเทศเอเชีย อาศัยอยู่ในระบบนิเวศมาอย่างเงียบๆ มาตั้งแต่ก่อนยุคสมัยของมนุษย์ จนเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่เราเริ่มออกเดินทางท่องโลกกว้าง ติดต่อ ขนส่ง ซื้อขายของระหว่างประเทศ การเดินทางของเชื้อราจึงได้เริ่มต้นขึ้น พร้อมกับการคุกคามสิ่งมีชีวิตในถิ่นต่างๆ ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจากเชื้อรา

กระทั่งในช่วงทศวรรษ 1970 การตายแบบผิดปกติของกบก็ค่อยๆ บังเกิดให้เห็น ก่อนจะกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ 1980 และกว่าเราจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เวลาก็เดินทางมาถึงทศวรรษที่ 1990 – ระหว่างนั้นเชื้อราได้ฆ่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกไปเป็นจำนวนมาก

ผลการสำรวจที่มีมตั้งแต่ตอนเราทราบสาเหตุ ยืนยันว่ามีกบ 501 สายพันธุ์ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อรา Bd มี 90 สายพันธุ์ ได้สูญพันธุ์ไปเพราะโรคนี้ และมีอีก 124 สายพันธุ์ที่ถูกเชื้อราเล่นงานจนจำนวนประชากรเหลืออยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบัน

และสิ่งที่ตามมาก็คือโลก (บางส่วน) ที่ไม่มีกบ

ในบทความฉบับใหม่บนวารสาร Environmental Research Letters นักวิจัยสรุปว่าการหายไปของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทำให้อัตราการเกิดโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้นอย่างมากในอเมริกากลาง โดยพบผู้ป่วยโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากเชื้อราได้ทำให้กบสูญพันธุ์หรือมีจำนวนลดลง

ตัวอย่างการศึกษาในประเทศคอสตาริกาพบการป่วยด้วยโรคมาลาเรียครั้งแรกในทศวรรษที่ 1980 อันเป็นเวลาเดียวกับกบสีทอง ซึ่งเป็นสัตว์ท้องถิ่นเริ่มพบเห็นได้ยากขึ้น โดยนักวิจัยได้ทำแผนที่เปรียบเทียบจุดที่กบลดลงหรือหายไป ไล่มาตั้งแต่ปี 1976 จนถึงปี 2016 ก็พบว่ามันซ้อนทับกับจุดที่โรคอุบัติขึ้นอย่างพอดิบพอดี

ซึ่งในการระบาดของโรคมาลาเรียตามปกติ อัตราอุบัติการณ์มักจะอยู่ประมาณ 1.1-1.5 รายต่อพันคน แต่หลังจากการสูญเสียสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในอเมริกากลาง ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 70-90 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่าเมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดยุงก็เพิ่มสูงตาม

หรือในประเทศปานามา ก็พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นหลังจากที่ประเทศได้สูญเสียสายพันธุ์กบไปหลายชนิด

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นรายงานฉบับแรกๆที่สามารถยืนยันได้ว่าการดำรงอยู่ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับสุขภาพของคน

และเมื่อไม่มีเขา เราเองก็จะลำบาก

อ้างอิง