รู้หรือไม่ ทุกปีเราทิ้งอาหารถึง 923 ล้านตัน ต้องใช้รถบรรทุก 23 ล้านคัน ถึงจะเก็บขยะอาหารไปทิ้งได้ทั้งหมด
เคยไหม? สั่งอาหารมาแล้วแต่ทานไม่หมด
บางคนอาจเก็บเอาไว้ทานในมื้อต่อไป แต่บางคนก็อาจทิ้งมันไปในทันที
หากคุณเป็นคนที่กินอาหารไม่หมด และต้องทิ้งอาหาร นั่นหมายความว่าคุณกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “ขยะ” ให้กับโลกใบนี้ และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

อาหารที่กลายเป็นขยะ | วิถีชีวิตเกษตรพอเพียง
ข้อมูลล่าสุดของ “โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ” ว่าด้วยเรื่องการทิ้งข้าวปลาอาหาร ระบุว่า ในหนึ่งปีประชากรทั่วโลกทิ้งสิ่งที่เรียกว่าอาหารรวมกันมากถึง 923 ล้านตัน
จำนวน 923 ล้านตันมากแค่ไหน? ถ้าจะเก็บอาหารจำนวนเท่านี้ต้องใช้รถบรรทุกที่มีความจุคันละ 40 ตัน มากถึง 23 ล้านคัน เพื่อจัดเก็บขยะจากอาหารไปทั้งหมด
ขยะที่ว่านี้ ส่วนใหญ่เป็นอาหาร (ที่เกิดจากการทานเหลือ) ที่ถูกทิ้งตามบ้านเรือนมากถึง 60%
ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีอาหารที่ปรุงสำเร็จถูกทิ้งจากร้านขายอาหารไปอย่างเปล่าประโยชน์ถึง 17% จากการทำเกินปริมาณที่ขายได้ หรืออาหารที่เน่าเสียขายไม่ออกก่อนกำหนดวันหมดอายุนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่าสนใจว่า อาหารที่กลายเป็นขยะมากถึง 923 ล้านตันนี้ ไม่ได้เกิดมาจากกลุ่มคนรวยที่มีพฤติกรรมฟุ่มเฟือย ซื้ออาหารมากินทิ้งกินขว้างเพียงอย่างเดียว
แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนที่มีฐานะยากจน ในประเทศที่กำลังพัฒนาและยากจนรวมอยู่ด้วย
แต่ปัจจัยการสร้างขยะอาหารของสองกลุ่มนี้จะต่างกันตรงที่ว่า ในกลุ่มคนยากจนนั้น การทิ้งอาหารจะเกิดขึ้นเพราะเรื่องเทคโนโลยีการถนอมอาหารที่อาจไม่ได้มีตู้เย็นกันทุกบ้าน ความทุรกันดาร การขนส่งที่ล่าช้าทำให้อาหาร “เสีย” ก่อนถึงผู้บริโภค จนต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
ตามรายงานแจกแจงว่ามี “ขยะอาหาร” ที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ อีกทั้งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการศึกษาเรื่องขยะอาหารในกลุ่มประเทศหรือประชากรที่มีฐานะยากจนมากนัก จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน
นอกจากนี้ การทิ้งอาหารไปอย่างเปล่าประโยชน์ ยังถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 8-10% ที่มาจากภาคการผลิต การขนส่ง ตลอดจนการกำจัดขยะ
อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติยังระบุอีกว่า ในปี 2020 ปริมาณขยะจากอาหารได้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2019 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ ตลอดจนภาวะทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนทั่วโลกต้องเซฟตัวเอง และวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม
แต่กระนั้น ตามแนวโน้มเชิงสถิติบ่งชี้ว่าถ้ามีการคลายล็อกดาวน์เมื่อไร ปริมาณขยะจากอาหารก็จะกลับมามากเหมือนเดิม
ซึ่งในแนวทางแก้ไขนั้น สหประชาชาติชวนให้ภาคประชาชนตัดสินใจเลือกจับจ่ายซื้ออาหารและคำนวณปริมาณให้พอเหมาะกับครอบครัว เพราะนอกจากจะไม่เป็นการสร้างขยะแล้วยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าไปในตัว
นอกจากนี้ ยังชวนให้ประชาชนรู้จักวางแผนการซื้ออาหารด้วยการอ่านฉลากวันหมดอายุก่อนซื้อ ก็จะช่วยลดปริมาณขยะได้อีกพอสมควร
ข้าวปลาอาหาร ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิต ในขณะที่เรากำลังกวาดอาหารที่ทานไม่หมดลงถังขยะ บนโลกใบนี้ยังมีมนุษย์อีกราว 690 ล้านคน ที่ตกอยู่ในสภาวะอดอยาก และไม่รู้ว่าจะมีอาหารมาประทังชีวิตในทุกๆ วันได้หรือไม่
อ้างอิง:
- UN. Wasting food just feeds climate change, new UN environment report warns http://bit.ly/3uOlrYq
- BBC. Food waste: Amount thrown away totals 900 million tonnes. http://bbc.in/3bUHPXm