1 Min

‘บ้านลอยน้ำ’ นวัตกรรมของเดนมาร์ก ใช้พลาสติกเสริมแรงจาก ‘วัสดุรีไซเคิล’ อยู่ได้จริง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

1 Min
806 Views
24 Oct 2022

น้ำท่วมถือเป็นภัยธรรมชาติที่หลายภูมิภาคทั่วโลกต้องเผชิญ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อีกทั้งยังเป็นปัญหาสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมบ้านเราที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกๆ ปี

เราจึงขอชวนทุกคนมาส่องไอเดียบ้านลอยน้ำรูปแบบใหม่ของ ‘MAST’ บริษัทสถาปัตยกรรมทางทะเลแห่งประเทศเดนมาร์ก ที่ไม่ใช่แค่สามารถอาศัยอยู่ได้จริง แต่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

บ้านลอยน้ำที่ว่านี้เกิดขึ้นจากการพัฒนาแนวคิดการออกแบบด้วยระบบ Land on Water อันมีจุดมุ่งหมายในการสร้างชุมชนในอนาคตให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

ซึ่งออกแบบโดยการนำพลาสติกเสริมแรงจากวัสดุรีไซเคิลรูปทรงแบนแบบแยกส่วน มาเชื่อมต่อกัน จนกลายเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ทำให้สามารถลอยน้ำได้ดี เหมือนกับการใช้กรงเกเบี้ยน (กรงลวดตาข่าย) ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ทั้งนี้ Land on Water ใช้วัสดุรีไซเคิลที่หาได้จากท้องถิ่น อาทิ ทุ่นรีไซเคิลจากอุตสาหกรรมประมง หรือขวด และภาชนะพลาสติกเก่า ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในเรื่องของความยืดหยุ่น เพราะสามารถปรับ หรือเพิ่มวัสดุให้ลอยตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างง่ายดาย และเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะคาดว่าโพรงตรงทุ่นภายในจะกระตุ้นการเติบโตของหอย สาหร่าย รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง

โครงสร้างทั้งหมดสามารถแยกส่วน เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้ายไปที่ไหนก็ได้ แม้กระทั่งสามารถประกอบเป็นแบบต่างๆ เพื่อให้เหมาะกับประเภทของบ้าน และตรงวัตถุประสงค์ในการใช้งานด้วย

มาร์แชล เบลเชอร์ (Marshall Blecher) ผู้ก่อตั้ง MAST กล่าวว่า เราได้พัฒนาแนวคิดใหม่สำหรับการก่อสร้างเกือบทุกอย่างบนผิวน้ำ เราคิดว่าในอนาคตจะเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในน้ำอย่างยั่งยืนได้

โดยการสร้างต้นแบบบ้านลอยน้ำดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจาก ฮูเบิร์ต โรห์มเบิร์ก (Hubert Rhomberg) เจ้าของบริษัทอุตสาหกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ ร่วมทุนกับสตูดิโอ Fragile

ทั้งนี้ บ้านลอยน้ำไอเดียสุดเจ๋งจาก MAST เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเหล่าบรรดาเจ้าของบ้านเพราะสามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่ใช้สอยในรูปแบบอื่นๆเช่นสวนสาธาณะคาเฟ่สระว่ายน้ำได้อีกด้วย

อ้างอิง