ผู้พิทักษ์ป่า อาชีพที่ใช้ชีวิตเข้าเสี่ยงเพื่อดูแลพงไพร แต่ได้รับเงินเดือนเพียง 9,000 บาท มาตลอด 11 ปี

2 Min
655 Views
16 May 2023

‘ผู้พิทักษ์ป่า’ คือคนที่คอยทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากรผืนป่าและสัตว์ป่าให้กับประเทศ 

ขณะเดียวกันก็นับเป็นอาชีพหนึ่งที่มีโอกาสพบความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตค่อนข้างสูง แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ฐานเงินเดือนของ ‘ผู้พิทักษ์ป่า’ คงอยู่ที่ 9,000 บาท มาโดยตลอด

ภายใต้ฐานเงินเดือนที่ว่า ภารกิจหลักๆ ของผู้พิทักษ์ป่าที่เป็นผู้ปฏิบัติการ (ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราว) คือการเดินลาดตระเวนตรวจตราป้องปรามผู้กระทำความผิด เก็บข้อมูลสิ่งผิดปกติที่พบในผืนป่า โดยการออกลาดตระเวนนั้น จะต้องเดินทางเข้าป่าเดือนละ 4 ครั้ง ครั้งละ 3-4 คืน โดยใช้เจ้าหน้าที่ 8-10 คน เพื่อให้ภารกิจสำเร็จตามเป้าหมาย

ซึ่งการรอนแรมกลางพงไพรเป็นเวลาหลายวัน ก็นำมาซึ่งโอกาสพบความเสี่ยงต่างๆ มากมาย ทั้งการปะทะกับพรานที่เข้ามาล่าสัตว์ตัดไม้ ถูกสัตว์ป่าทำร้าย อุบัติเหตุจากการลาดตระเวน ลื่นหกล้ม พลัดตกเขา ภัยพิบัติน้ำป่า กับดักล่าสัตว์ที่นายพรานตั้งไว้ และยังเสี่ยงกับโรคภัย เช่น ไข้มาลาเรีย 

รวมถึงบางครั้งอาจถูกข่มขู่หรือไม่ก็ยังเสี่ยงต่อการถูกผู้เสียผลประโยชน์ คนมีอิทธิพลทำร้ายทั้งในและนอกเวลาทำงาน

หรือในทางตรงข้าม ผู้พิทักษ์ป่ายังมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้าชมอุทยานแห่งชาติ ก็นับเป็นอีกงานหนึ่งที่ผู้พิทักษ์ป่าต้องทำ บางแห่งก็อาจสลับกับงานลาดตระเวน บางแห่งก็อาจแบ่งสัดส่วนหน้าที่กันไปเลย 

ซึ่งหากย้อนกลับไปถึงสาเหตุที่เงินเดือนผู้พิทักษ์ป่าในประเทศไทยไม่สูงนัก ก็คงต้องว่ากันที่งบประมาณงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับงบกระทรวงอื่นๆ 

ขณะเดียวกัน ในภาพรวมของงบประมาณดูแลรักษาป่าที่ได้ ยังต้องนำไปใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เช่น งานซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ ไล่มาตั้งแต่สิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ไปจนถึงบ้านพักของเจ้าหน้าที่ตามหน่วยพิทักษ์ป่าจุดต่างๆ ที่ตั้งอยู่กลางไพรลึก และภารกิจของแต่ละหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อีกจิปาถะ ฯลฯ

ที่ผ่านมา เคยมีการจัดสรรเงินรายได้ค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติมาใช้จ่ายทดแทนอยู่บ้าง แต่ในช่วงโรคระบาดเงินส่วนนี้ก็หดหายไป 

มากไปกว่านั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังพบด้วยว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการว่าจ้างผู้พิทักษ์ป่า ยังถูกปรับลดต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563-2565 เป็นเหตุให้พื้นที่อนุรักษ์บางแห่งต้องเลิกจ้างเจ้าหน้าที่ หรือไม่ก็ต้องขอปรับลดเงินเดือน เฉลี่ยรายจ่ายให้สามารถจ้างเจ้าหน้าที่ได้ทั้งหมด เพื่อจะได้ไม่ต้องเลิกจ้างใครออกไป

เมื่องบประมาณไม่พอ (ถูกลด) และจำเป็นต้องปรับลดงบบางส่วนลง (ไม่ว่าจะคน หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น) ย่อมนำมาซึ่งประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง 

แต่สิ่งที่เสียหายมากๆ ก็คือขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ที่ลดน้อยถอยลง และอาจถึงขั้นถอดใจไปเลยก็มี

ยังไม่นับถึงข่าวการทุจริต ก็กระทบต่อการทำงานและงบประมาณของเจ้าหน้าที่ได้เช่นกัน 

ที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาคเอกชน เอ็นจีโอ เรียกร้องถึงการปรับค่าตอบแทน ขอเพิ่มสวัสดิภาพสวัสดิการแก่ผู้พิทักษ์ป่าหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่มีผลตอบรับสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนของบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัดไปถึงหน่วยงานกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับภารกิจ จำนวนบุคลากร หรือนำไปสู่การเพิ่มค่าตอบแทนในจำนวนที่เหมาะสม 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อขอปรับค่าตอบแทนเงินเดือนตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า จาก 9,000 บาท มาเป็น 11,000 บาท ให้กับผู้พิทักษ์ป่า จำนวน 13,419 อัตรา ด้วยเหตุผล “ไม่ได้ปรับค่าตอบแทนมาเป็นเวลานาน” และ “เงินเดือนไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป” และขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป 

อ้างอิง

  • ขอขึ้นเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่าจาก 9,000 เป็น 11,000 บาท https://shorturl.asia/Zn8tX