ในโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อัตราการเกิดลดลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันคนแก่ก็เยอะขึ้น หลายคนก็มักจะโฟกัสไปยังธุรกิจที่เน้นขายคนแก่ แต่อีกแนวโน้มที่ใหญ่และคนสังเกตเห็นบ่อยขึ้นคือ จำนวนสัตว์เลี้ยงที่มากขึ้นเรื่อยๆ
หลายคนอาจไม่รู้ แต่ถ้าอ้างอิงการประเมินจากงานวิจัยในวารสาร Frontier in Veterinary Science เมื่อปลายปี 2021 และข้อมูลทะเบียนราษฎรของไทยในปีเดียวกัน เราก็จะพบว่า ตอนนี้ในไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีและหมาในจำนวนเท่าๆ กันแล้ว (12.8 ล้าน) แถมจำนวนหมาก็ขยายตัวเร็วกว่าเด็กอีก
นี่ไม่ใช่อะไรใหม่ เพราะสังคมผู้สูงอายุที่อื่นๆ ก็มีปรากฏการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้น จำนวนสัตว์เลี้ยงขยายตัวรัวๆ ไม่ว่าจะเป็นหมาหรือแมว เหตุผลเขาว่ากันว่าคนแก่ก็ชอบเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา และคนรุ่นใหม่ๆ ทั้งที่โสดและไม่โสดก็เริ่มเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนการมีลูกแล้ว
หลายคนคงจะเห็นว่านี่เป็นโอกาสทางธุรกิจอย่างมากมายมหาศาล เพราะจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นหมายความว่า ตลาดของสินค้าและบริการสัตว์เลี้ยงจะใหญ่ขึ้นตามไปด้วย
เมื่อพูดถึงสินค้าสัตว์เลี้ยง สิ่งที่คนจะนึกออกอย่างแรกๆ คืออาหารสัตว์เลี้ยง แต่ประเด็นก็คือมันเป็นสิ่งที่คนเข้าไปแข่งขันในตลาดยากที่สุด เพราะมันมี ‘เจ้าตลาด’ ครองอยู่ และไม่ใช่เจ้าระดับประเทศด้วย แต่เป็นเจ้าตลาดในระดับโลก
จริงๆ แล้วแต่ละที่ในโลก ถ้าเราไปดูอาหารสัตว์เลี้ยง เราก็จะเห็นยี่ห้อซ้ำๆ และความซ้ำระดับนี้เราก็จะไม่เห็นในอาหารของมนุษย์แน่ๆ เพราะคนแต่ละวัฒนธรรมก็กินต่างกัน ในขณะที่คนมีอาหารการกินต่างกัน แต่หมาแมวกลับมีอาหารการกินคล้ายๆ กันทั้งโลก
ที่โหดกว่านั้นคือ จริงๆ แบรนด์ที่เราเห็นหลายแบรนด์มาจากไม่กี่บริษัท ซึ่งในโลกนี้ มีแค่ 2 บริษัทเท่านั้นที่มีรายได้ระดับหมื่นล้านดอลลาร์จากการขายอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลก และ 2 บริษัทที่ว่าคือ ‘Mars Petcare’ กับ ‘Nestle Purina’ โดย 2 บริษัทนี้ก็น่าจะมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งโลก
ชื่อทั้งสองบริษัทมันก็บอกชัดว่าเป็นบริษัทลูกของอะไร Mars Petcare ก็คือบริษัทลูกของ Mars ที่ทำช็อกโกแลตแท่ง ส่วน Nestle Purina ก็คือบริษัทลูกของ Nestle ที่ทำนมตราหมีนี่แหละ บริษัททั้งสองนี้จริงๆ ก็มีแบรนด์อยู่ในมือมากกว่าที่อยู่ในชื่อบริษัทเยอะ แบบที่ถ้าเราดูลิสต์แล้วก็จะช็อกเลย
แต่ในกรณีของอาหารสัตว์ หลายคนคงจะตกใจถ้ารู้ว่า ไม่ว่าจะเป็น Pedigree, Whiskas, Royal Canin ก็ล้วนเป็นแบรนด์ในมือของ Mars Petcare ทั้งหมด จะเห็นเลยว่ามันกวาดหมดตั้งแต่แบรนด์ราคาถูกยันแบรนด์พรีเมียม สมศักดิ์ศรีบริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 1 ของโลก (ซึ่งอีกด้าน บริษัทสัตว์เลี้ยงอันดับ 2 อย่าง Nestle Purina ก็มีแบรนด์ในมือที่คนไทยน่าจะคุ้นชื่ออย่าง Alpo, Friskies และ Purina One)
ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เป็นแค่บางตัวอย่างเท่านั้น เพราะบริษัทเหล่านี้ยังมีแบรนด์รองๆ อีกเป็นสิบในมือ ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ
การที่สองบริษัทนี้เป็นเจ้าตลาดในระดับโลกมันทำให้แม้แต่พวกยักษ์ใหญ่ด้านอาหารในท้องถิ่นก็ยังแทรกตัวเข้ามาในตลาดได้อย่างยากลำบาก ซึ่งการมี ‘เจ้าตลาด’ เป็นบริษัทอาหารข้ามชาติที่ทรงพลังถึง 2 บริษัทนี้เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมทั้งที่ตลาดอาหารสัตว์ขยายตัวตามจำนวนสัตว์เลี้ยงในโลก แต่คนก็ไม่ค่อยกระโดดเข้าไป ‘เล่น’ เพราะการไปงัดกับบริษัทข้ามชาติระดับนั้น ขนาดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศก็ยังต้องคิดดีๆ
และนี่จึงทำให้บริษัทเจ้าใหม่ๆ ที่กระโดดเข้าไปในตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง มักจะไปเล่นตลาดพวก ‘พรีเมียม’ กันหมด เพราะมันแทบไม่มีทางสู้กับพวกยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้เลยในไลน์สินค้าปกติ จึงต้องไปเน้นอาหารสัตว์พรีเมียมที่ตอบโจทย์ของเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีความต้องการเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงตัวเอง ซึ่งนั่นก็อาจคล้ายๆ การขายของแบรนด์เนมให้คนมีเงินที่ต้องการความแตกต่าง เพียงแต่ความแตกต่างนี้มันมาในรูปแบบของอาหารสัตว์เลี้ยง
อ้างอิง
- Vox. Why pet food is so doggone expensive. https://www.vox.com/230…/pet-dog-cat-food-treats-expensive