ภาษาเป็นสิ่งพื้นฐานของมนุษย์ และก็ยังเป็นสิ่งที่มีมิติให้ศึกษามากมาย ซึ่งมิติหนึ่งของภาษาก็คือ ‘สำเนียงการพูด’ โดยการใช้ภาษาในหลายๆ ถิ่นก็ไม่ได้แตกต่างเฉพาะรายละเอียดของศัพท์แสง แต่รวมถึงสำเนียงการพูดของผู้ใช้ภาษาแต่ละคนซึ่ง ‘แตกต่างกัน’ และสำเนียงเหล่านี้ก็มักจะทำให้เราระบุได้ว่าคนคนนั้น ‘มาจากที่ไหน’ แม้ว่าจะพูดภาษาเดียวกันก็ตาม
คนมักจะมองว่า ‘สำเนียง’ เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ หรือเปลี่ยนได้ยาก แต่ในความเป็นจริง คนจำนวนมากมีการเปลี่ยนสำเนียงการใช้ภาษาหนึ่งๆ ในชีวิต และบางคนมีการเปลี่ยนหลายรอบด้วยซ้ำ
คำถามคือทำไม? คำตอบอาจต้องเริ่มจากว่าเราได้ ‘สำเนียง’ มาจากไหนแต่แรก
โดยทั่วไป มนุษย์จะได้สำเนียงภาษามาจากกลุ่มคนที่เลี้ยงดูเรา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนที่เลี้ยงดู พี่เลี้ยง หรือโรงเรียนอนุบาล ซึ่งทั่วๆ ไปเด็กจะมีการเรียนรู้ได้เร็ว ก็เลยมักจะมีคนบอกว่าถ้าอยากให้ลูกรู้หลายภาษา ให้หัดตั้งแต่เล็กๆ เลย และถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร สำเนียงพวกนี้ก็จะอยู่กับเราไปตลอด
ทีนี้ทำไมบางคนสำเนียงถึงเปลี่ยน? อย่างแรกเลยคือ ‘ปัญหาทางกายภาพ’ เช่น เกิดการกระทบกระเทือนทางสมอง อาจทำให้คนสำเนียงเปลี่ยนไปชั่วข้ามคืน ซึ่งอะไรพวกนี้ปกติเขาจะเรียกว่า Foreign accent syndrome และมีบันทึกทางการแพทย์เอาไว้มากมายว่านี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงๆ
แต่ส่วนใหญ่การเปลี่ยนสำเนียงไม่ได้เกิดเพราะเหตุผลนี้ แต่มาจากเหตุผลอื่นมากกว่า เพราะที่จริง ‘สำเนียง’ ของคนเราสามารถ ‘ฝึก’ ได้ ถ้าเราได้ยินบ่อยๆ พูดบ่อยๆ ก็มีแนวโน้มจะใช้สำเนียงอื่นๆ ได้ และบางคนที่หัวไวๆ ก็สามารถเลียนแบบสำเนียงของคนหลายๆ ชาติได้แบบคล่องแคล่วเลย ดังนั้นมันจึงเป็นศักยภาพของมนุษย์อยู่แล้วที่จะเปลี่ยนได้ แต่จะใช้ความพยายามแค่ไหนก็แล้วแต่คน ประเด็นคือมันทำได้แน่นอน ไม่ใช่ทักษะเหนือมนุษย์อะไร
ส่วนเหตุผลว่าทำไมคนถึงเปลี่ยนสำเนียง อาจแบ่งคร่าวๆ ได้ 2 ด้าน คือ เชิงลบกับเชิงบวก
เหตุผลเชิงลบ คือ สำเนียงดั้งเดิมของตัวเองอาจเป็นเหตุให้ถูกล้อเลียน เช่น ในหลายๆ ชาติจะมีแนวคิดเชิงเหยียดเรื่องชนชั้นซึ่งยึดโยงกับสำเนียงภาษาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกว่า ‘สำเนียงชนชั้นแรงงาน’ ‘สำเนียงคนบ้านนอก’ ซึ่งถ้าคนไม่อยากถูกล้อซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เขาก็อาจจะเปลี่ยนสำเนียงเป็น ‘สำเนียงมาตรฐาน’ ของพวกชนชั้นกลางในเมือง หรือไม่ก็ภาษาที่ถูกกำหนดให้เป็นภาษาสื่อสารของทางราชการ เพื่อให้ไม่โดนล้อ
แต่เหตุผลเชิงบวกก็มี เพราะหลายๆ คนที่พยายามปรับตัวกับชุมชนใหม่จน ‘อิน’ ก็อาจเปลี่ยนไปใช้สำเนียงตามชุมชนนั้นเลยด้วยความชอบ ไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติไปอยู่อังกฤษแล้วเปลี่ยนไปใช้สำเนียงอังกฤษซึ่งถูกเรียกว่า British English เพื่อความเท่ หรือคนขาวที่อินกับวัฒนธรรมคนดำแล้วเปลี่ยนสำเนียงภาษาจนกลายเป็นแบบคนดำ หรือกระทั่ง ‘ฝรั่ง’ ที่มาอยู่เมืองไทยแล้วอินกับวัฒนธรรมไทยจนฝึกสำเนียงพูดให้เป็นแบบคนไทยได้ชัดแจ๋ว
เรื่องเหล่านี้เกิดได้จากการ ‘ฝึก’ และการฝึกให้พูดภาษาหนึ่งในระดับสื่อสารได้ กับการฝึกให้พูดได้ชัด ‘เป็นคนละเรื่องกัน’ คนที่ฝึกภาษาแค่ใช้งาน ปกติคือจะฝึกระดับแค่สื่อสารได้ และส่วนใหญ่อาจติดสำเนียงที่เป็นภาษาแม่ของตัวเองไปผสมผสานกับภาษาต่างชาติ ทว่าคนที่อินกับภาษาและวัฒนธรรมจะฝึกพูดไม่ใช่แค่ให้สื่อสารได้ แต่จะฝึกฝนในระดับให้พูดชัดแบบคนท้องถิ่นในภาษานั้นๆ และปกติความ ‘ชัด’ ที่ว่าก็มักจะมากับการเปลี่ยนสำเนียงไปด้วย
และถ้าระดับคนที่ไม่เคยพูดภาษาหนึ่งได้เลยนั้นยังสามารถฝึกตนพูดภาษานั้นได้ชัดในแบบสำเนียงคนท้องถิ่นได้ เราก็คงไม่ต้องพูดถึงความเป็นไปได้ว่าคนที่พูดภาษาหนึ่งได้อยู่แล้วจะสามารถเปลี่ยนสำเนียงไปเป็นแบบอื่นๆ ได้หรือไม่
อ้างอิง
- El Pais. Why some people lose their accents but others don’t – linguistic expert. https://bit.ly/44Lgf9E