‘สึนามิจากฟ้า’ เหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันจากภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้นในวันไร้ฝน

2 Min
649 Views
30 May 2022

นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2022 เป็นต้นมา ปากีสถานเป็นอีกประเทศที่เผชิญคลื่นความร้อนอย่างรุนแรง อุณหภูมิบางวันร้อนแตะ 51 องศาเซลเซียส ด้วยสภาพที่ร้อนจัดก็ทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันซัดสะพานข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่งจนพังเสียหาย

เหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีต้นตอจากธารน้ำแข็งชิสเปอร์ บนหุบเขาฮันซา ทนร้อนไม่ไหว ละลายและไหลล้นทะลักลงมาอย่างรวดเร็ว

นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสะพานฮัสซานาบาด แคว้นฮันซา น้ำจำนวนมหาศาลยังท่วมบ้านเรือนผู้คน ที่ดินทำกิน และแหล่งส่งน้ำประปา โชคดีว่าไม่มีใครเสียชีวิตจากเหตุไม่คาดฝันดังกล่าว

tsunami l Tourist Police Gilgit-Baltistan

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีคำเรียกรวมๆ ว่าเป็นสึนามิจากฟ้าหรือก็คือ การที่น้ำจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูงละลายมากผิดปกติจนล้นทะลักเข้าท่วมเมือง และแน่นอนว่าการละลายของธารน้ำแข็งที่ผิดปกติจะเกิดจากสาเหตุใดไม่ได้ นอกจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและผลสะเทือนวิกฤตโลกรวน

ปากีสถานเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงเกิดสึนามิจากฟ้าค่อนข้างสูง เพราะมีธารน้ำแข็งอยู่หลายแห่ง เหตุการณ์สามารถซ้ำรอยได้ทุกเวลา และเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ใต้เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาฮินดูกูช และคาราโครัม เช่น เนปาล และภูฏาน

เดิมทีเคยมีการประเมินว่าภูฏานเป็นประเทศที่เสี่ยงเกิดเหตุการณ์นี้มากที่สุด เนื่องจากทะเลสาบบนภูเขาหลายแห่งเริ่มทำท่าจะปริ่มล้นแล้ว แต่ก็กลับเป็นปากีสถานที่โดนก่อน

ข้อมูลเชิงสถิติในภูมิภาคนี้ พบว่าก่อนปี 2000 ธารน้ำแข็งจะละลายเพียง 4,300 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันละลายเร็วเพิ่มเป็น 2 เท่า เฉลี่ยปีละ 8,300 ล้านตันต่อปี และจากที่ละลายเฉพาะฤดูร้อนตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นละลายตลอดทั้งปี

อีกกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงคือฟากแอฟริกา เช่น เคนยา ยูกันดา แทนซาเนีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของเทือกเขาเคนยา ทิวเขารูเวนโซรี และคิลิมันจาโร ก็อยู่ใกล้จุดวิกฤตเต็มที

ตามข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงภายในปี 2030 หากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ของเราไม่ลดลงเสียแต่ตอนนี้

ธารน้ำแข็ง Godwin-Austen หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของปากีสถานอาจหายไปในอนาคต l Parakorum Expedition

การรับมือสึนามิจากฟ้าเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เพราะปัจจุบันเราไม่สามารถไปเฝ้าวัดระดับน้ำที่สะสมอยู่ตามทะเลสาบ หุบ แอ่ง ต่างๆ ได้ครบ เหมือนกับการเฝ้าระวังน้ำท่วมจากแม่น้ำ ด้วยสภาพพื้นที่ไม่อำนวยต่อการตั้งสถานีวัดได้ครบ ตลอดจนสภาพอากาศที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย การแจ้งเตือนภัยจึงยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่นัก

และในทุกวันที่อากาศร้อนขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น ทะเลสาบบนเทือกเขาก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นด้วย บางแห่งที่อยู่ลับตาเดินทางยาก ทำได้แต่ประเมินความเสี่ยงจากภาพถ่ายทางอากาศเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น บนเทือกเขาหิมาลัยในอดีตมีทะเลสาบอยู่บนนั้นเพียง 3,300 แห่ง แต่หลังจากปี 1990 จำนวนทะเลสาบก็เพิ่มมาเป็น 4,200 แห่งในปัจจุบัน

นอกจากความเสี่ยงจะโดนสึนามิจากฟ้าแล้ว อีกกรณีที่น่ากลัว คือการแตกหักของธารน้ำแข็งที่สามารถถล่มร่วงลงมาพังใส่แอ่งทะเลสาบ ในกรณีนี้ก็จะยิ่งทำให้น้ำไหลลงมาด้วยความเร็วและแรงมากยิ่งขึ้น

และในบทสุดท้ายของเรื่อง เมื่อแหล่งน้ำบนเขาทลายไหลลงมาข้างล่างหมดแล้ว น้ำใช้สอยที่เราเคยรับเอามาจากจุดนั้นจะหายไป อนาคตจึงหมายถึงความแห้งแล้งที่รอเราอยู่ 

อ้างอิง